แผนสนับสนุนรถไฟฟ้าใกล้คลอด โตโยต้า ก็เปิดแผนรถไฟฟ้ารุ่นแรก แหม่เวลามันช่างพอดีจริง ๆ

ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายคงติดตามผลการประชุม ครม. ทุกวันอังคาร เพื่อจะรู้ว่า นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้การพิจารณาน่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

โตโยต้า

แต่เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. โตโยต้า ประเทศไทย เปิดเผยแผนการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แม้ไม่ได้บอกว่าราคาเท่าไร ขายเมื่อใด แต่ก็มีชื่อรุ่นออกมาแล้วคือ bZ4X และจะถูกแนะนำให้รู้จักในปีนี้ (พ.ศ. 2565)

ถือเป็นการขยับตัวของพี่ใหญ่ที่น่าสนใจ เพราะเลือกช่วงเวลาที่ถูกต้อง ผ่านการกระตุ้นให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าชะลอการซื้อไปอีก หลังเกิดการชะลอซื้อมาก่อนในช่วงรัฐพิจารณานโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว

โตโยต้า กับการอุบแผนไว้จนนโยบายใกล้คลอด

นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และเริ่มมีหลายสำนักข่าวรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบายนี้ เช่น การลดภาษีสรรพสามิต, การลดภาษีเกี่ยวกับการผลิต รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ด้านการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ จากเดิมให้แค่ประเทศจีน เป็นต้น

แม้จริง ๆ แล้วนโยบายนี้ต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เพื่อบังคับใช้ต้นปี 2565 แต่สุดท้ายก็ล่าช้าจนไม่รู้ว่าจะสรุปผลได้ทันเดือน ม.ค. 2565 หรือไม่ และการยืดเยื้อนี้เองก็ประจวบเหมาะกับการเปิดแผนการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ โตโยต้า ประเทศไทย ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565

แผนของ โตโยต้า ประเทศไทย คือการแนะนำ bZ4X ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปี 2565 และจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต

ประจวบเหมาะจนสร้างปัญหาให้คู่แข่ง

การประกาศแผนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยพร้อมกับช่วงโค้งสุดท้ายของการพิจารณาแผน จะว่าไปก็ดูประจวบเหมาะราวกับเดาเวลาได้ถูกต้อง และปล่อยให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนที่พยายามทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่างมียอดจดทะเบียนที่ลดลง เพราะผู้ซื้อรอมาตรการสนับสนุน ไม่อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วมีราคาติดดอย

แม้ โตโยต้า ประเทศไทย ไม่ได้บอกว่า bZ4X จะวางขายในปีนี้เลยหรือไม่, นำเข้ามาจากญี่ปุ่น หรือผลิตที่ไทย และมีราคาเท่าไร แต่การประกาศเปิดตัวแบบนี้ก็เท่ากับจูงใจผู้ซื้อที่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มตัวเลือกให้กับพวกเขา ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ คนไทยยังเชื่อมั่นในแบรนด์ญี่ปุ่น มากกว่าแบรนด์จีนอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่เหมาะเจาะขนาดนี้ โตโยต้า ประเทศไทย อาจหารือกับภาครัฐเอาไว้ก่อน และถ้าย้อนไปช่วงนโยบายรถคันแรกระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 ที่ตอนนั้น โตโยต้า ประเทศไทย ยังไม่ได้เปิดตัว โตโยต้า วีออส แต่กลายเป็นว่า รถยนต์รุ่นดังกล่าวสามารถเข้าโครงการ และขายได้เป็นกอบเป็นกำ

ย้อนรอยวีรกรรม โตโยต้า วีออส ในรถคันแรก

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 โตโยต้า วีออส อยู่ระหว่างรอเปิดตัว ยังไม่มีการเผยโฉม หรือรูปร่างของรถยนต์แต่อย่างใด แต่สุดท้าย โตโยต้า ประเทศไทย สามารถดันให้รถยนต์รุ่นนี้เข้าร่วมโครงการรถคันแรกได้ และให้เซลล์ภายในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป รวมถึงโชว์รูมต่าง ๆ เปิดรับจองรถรุ่นนี้ทันที

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของโครงการรถคันแรก โดย โตโยต้า วีออส มีรายละเอียดเพียงราคา 5.59-7.34 แสนบาท ส่วนรูปโฉม หรือรายละเอียดต่าง ๆ ไม่มีการเปิดเผย เพราะรถยนต์รุ่นนี้จำหน่ายในหลายประเทศ และหากเปิดตัวในไทยก่อน อาจกระทบกับแผนการทำตลาดในประเทศอื่น

ในทางกลับกัน ผู้บริหารค่ายรถยนต์คู่แข่งต่างมองว่า เหตุการณ์นี้ต้องมีคำตอบว่าทำไมหน่วยงานรัฐถึงอนุญาตให้ โตโยต้า นำ วีออส เข้าโครงการรถคันแรก เพราะยังไม่มีการเผยโฉม และผลิตอย่างจริงจังในประเทศไทย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะภาครัฐอนุญาตไปแล้ว

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่แบรนด์เริ่มตื่นตัว

ในปี 2564 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ 1,943 คัน โดยมี เอ็มจี เป็นแบรนด์ที่มียอดจดทะเบียนมากที่สุดกว่าหนึ่งพันคัน แต่ยอดดังกล่าวค่อย ๆ ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งตรงกับเวลาที่มีข่าวเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

แต่ปี 2565 น่าจะเป็นปีที่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยสนุกกว่าเดิม เพราะฝั่งแบรนด์ตลาด นอกจาก โตโยต้า จะเปิดตัวรุ่นใหม่ เอ็มจี เองก็มีข่าวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เช่นกัน รวมถึงฝั่ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่น่าจะเดินหน้าแผนเปิดตัว 9 รุ่น ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 3 รุ่น โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 1 รุ่น คือ Ora Good Cat

ส่วนฝั่งรถหรู ล่าสุด เมอร์ซิเดส-เบนซ์ ได้เปิดตัวดีลเลอร์ขายรถยนต์ไฟฟ้า ถือว่าช้าที่สุดในกลุ่มแบรนด์หรูด้วยกัน เพราะ บีเอ็มดับบลิว, ออดี้ และวอลโว่ มีการขายรถยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ปี 2563 เมอร์ซิเดส-เบนซ์ จะนำ EQC รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์มาทำตลาด แต่สุดท้ายโครงการก็เป็นหมัน เพราะเจรจากับรัฐไทยไม่ลงตัว

สรุป

โตโยต้า เปิดแผน bZ4X ก็เขย่าตลาดพอสมควร แต่ก็น่าสนใจว่าเวลามันเหมาะเจาะเหลือเกิน เพราะนอกจากผู้ซื้อชะลอการซื้อรถไฟฟ้าเพราะอยากได้มาตรการสนับสนุนที่ใกล้คลอดเต็มที ผู้ซื้ออาจยังรอแบรนด์ โตโยต้า เบอร์ 1 รถยนต์โลก และประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างวางแผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกด้วย

อ้างอิง // Toyota, กรมการขนส่งทางบก

อ่านข่าวเกี่ยวกับ โตโยต้า และ รถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา