ประเมินสถานการณ์ค้าปลีกไทย 2562 “ซึม-ทรง-เสี่ยง” จากหลายปัจจัยไม่แน่นอน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมค้าปลีกปี 2562 ยังน่าเป็นห่วง มีทั้งซึม ทรง และเสี่ยง วอนรัฐหนุนภาคค้าปลีกจริงจัง ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยประเมินภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกของปี 62 กำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นไปในทางเติบโต แต่ต่ำกว่าที่ควรเป็น

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2561 ที่ผ่านมา มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นในทุกหมวดสินค้า แต่อาจมีการชะลอตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ส่งผลให้ GDP  ทั้งประเทศตลอดปี 2561 เติบโตราว 4.0-4.2%  แต่ภาคค้าปลีกมีการเติบโตเพียง 3.1%

ทั้งนี้ภาคการค้าปลีกมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วน GDP ด้านการผลิต 16.1% เป็นอันดับ 2 รองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้การขยายตัวของภาคค้าปลีกค้าส่งนำการพัฒนาสู่จังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็น 16% ของการจ้างงานทั้งประเทศ

โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ภาคค้าปลีกมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก (Modern Chain Store) จากปี 2016-2018 อยู่ที่ประมาณ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมาก และสูงกว่าการก่อสร้าง BTS (123,300 ล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (76,000 ล้านบาท) อีกด้วย

ซึ่งการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก Modern Chain Store ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150,000 คน

Photo : Shutterstock

7 ตัวแปรเศรษฐกิจปี 2562 ที่ส่งผลต่อค้าปลีก

ยังคงเป็นเรื่องความไม่ชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัว และความไม่แน่นอนของการเมืองหลังการเลือกตั้ง

  1. ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2019 ทุกสถาบันต่างเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในแบบชะลอจากปี 2018 ปี 2019 ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

2. การเติบโตของภาคการส่งออก มีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกทางอ้อมจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นและการมีรายได้ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 2019 น่าจะมีทิศทางที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2018 แต่ก็ยังขาดความชัดเจน

3. การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการของ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ หากยังคงเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้ อาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีความมั่นใจ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการต่างๆ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะเงินที่หมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้าง จะหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การให้ Visa on Arrival รวมถึงมาตรการ Double Entry Visa อาจจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง แต่หากโครงสร้างภาษีนำเข้าและการดำเนินการของร้านค้าปลอดภาษีและอากรยังมีความบิดเบือน การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวร้านค้าในเมืองก็ยังคงไม่เกิดผลดีต่อการเติบโต

ภาพจาก Pixabay

5. สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มคนฐานรากกลุ่มใหญ่ของประเทศ จากการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์อาจไม่เพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดโลก แต่อาจมีเพียงข้าวที่ทำรายได้ได้ดีในระดับหนึ่ง

6. เสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตาม บรรยากาศโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนในปีต่อๆไป

โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปี 2019 กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางลงล่าง “ซึม” กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางขึ้นบน “ทรง” และทั้งภาคค้าปลักยังคงต้อง “เสี่ยง” กับความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน

การคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีแรก 2019

อุตสาหกรรมภาคค้าปลีกคงหวังไม่ได้กับ “มาตรการ อังเปาช่วยชาติ” ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านโดยมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณหมื่นล้านบาท

เมื่อรวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีเงินสะพัดเพียงประมาณ 60,000 ล้าน ซึ่งถือว่าอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรก คงจะไม่เห็นการเติบโตภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

การคาดการณ์สถานการณ์ครึ่งปีหลัง 2019

ในครึ่งปีหลัง หากภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในไตรมาสหนึ่ง ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลต่อการเติบโตแก่ภาคค้าปลีกในปลายไตรมาสที่สามต่อต้นไตรมาสที่สี่ แต่หากไม่เป็นตามระยะเวลาดังกล่าว ครึ่งปีหลังก็คงจะ ซึม ถึง ทรุด ในบางกลุ่มประเภทธุรกิจ Segment

โดยรวมดัชนีค้าปลีกปี 2019 อาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ ปี 2018 คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 0-3.1% แต่ซึ่งก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศ ที่คาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 3.5-4.0%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา