กลุ่มนักร้องตัวท็อปของเกาหลีใต้ มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เกือบ 80% ของทั้งประเทศ

ความเหลื่อมล้ำในโลกดนตรีถูกตีแผ่อีกครั้ง หลังกลุ่มศิลปินนักร้องตัวท็อปในเกาหลีใต้ ที่คิดเป็นเพียง 1% ของทั้งประเทศ สามารถมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์กว่า 78% ของค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายให้ศิลปินนักร้องทั้งหมด

ภาพ pakutaso.com

ศิลปินนักร้องน้องใหม่ยั่งยืนได้ยาก

เมื่อศิลปินนักร้องชื่อดังนั้นครองรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ไว้จำนวนมาก ก็แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และไม่กระจายรายได้ให้กับศิลปินนักร้องที่ยังมีผลงานไม่มากนัก จึงไม่แปลกที่ศิลปินนักร้องชาย, หญิง หรือกลุ่ม หากดังมาระยะหนึ่งแล้วก็จะอยู่ยาวๆ ต่างจากศิลปินนักร้องที่เพิ่งเปิดตัว ก็แทบจะต้องดิ้นรนทุกวิถีทางให้โด่งดัง

ยิ่งอ้างอิงจากข้อมูลของ Korea Music Copyright Association (KMCA) ก็ยิ่งทำให้รู้ชัดยิ่งขึ้น เพราะ 97% ของสมาชิกสมาคมดังกล่าวที่มีกว่า 1.31 แสนคน นั้นได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ในแต่ละปีแค่คนละ 1.3 แสนวอน (ราว 3,800 บาท) ส่วนอีก 1,400 คน หรือ 1.1% ของสมาชิก กลับได้รับส่วนแบ่งกว่า 78% ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดกว่า 1.12 แสนล้านวอน (ราว 3,200 ล้านบาท)

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Federation of Korean Music Performers (FKMP) ก็ชี้ให้เห็นว่า สมาชิกราว 20% ของทางสหพันธ์ที่มีราว 1,400 คน นั้นก็ถือค่าลิขสิทธิ์กว่า 90% จากทั้งหมด หรือคิดเป็มูลค่ากว่า 18,500 ล้านวอน (ราว 544 ล้านบาท)

และแม้ทางเกาหลีจะตั้งมูลนิธิสวัสดิการศิลปินเกาหลี หรือ Korean Artists Welfare Foundation เพื่อช่วยดูแลศิลปินยามที่ไม่มีงาน หรือเกษียณอายุออกกมาจากวงการแล้ว แต่ก็มีสมาชิกอยู่เพียง 8,000 คนเท่านั้น ซึ่งต่างจากจำนวนศิลปินใน KMCA กับ FKMP ที่มีกว่า 1.4 แสนคนด้วย

ดังนั้นเมื่อนำปัจจัยต่างๆ มารวมกัน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้, การไม่สมัครสมาชิกสวัสดิการ และการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพลงที่ค่อนข้างสูง เท่ากับว่าถ้าไม่แก้ไขเรื่องข้างต้นได้ โอกาสที่ศิลปินเกิดใหม่จะสามารถยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมก็คงยากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเป็นแน่แท้

อ้างอิง // Korea Herald

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา