โตชิบา หวังโต 20% สวนทางเงินเฟ้อไทย ชูสินค้า IoT กระตุ้นยอด ครองเบอร์ 1 ตู้เย็นประตูเดียว

โตชิบา ประเทศไทย ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20% สวนทางภาวะเงินเฟ้อ และผู้ซื้อคุมค่าใช้จ่าย หวังสินค้ากลุ่ม IoT ช่วยสร้างแบรนด์ให้แตกต่าง ยกระดับแบรนด์สู่กลุ่ม Mid-High ย้ำเบอร์ 1 ตู้เย็นประตูเดียวเช่นเดิม

โตชิบา

โตชิบา ยกระดับแบรนด์สู่กลุ่ม Mid-High

อเล็กซ์ มา รองประธานกรรมการ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์เงินเฟ้อ, ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยค่อนข้างชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 แม้เอกชน และรัฐบาลจะส่งโปรแกรมสนับสนุนต่าง ๆ มากระตุ้นการจับจ่าย

จุดนี้เองครึ่งหลังของปี 2022 โตชิบา ประเทศไทย จะปรับภาพลักษณ์สู่การทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่ม Mid-High เพื่อเพิ่มโอกาสการทำตลาด โดยมีสินค้ากลุ่ม IoT ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ยังมีกลุ่มสินค้าที่เน้นความคุ้มค่าให้เลือก

สำหรับสินค้าใหม่ของ โตชิบา ที่จะทำตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 มีทั้งหมด 53 รุ่น ครอบคลุมตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องล้างจาน และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยในครึ่งหลังนี้ โตชิบา ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20% และมีส่วนแบ่งในกลุ่มสินค้าต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีสินค้ากลุ่มตู้เย็นกินสัดส่วนยอดขายหลัก และเป็นผู้นำตู้เย็นประตูเดียวเช่นเดิม

เจาะส่วนแบ่งตลาดแต่ละสินค้าของ โตชิบา

หากเจาะที่สินค้า โตชิบา ประเทศไทย ทางบริษัทตั้งเป้าว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2022 ส่วนแบ่งตลาดกลุ่มตู้เย็นจะเพิ่มจาก 13.8% เป็น 17.4%, กลุ่มเครื่องซักผ้า จะเพิ่มจาก 9.6% เป็น 11%, กลุ่มไมโครเวฟ จะเพิ่มจาก 19.5% เป็น 21.5%, หม้อหุงข้าว จะเพิ่มจาก 5.8% เป็น 8.5% และเครื่องทำน้ำอุ่น จะเพิ่มจาก 9.3% เป็น 10%

“โตชิบา ประเทศไทย มียอดขายเติบโตเป็นเลขสองหลักตลอดช่วงโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้นจนมีการตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ เช่น ตู้เย็นขนาดใหญ่ขึ้น, เครื่องซักผ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และถึงกระแสดังกล่าวจะเริ่มชะลอตัว แต่ โตชิบา พร้อมเติบโตด้วยสินค้านวัตกรรมใหม่”

ส่วนแผนการทำตลาดหลังจากนี้ โตชิบา ประเทศไทย จะใช้กลยุทธ์ 360 องศา ผ่านการลงทุนตกแต่งจุดขายใหม่ทั้งหมดเพื่อสื่อสารความเป็นสินค้า IoT มากขึ้น พร้อมกับทำกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพิ่มความสำคัญในการจำหน่ายช่องทางออนไลน์

เงินเฟ้อ ขนส่งแพง บาทอ่อน กระทบเล็กน้อย

ส่วนปัญหาภาวะเงินเฟ้อ, ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างหนัก ส่งผลกระทบให้การกำหนดราคาสินค้าของ โตชิบา ประเทศไทย เล็กน้อย และทางบริษัทยืนยันว่า การวางราคาจะเน้นเรื่องความคุ้มค่า และเข้าถึงได้ทุกระดับ

“น้ำมันแพงขึ้นหลายเท่าตัว และทุกคนต้องประหยัด แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าคือสินค้าจำเป็น ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ยังมีความต้องการ ส่วนเรื่องค่าเงินบาทอ่อน ด้วยสินค้าที่จำหน่ายในไทยเป็นการนำเข้าสัดส่วน 30% ส่วนที่เหลือเป็นการจ้างพาร์ตเนอร์ในไทยผลิต ดังนั้นอาจกระทบสินค้ากลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ย้ำว่า หลังจากนี้โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือเทียบเท่ากับการเป็นไข้หวัดใหญ่ ทำให้ปัจจัยลบดังกล่าวอาจหายไปเร็ว ๆ นี้ ซึ่งบริษัทเตรียมพร้อมทั้งแผนการตลาด และสินค้าเพื่อเติบโตหลังจากนี้

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด มีรายได้ และกำไร/ขาดทุนสุทธิ ดังนี้

  • ปี 2021 รายได้รวม 4,368 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70 ล้านบาท
  • ปี 2020 รายได้รวม 4,402 ล้านบาท กำไรสุทธิ 64 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้รวม 3,885 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา