Toyota เผยภาพรวมยอดขายตลาดรถยนต์ในไทยปี 2565 โต 11.9% คาดปี 2566 แตะ 9 แสนคัน

Toyota ประเทศไทย รายงานภาพรวมยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศไทยปี 2565 ที่ 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.9% จากปี 2564 พร้อมคาดการณ์ภาพรวมยอดขายปี 2566 ที่ 9 แสนคัน เหตุโควิด-19 และปัญหาชิ้นส่วนคลี่คลาย

Toyota

ยอดขายรถยนต์ในไทยปี 2565 ยังเติบโต

Toyota รายงานว่า ปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะการฟื้นค่อยเป็นค่อยไป มีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้น รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่น ๆ เช่น ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ และปัจจัยอื่น ๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การขนส่ง ภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ และการจับจ่ายในประเทศไทย

ทั้งปัจจัยลบ และปัจจัยบวกข้างต้น ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดย Toyota ทำได้ 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5% มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 หรือ 34% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ผ่านรุ่นที่มียอดขายโดดเด่นคือ Veloz และ Yaris ATIV

2566 ปัจจัยลบเริ่มหายดันตลาดโต 6%

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 Toyota คาดว่า จะยังคงกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อม ๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด จากทิศทางที่ดีในการลดระดับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับการเปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อย ๆ คลี่คลายลงเช่นกัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่ภาวะปกติ และคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับปี 2565

ส่วน Toyota มีการตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 310,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.3% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4% ส่วนภาพรวมการส่งออก และผลิตรถยนต์ของ Toyota ในปี 2566 ตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 405,000 คัน เพิ่มขึ้น 7% และเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2566 อยู่ราว 723,000 คัน เพิ่มขึ้น 9.7%

กางแผนธุรกิจ Toyota ประเทศไทยปี 2566

Toyota วางแผนธุรกิจในปี 2566 ภายใต้เป้าหมาย “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) พร้อมสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi – Pathway” ส่งมอบความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสังคมไทย

ในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการสำหรับลูกค้า Toyota จะพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาด และการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to customer

รวมถึงผสานเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง (Connected) การบริการการขับเคลื่อนในรูปแบบของการแบ่งปันการใช้งาน (Sharing) เป็นต้น ทั้ง Toyota ยังแสวงหาแนวทางการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทย

สรุป

Toyota คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ผ่านการจำหน่าย และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปทำตลาดทั่วโลก ยิ่งตอนนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น ทำให้โอกาสที่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะกลับมาคึกคักในปี 2566 ก็มีสูง

อ้างอิง // Toyota

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา