เปิดเกม Mobility as a Service หลัง Toyota ประกาศลงทุนใน Grab เพิ่มอีก 1,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับจะเป็นที่จับตามองของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ “บริการร่วมเดินทาง” หรือ Ride Sharing ก็เป็นอีกเรื่องที่หลายค่ายพยายามจะเข้าไป และเป็นเหตุผลที่ Toyota เพิ่มการลงทุนใน Grab

รถแท็กซี่ Toyota ที่ใช้ Grab // ภาพ Shutterstock

1,000 ล้านดอลลาร์ กับเกมรุกครั้งสำคัญ

การลงทุนใน Grab ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ Toyota เพราะในปี 2560 ก็เพิ่งร่วมลงทุนกับ Softbank และ Didi Chuxing ด้วยวงเงินรวมกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 80,000 ล้านบาท) เพื่อเดินหน้าเชื่อมต่อ และพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่ รวมถึงสร้าง Mobility Service Platform (MSPF) ที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 32,000 ล้านบาท) แบบเดี่ยวๆ ครั้งนี้ก็ถือเป็นการเปิดเกมรุกของ Toyota ในการสร้างความเข้าใจในธุรกิจบริการร่วมเดินทางมากขึ้น รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน, บริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุงในแง่มุมต่างๆ

Mobility Service Platform (MSPF) ของ Toyota

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีฐานข้อมูลจำนวนมาก หรือ Big Data ของทั้งฝั่ง Toyota และ Grab เอง ด้วย แต่ทั้งนี้การลงทุนจากยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์กับ Grab ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นเดียวกัน เพราะในปี 2559 ทาง Honda ก็ร่วมกับ Softbank และ Didi Chuxing เพื่อลงทุนกว่า 750 ล้านดอลลาร์ (ราว 24,000 ล้านบาท)

ขณะเดียวกันทาง Grab เองก็เติบโตได้มากขึ้นหลังเข้าซื้อกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ลดการแข่งขันในภูมิภาคนี้ไปทันที โดยตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 2560 ก็มีการเรียกใช้บริการจากผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านเที่ยว ผ่านจำนวนผู้ขับกว่า 2 ล้านคน และมีการเรียกใช้บริการเฉลี่ย 3.5 ล้านเที่ยว/วัน

จึงไม่แปลกที่มูลค่าธุรกิจของ Grab ในปัจจุบันนั้นพุ่งไปสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.25 แสนล้านบาท) และมีความเป็นไปได้สูงที่ Grab จะเข้าไประดมทุนตลาดหลักทรัพย์ แม้ทางผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “Anthony Tan” จะมองว่ายังมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ได้จบแค่การเข้าไป IPO เท่านั้น

อ้างอิง // Toyota, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา