โตชิบา ขอมีที่ยืนในกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้โดนใจ ขึ้น Top 3 ตลาดนี้

โตชิบา ทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 50 ปี และสโลแกน โตชิบา… นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต น่าจะเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนวัย Baby Boomer, Gen X และ Gen Y จนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นแบรนด์นี้แข็งแกร่งติดตลาดมาช้านาน

แต่ปัจจุบันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแข่งขันดุเดือด ไม่ได้มีแต่แบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นตัวเลือกหลัก แถม นวัตกรรม กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า ทำให้ โตชิบา ต้องกลับไปทำการบ้านอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ยิ่งลูกค้าหลักที่จำสโลแกนบริษัทได้เริ่มลดบทบาทในการจับจ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี กำลังจะมีอิทธิพลในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าบ้าน

งานนี้ โตชิบา ประเทศไทย ต้องปรับกลุยทธ์การทำตลาด การผลิต และการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามาขายอย่างไร Brand Inside อยากชวนทุกคนมาศึกษาการวางแผนครั้งนี้ไปด้วยกัน

โตชิบา

โตชิบา อยากโตในตลาดที่ไม่โต

ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2564 แทบไม่มีการเติบโตจากปี 2563 เพราะการระบาดของโรค โควิด-19 ที่ยาวนานทำให้สภาพเศรษฐกิจที่ไม่อำนวยต่อการจับจ่าย ประกอบกับสภาพอากาศที่ผิดปกติทำให้ภาคการเกษตรไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร การจับจ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และใหญ่ จึงถูกลดความสำคัญ

สำหรับมูลค่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2564 อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก 32%
  • เครื่องปรับอากาศ 28%
  • ตู้เย็น 21%
  • เครื่องซักผ้า 19%

เมื่อตลาดไม่เติบโต แต่มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก โตชิบา ประเทศไทย จึงเริ่มปรับกลยุทธ์ผ่านการเน้นไปที่สินค้ากลุ่มตู้เย็น จนภาพรวมยอดขายเติบโต 17% มาจากตู้เย็นในสัดส่วน 48% รองลมาเป็นเครื่องซักผ้า 26% เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก 24% และเครื่องปรับอากาศ 2%

“ปี 2564 เราเติบโตได้เพราะหันไปเน้นช่องทางออนไลน์ และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์นี้จะถูกทำต่อ และมีการลงทุนที่มากกว่าเดิม เพื่อสร้างยอดขายให้เติบโตในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเติบโตลำบากได้” ฮิโรยูกิ ทากาเสะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าว

อัดงบการตลาดออนไลน์ เอาสินค้าล้ำ ๆ มาขาย

หากเจาะไปที่การทำตลาดออนไลน์ โตชิบา จะลงทุนงบการตลาดมากกว่าปี 2564 แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ รายละเอียดประกอบด้วยการใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในการสื่อสาร รวมถึงการจูงใจด้วยโปรโมชันเพื่อให้ลูกค้าเปิดใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าบ้านผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน

“ยอดขายออนไลน์ของ โตชิบา เติบโตอย่างชัดเจน เช่น ตู้เย็น มียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 654% ส่วนออฟไลน์โตแค่ 10% แม้ภาพรวมช่องทางออนไลน์จะคิดเป็นแค่ 5% ของยอดขายเรา แต่ปีนี้เราจะทำให้มากขึ้น และตั้งเป้ากินสัดส่วนเป็น 8-10% ในปี 2565”

นอกจากการรุกออนไลน์ โตชิบา ประเทศไทย ยังเตรียมนำสินค้านวัตกรรมเข้ามาจำหน่ายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ และสร้างการรับรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย, เครื่องฟอกอากาศ และตู้เย็นที่ถูกออกแบบให้เข้ากับการใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ และคงเอกลักษณ์เรื่องประหยัดพลังงานของ โตชิบา เอาไว้

เป้าระยะสั้นคือยอดขายโต และเป็นเบอร์ 1 ตู้เย็น

สำหรับเป้าหมายของ โตชิบา ประเทศไทย ในปี 2565 ทางบริษัทต้องการมียอดขายเติบโตในอัตราเปอร์เซ็นต์เลขสองหลัก และสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดตู้เย็น และติด 4 อันดับแรกของภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการขายสินค้าได้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน โตชิบา ประเทศไทย วางแผนระยะยาวด้วยการติด 3 ผู้นำในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย และขึ้นเป็นเบอร์ 1 เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยปัจจุบัน โตชิบา มีส่วนแบ่ง 5-6% ในเกือบทุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเป็นเบอร์ 5 ของตลาดนี้

“นำสิ่งที่ดีสู่ชึวิต เครื่องสิ่งที่ โตชิบา ประเทศไทย ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และการใส่ใจลูกค้า รวมถึงการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ โตชิบา ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าว

สรุป

เป็นเรื่องที่ท้าทายเมื่อ โตชิบา ประเทศไทย ต้องการเติบโตในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข่งขันกันสูง และผู้เล่นมีตัวเลือกหลากหลายแบรนด์ ดังนั้นต้องติดตามว่า ความเป็นญี่ปุ่น และชื่อเสียงดั้งเดิมของแบรนด์ จะช่วยให้ โตชิบา สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่

อ้างอิง // Toshiba

อ่านข่าวเกี่ยวกับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา