สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อทั้ง 2 ประเทศเตรียมขึ้นภาษีระหว่างกันทำให้ความเสี่ยงการค้าโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทั้งราคาทองและค่าเงินบาท
สหรัฐ-จีนประกาศขึ้นภาษีดัน ราคาทองคำแตะบาทละ 22,650 บาท
หลังจากทางการจีน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐราว 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทาง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าอาจจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยทั้ง 2 ประเทศขู่จะบังคับใช้อัตราการเก็บภาษีใหม่ภายในปีนี้ส่งผลให้ทั่วโลกกังวลว่าเศรษฐกิจการค้าจะชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ (26 ส.ค. 2019) ราคาทองคำรูปพรรณขายออกอยู่ที่บาทละ 22,650 บาทปรับเพิ่มขึ้นจากวันที่ 24 ส.ค. อยู่ที่บาทละ 22,550 บาท
ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำทะลุ 22,000 บาทและต้องจับตามองต่อเนื่อง ได้แก่ 1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหรือไม่ 2. Trade war ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และ 3.สถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หากยึงทวีความตึงเครียดจะทำให้ราคาทองคำโลกยังเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อราคาทองทำ All Time High อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดแรงขายทองคำได้ในระยะนี้ แต่หากราคาทองคำอ่อนตัว ข้อมูลจากทางสมาคมค้าทองคำแนะนำให้เข้าซื้อเพิ่ม และขายเพื่อทำกำไรในระยะสั้น
หาก Trade War ไปต่อ กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้อาจแข็งค่าแตะ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้ (26-30 ส.ค.) ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.85 ต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงสัปดาห์ก่อน (19-23 ส.ค.) ที่ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 30.73 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,000 ล้านบาทและขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 27,000 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปี
ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังมาจากสาเหตุหลักคือ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดย Trade War ขยายตัวขึ้นจากจีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยจะเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ วงเงิน 75,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่ Trump ประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีอีก 5% เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย. นี้สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนและเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจสหรัฐฯย้ายออกจากจีน
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย เห็นได้จากภาวะ Inversion คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีขึ้นมาอยู่เหนืออัตราผลตอบแทนประเภท 10 ปี (ปกติผลตอบแทนระยะยาวจะสูงกว่าระยะสั้น)
ดังนั้นหลังจากนี้คาดว่า เงินดอลลาร์จะเจอกับแรงขายเพราะสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นและจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้าโลก อาจทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยในประเทศไทยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกลดลง 1.91% การนำเข้าหดตัว 1.81% ซึ่งเมื่อความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปีนี้
ธปท. ชี้เศรษฐกิจ-ตลาดการเงิน-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูง ผู้ประกอบการต้องป้องกันความเสี่ยง
จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเปราะบางมากขึ้น เมื่อไทยเป็นประเทศเล็กที่มีเศรษฐกิจเปิดจึงได้รับกระทบจนการส่งออกไทย 6 เดือนนี้ลดลง แต่ถือว่าลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้นเมื่อตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน มีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนไหวต่อข่าวสารที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา