มูลค่าโฆษณาเดือนมี.ค. 9,800 ล้าน Korea King ยังเป็นผู้นำ ส่วน OPPO แซง Toyota ขึ้นเบอร์สอง

การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในเดือนมี.ค. 2560 ทาง Korea King ผู้จัดจำหน่ายกระทะยังครองเบอร์หนึ่งในการใช้เงินโฆษณาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าจับตาคือ OPPO แบรนด์มือถือจากจีนที่ทุ่มเงินในไตรมาสนี้จำนวนมากเช่นกัน

190 ล้านบาท กับการโฆษณากระทะ

บริษัทสำรวจ และวิจัย Nielsen รายงานว่า ในเดือนมี.ค. แบรนด์สินค้าที่ใช้เงินโฆษณามากที่สุดยังเป็นเจ้าเก่าอย่างกระทะ Korea King เพราะในเดือนที่ผ่านมาใช้เงินไปกว่า 190 ล้านบาทในการลงโฆษณาตามช่องทางต่างๆ โดยมูลค่าดังกล่าวสูงกว่าที่ใช้ในเดือนมี.ค. 2559 ราว 50 ล้านบาท และหากนับถึงตอนนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2560) แบรนด์กระทะจากเกาหลีใต้ก็ใช้เงินโฆษณาไปแล้ว 579 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 164 ล้านบาท

แต่ที่น่าจับตามองคือแบรนด์โทรศัพท์มือถือจากประเทศจีนอย่าง OPPO ที่ใช้เงินโฆษณาในเดือนมี.ค.ไปทั้งหมด 112 ล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกระทะ Korea King และสูงกว่าอันดับที่ 3 ที่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์รถกระบะของ Toyota ที่ใช้เงินโฆษณาไป 104 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอีกแบรนด์ที่น่าสนใจคือ 11 Street เว็บไซต์ E-commerce จากเกาหลีที่เพิ่งมาเปิดตลาดไทย และปูพรมโฆษณาทั้งโทรทัศน์ และรถไฟฟ้า จนคิดเป็นมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท

Analog TV ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน ถึงเม็ดเงินโฆษณาช่องทาง Analog TV หรือกลุ่ม 6 ช่องเดิมยังคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ เช่นเดือนมี.ค. มีเม็ดเงินโฆษณาหมุนเวียนอยู่กว่า 4,400 ล้านบาท และหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมี.ค. ก็สะพัดไปแล้วกว่า 11,000 ล้านบาท แต่มูลค่าทั้งสองกลับปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นตัวมูลค่าเฉพาะเดือนมี.ค. ก็น้อยกว่าเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 440 ล้านบาท ส่วนถ้านับ 3 เดือนก็น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท

นอกจากนี้กลุ่มสื่อดั้งเดิมอื่นๆ เช่นหนังสือพิมพ์, นิตยสาร และวิทยุ ก็มียอดเงินสะพัดลดลงเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของแบรนด์สินค้า และเอเจนซี่ที่เริ่มเชื่อมั่นในสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล ที่ปีนี้ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลมองว่าจะมีเงินสะพัดในฝั่งนี้ถึง 11,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินเกิน 10% ของมูลค่าโฆษณาในประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องจับตากันให้ดีว่ากลุ่มสื่อดั้งเดิมจะอยู่อย่างไรต่อไปหลังจากนี้

สรุป

การโหมโฆษณาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะ 11 Street แสดงให้เห็นถึงการกล้าลงทุน และพร้อมเผาเงินสู้กับยักษ์ใหญ่ E-commerce อย่าง Lazada ในตอนนี้ ส่วนการใช้เงินตามสื่อต่างๆ ก็คงอย่างที่รู้กันว่ากลุ่มสื่อดั้งเดิมถ้าไม่ปรับตัวก็คงอยู่ลำบาก และยิ่งตอนนี้ช่อง Digital TV ก็เริ่มติดตลาดแล้วด้วย

หมายเหตุ

ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง (outdoor) สื่อเคลื่อนที่(transit) และสื่อในสนามบิน จะไม่ได้รวมข้อมูลจาก JCDecaux โดย นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่นสื่อเคลื่อนที่(transit),ป้ายบิลบอร์ดป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี2559  เป็นต้นมา

อินเตอร์เน็ท – ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่อ อินเตอร์เน็ทโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม และ 10  เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือ สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ททั้งหมดกรุณาอ้างอิงข้อมูลจากDAAT

สื่อในห้าง – นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้างTesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น และตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้งสื่อเคลื่อนที่และสื่อในห้าง

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา