สุดท้ายก็กลืนเลือด! อ่านเกม โตโยต้า หลังลงทุน 2 แสนล้านบาทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน

หลายครั้งที่บริษัทญี่ปุ่นมั่นใจในตัวเองมากไปจนสุดท้ายความเชื่อนั้นก็ทำให้ธุรกิจมีปัญหา ซึ่ง โตโยต้า ก็กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เพราะเชื่อมั่นใจรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และเดินหน้าลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fuel-Cell ต่อเนื่อง

แต่เหมือน โตโยต้า จะไม่ยอมพ่ายแพ้เหมือนธุรกิจอื่น เพราะล่าสุดประกาศลงทุนกว่า 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2022

งานนี้จะเรียกว่ากลืนเลือดตัวเองก็คงไม่ผิด เพราะ อากิโอะ โตโยดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โตโยต้า เคยปรามาสรถยนต์ไฟฟ้าล้วนไว้หลายครั้ง และสุดท้ายก็ต้องยอมลดความมั่นใจตัวเองเพื่อตามความต้องการตลาดให้ทัน

อนาคตของการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ โตโยต้า จะเป็นอย่างไร รถยนตไฟฟ้าแบบไฮบริดที่สุดแสนภูมิใจจะหายไปหรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาวิเคราะห์ไปด้วยกันครับ

โตโยต้า

ลงทุนหลักแสนล้านบาทกระตุ้นความเชื่อมั่น

เริ่มต้นที่เรื่องการลงทุนกันก่อน โดยตัวเลข 5,600 ล้านดอลลาร์ที่ โตโยต้า ลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะใช้สำหรับการผลิตในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทำให้ภาพรวมกำลังผลิตแบเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทอยู่ที่ 40 จิกะวัตต์ชั่วโมง

หากเจาะไปที่ตัวเลขการลงทุนจะพบว่า เงิน 5,600 ล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งหนึ่งจะใช้ยกระดับโลกงานในประเทศญี่ปุ่นที่เมืองฮิเมจิ และโรงงานอื่น ๆ ส่วนที่เหลืออีก 2,500 ล้านดอลลาร์ จะใช้พัฒนาโรงงานที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเดือน ธ.ค. 2021 โตโยต้า ประกาศลงทุน 1,300 ล้านดอลลาร์ ไปก่อนแล้ว

ที่โรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้าได้กว่า 1,200 ล้านคัน/ปี หลังจากเพิ่มการลงทุนทั้งหมด โดยการผลิตแบเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มขึ้นในปี 2025 ส่วนโรงงานในประเทศญี่ปุ่น โตโยต้า มีการทำความร่วมมือกับ พานาโซนิค ยักษ์ใหญ่ในเรื่องนี้ด้วย

เป้าหมายขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 3.5 ล้านคัน/ปี

การลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ดังกล่าวคือหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะทำให้ โตโยต้า เดินหน้าไปถึงเป้าหมายยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 3.5 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2030 ผ่านการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าล้วนกว่า 30 รุ่น โดยแบรนด์ เลกซัส จะเปลี่ยนตัวเองเป็นแบรนด์รถยนต์ที่จำหน่ายแต่รถยนต์ไฟฟ้าล้วนเท่านั้นภายในปี 2035 เช่นกัน

อย่างไรก็ตามการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนของ โตโยต้า แทบไม่มี และ SUV ไฟฟ้าล้วนรุ่น bZ4X ยังมาประสบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น เพราะต้องเรียกคืนรถที่ขายไปมาตรวจสอบปัญหาล้อหลุดออกจากตัวรถ รวมถึงเรื่องมุมอับด้านหลังที่เกิดจากการออกแบบสุดล้ำ

ยิ่งหากเทียบกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โตโยต้า ที่เป็นสัญลักษณ์เรื่องรถยนต์ของญี่ปุ่นกลับล้าหลังกว่าผู้เล่นเหล่านั้น เพราะยึดมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และ Fuel-Cell และพยายามลงทุนเรื่องนี้ต่อเนื่องในขณะที่คู่แข่งต่างชาติต่างเดินเครื่องพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าล้วนเต็มกำลัง

ความมั่นใจแบบญี่ปุ่นที่ยากจะต่อต้าน

จะว่าไปความล่าช้าของ โตโยต้า ครั้งนี้อาจมาจากความเชื่อมั่นเหมือนกับที่หลายบริษัทญี่ปุ่นเคยเป็น และความเชื่อมั่นเหล่านั้นมีทั้งทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และบ้างก็ทำให้ล้มเหลว ซึ่งในกรณีของความล้มเหลวก็มีให้เห็นกันเยอะ เช่น Walkman ของ โซนี่ ที่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้ เพราะหันไปฟัง MP3 หรือใช้ iPod ของ Apple

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Olympus ที่จากเดิมเป็นอนาคตของวงการกล้องผ่านเทคโนโลยี Micro 4:3 บนกล้อง Mirrorless แต่สุดท้ายรายได้หลักในตอนนี้กลับมาจากธุรกิจเครื่องมือแพทย์ จึงยังดีที่ โตโยต้า ยอมลดความเชื่อมั่นของตัวเอง และคล้อยตามตลาดอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ในทางกลับกันองค์กรญี่ปุ่นที่ลดความเชื่อมั่นของตัวเอง และพยายามคล้อยตาม หรือเป็นผู้นำตลาดในทิศทางที่ถูกต้อง ในตลาดรถยนต์ก็คงต้องยกให้ Nissan ที่กลายเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนมาระยะหนึ่ง อาจเพราะมีผู้บริหารที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น

แล้วในอนาคต ไฮบริด และ Fuel-Cell จะหายไปหรือไม่

จากการประเกมรุกรถยนต์ไฟฟ้าล้วน รวมถึงการลงทุนหลายแสนล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนตัวผู้เขียนจึงมองว่า หลังจากนี้ โตโยต้า และประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาจลดความมั่นใจเดิม ๆ ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และหันมาจริงจังกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนมากขึ้น

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และ Fuel-Cell เชื่อว่าทั้งคู่จะถูกพัฒนา และทำตลาดคู่ขนานกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในระยะแรก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดทั้งเสียบปลั๊กได้ และไม่ได้ ยังตอบโจทย์การใช้งานในตลาดที่ยังไม่มีความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และผู้บริโภคต่างเปิดใจซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวมากกว่าแต่ก่อน

แต่ในอนาคตอันไกล หรือภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนพร้อมสำหรับการใช้งานเต็มรูปแบบ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ Fuel-Cell อาจถูกลดความสำคัญ เพราะเป็นตรงกลางของรถยนต์ไฟฟ้าล้วน กับรถยนต์ใช้น้ำมัน และคงไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะเลือกเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งไปเลยมากกว่า

สรุป

จะบอกว่า โตโยต้า ช้า และเชื่อมั่นในตัวเองสูงไปหน่อยก็คงไม่แปลก เพราะนี่คือบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น และโลก ซึ่งความมั่นใจนี้เองจริง ๆ ก็ส่งผลดีต่อแบรนด์ในแง่ความชัดเจน และการวางกลยุทธ์ แต่ความมั่นใจที่มากเกินไป และแย้งกับความเชื่อในตลาดโลกก็คงไม่ดี เพราะอาจทำให้ธุรกิจพังเหมือนแบรนด์อื่น ๆ ก็เป็นได้

อ้างอิง // Nikkei Asia, Automotive News Europe

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา