ชาวยูเครนนำถังไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell ของ Toyota Mirai ไปทำระเบิดแสวงเครื่องสู้รัสเซีย

หรือนี่จะเป็นประโยชน์ใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หลังชาวยูเครนนำถังไฮโดรเจนของ Mirai รถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell รุ่นเรือธงของ Toyota มาประดิษฐ์เป็นระเบิดแสวงเครื่องเพื่อต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียในสงครามที่ยังไม่จบลงง่าย ๆ

Toyota Mirai

ประโยชน์ใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell

แบตเตอรี่เกิดการเผาไหม้ หรือถังก๊าซไฮโดรเจนระเบิดคงไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า แต่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นข้อดีของชาวยูเครนเพื่อต่อสู้กับกองกำลังรัสเซีย หลังพวกเขาพัฒนาระเบิดแสวงเครื่องที่ใช้ถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนของรถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell รุ่น Mirai ของ Toyota เพื่อส่วนประกอบสำคัญ

สำนักข่าว The Drive รายงานว่า การกระทำดังกล่าวเรียกว่าเป็นการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนขนาดเล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะเมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก Euromaidan Press ระเบิดดังกล่าวนั้นถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2024 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียในพื้นที่ Vovchansk บริเวณตอนเหนือของยูเครน

เวลานั้นกองกำลังรัสเซียล้มเหลวในการบุกตอนใต้ของ Vovchansk พร้อมกับถอยไปรวมพลอยู่ที่โรงงานนอกเมือง ซึ่งตรงนั้นแทบจะถูกล้อมด้วยชาวยูเครน แต่พวกเขาไม่สามารถโจมตีจุดดังกล่าวได้ เพราะไม่มีอาวุธเพียงพอที่จะโจมตี รวมถึงกำลังทหารจากต่างชาติที่ลดลง และการขนส่งอาวุธผ่านโดรนก็ทำได้ไม่ดีนัก ยิ่งทำให้การบุกลำบาก

แทนที่ชาวยูเครนจะปล่อยให้กองกำลังรัสเซียลอยนวล พวกเขากลับมองมุมใหม่ด้วยการนำวัสดุที่ไม่เคยถูกนำมาทำระเบิดแสวงเครื่องมาก่อน นั่นก็คือ รถยนต์ไฟฟ้า โดยพวกเขานำซากชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าของหลากหลายแบรนด์มาทำเป็นโดรนติดระเบิด และรถยนต์ที่ติดตั้งระเบิดแสวงเครื่อง

Toyota Mirai
โครงสร้าง และถังเก็บไฮโดรเจนของ Toyota Mirai (สีเหลือง)

นำชิ้นส่วนจากรถยนต์ไฟฟ้ามาสร้างระเบิด

ชิ้นส่วนที่ถูกนำมาใช้ เช่น แบตเตอรี่ และมอเตอร์จากรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่ถูกทิ้ง แต่การโจมตีด้วยโดรนทำได้ยากขึ้น ชาวยูเครนจึงใช้การโจมตีภาคพื้นด้วยการขนส่งระเบิดขนาด 440 ปอนด์ ที่สร้างมาจากชิ้นส่วนของ Toyota Mirai รถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง

รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวใช้ไฮโดรเจนที่เก็บไว้ในถังแรงดันสูงเป็นเชื้อเพลิง โดยไฮโดรเจนจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ โดยถังดังกล่าวมีน้ำหนัก 115 ปอนด์ และเก็บไฮโดรเจน 12 ปอนด์ ไว้ด้วยแรงดัน 10,000 psi ซึ่ง แรงดันดังกล่าวเทียบเท่ากับแรงดันที่เกิดขึ้นใต้น้ำลึก 22,500 ฟุต

ทำให้ตัวถังในการเก็บไฮโดรเจนจึงต้องแข็งแรงมากเพื่อเก็บไฮโดรเจนข้างในสามารถสร้างพลังงานได้ 33.6 วัตต์ชั่วโมง/กิโลกรัม หรือราว 677.6 เมกะจูล ซึ่งแรงดังกล่าวเทียบเท่ากับระเบิด TNT จำนวน 357 ปอนด์ เมื่อผนวกกับระเบิดพลาสติกจำนวนหนึ่ง หรือหลักร้อยปอนด์ ยูเครนก็มีระเบิดแรงดันสูงทันที

แผนการบุกระเบิดฐานทัพชั่วคราวของกองกำลังรัสเซีย ชาวยูเครนใช้รถยนต์ที่ติดตั้งชุดระเบิดพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าวและบังคับรถยนต์นั้นจากระยะไกลเพื่อเข้าไปใกล้กับฐานทัพดังกล่าวมากที่สุด จากนั้นจึงกดระเบิด ซึ่งโชคดีที่ระเบิดนั้นเกิดใกล้กับคลังแสงของรัสเซียทำให้การระเบิดนั้นเกิดเป็นฝุ่นรูปเห็ดขนาดใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Mirai ของ Toyota มาใช้พัฒนาระเบิดแสวงเครื่อง เพราะสิ้นปีงบประมาณ 2024 ของ Toyota (จบเดือน มี.ค. 2024) Toyota มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวเพียง 4,000 คัน เท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา