ยังอยู่กับไฮโดรเจน! Toyota และ BMW ประกาศความร่วมมือพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fuel-Cell

Toyota และ BMW ประกาศความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fuel-Cell หรือ FCEV ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง รับมือตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ Bettery Electric Vehicle: BEV เริ่มชะลอตัวจนผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่หลายรายมีการปรับแผนในการทำตลาด

BMW Toyota

พบกับ FECV ของ Toyota และ BMW ในปี 2028

สำนักข่าว Japan Today รายงานว่า BMW และ Toyota ประกาศร่วมกันพัฒนาระบบส่งกำลังตัวใหม่เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fuel-Cell หรือ FCEV โดยในช่วงแรก BMW จะผลิต FCEV ที่ติดตั้งระบบส่งกำลังดังกล่าวเพื่อจำหน่ายเป็นการทั่วไปในปี 2028 และ Toyota จะนำระบบส่งกำลังดังกล่าวไปใช้กับ FCEV ของแบรนด์เช่นกัน

หากเจาะไปที่รายละเอียดจะพบว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเน้นไปที่ส่วนระบบส่งกำลังเท่านั้น ส่วนฝั่งเซลล์เชื้อเพลิง Toyota ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตให้ BMW และใช้กับแบรนด์ตัวเองเช่นเดิม นอกจากนี้เพื่อการทำตลาด FCEV อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสองแบรนด์ยังร่วมมือกันสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนในยุโรปเช่นกัน

Michael Rath ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าไฮโดรเจนของ BMW แจ้งว่า จากความร่วมมือใหม่นี้ช่วยลดต้นทุนในการผลิต FCEV ส่วน Koji Sato ประธานคนปัจจุบันของ Toyota มองว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยให้การไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ทำได้เร็วขึ้น

Toyota กับการเป็นผู้นำในของ FCEV

Toyota ถือเป็นผู้นำในตลาด FCEV เนื่องจากมีการทำตลาด FCEV อย่างจริงจังเพียงรายเดียวกับรุ่น Mirai ที่เริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ยอดขายยังไม่ดีนัก เช่น ปี 2023 ทำได้เพียง 4,023 คัน ทั่วโลก ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ของบริษัทกว่า 10 ล้านคัน/ปี

แบรนด์ญี่ปุ่นอีกรายอย่าง Honda มีการทำตลาด FCEV เช่นกัน แต่มียอดขายค่อนข้างน้อย ส่วนในยุโรป Shell เคยพยายามสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนเพื่อตอบโจทย์รถยนต์ไฟฟ้าแบบดังกล่าว แต่ด้วยจำนวนค่อนข้างน้อย และอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้โครงการดังกล่าวถูกพับไป

FCEV มีจุดเด่นคือใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการทำปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าไปหมุนระบบส่งกำลัง และไอเสียที่ออกมาจะเป็นน้ำเปล่า ทั้งยังใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงได้เร็วใกล้เคียงการเติมน้ำมันเพื่อเพิ่มระยะทาง แต่ตัวแปรสถานีเติมไฮโดรเจนต้องมีการลงทุน รถยนต์ไฟฟ้าแบบนี้จึงเพิ่มการใช้งานได้ลำบาก

ฝั่ง BEV กำลังอาการหนักในช่วงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV กำลังประสบปัญหาความต้องการที่ลดลง อาจเพราะผู้ที่ต้องการซื้อนั้นเริ่มหมดไป รวมถึงความกังวลในการปรับลดราคาของแบรนด์ต่าง ๆ ทำให้การตัดสินใจซื้อยากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์เริ่มปรับแผน

เช่น Volvo ที่เลื่อนเป้าหมายการจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าออกไปจากเดิมที่ตั้งไว้ในปี 2030 รวมถึง Ford ที่อยู่ระหว่างพิจารณาแผนธุรกิจ EV ฉบับใหม่ ควบคู่กับการเลื่อนการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ออกไป รวมถึง Mercedes-Benz ที่จะยกเลิกการทำตลาดรุ่น EQS โดยนำมารวมเป็นรุ่น S-Class แทน

ส่วนในประเทศไทยยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเริ่มช้าลงเช่นกัน แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นจากประเทศจีนถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ล่าสุด Stellantis เจ้าของ Peugeot และ Jeep แต่งตั้ง พระนครยนตรการ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Leapmotor จากประเทศจีน เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา