รหัสผ่านที่คนชอบใช้และถูกแฮกบ่อยมากที่สุดในโลก 20 อันดับแรก พบว่า Top 20 คือ 123456 มาแรงต่อเนื่อง ไม่มีแผ่ว ส่วนล่าสุด admin เริ่มมาแรงตามมาติดๆ แล้ว!
หลายต่อหลายครั้งที่เราต้องตั้งรหัสผ่าน ไม่ว่าจะ email การเข้าใช้ mobile banking ไปจนถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือสตรีมมิงล้วนต้องใช้รหัสผ่านเข้าใช้งานทั้งนั้น ถ้าเราไม่อยากถูกแฮกรหัสก็ต้องคิดรหัสผ่านให้มันยากๆ หน่อยหรือจะใช้ตามที่แพลตฟอร์มเซ็ตมาให้เราเลือกใช้ก็ได้ แต่หลายคนก็ใช้เวลาในการจดจำรหัสผ่านและไม่อยากคิดให้มันยากจึงมักจะมีคนคิดรหัสง่ายๆ เพื่อให้ตัวเองจำได้
NordPass ผู้ให้บริการด้านการจัดการเกี่ยวกับรหัสผ่าน ร่วมกับนักวิจัยอิสระ เปิดการศึกษาเกี่ยวกับรหัสผ่าน 200 รหัสที่นิยมใช้บ่อยมากที่สุดในปี 2023 โดยมี 20 อันดับแรกที่นิยมใช้บ่อยที่สุดในโลก มี 17 รหัสที่สามารถถอดรหัสได้ในเวลาไม่ถึงวินาที ซึ่งรหัสที่มีส่วนผสมที่ขี้เกียจคิดมากที่สุดนั้นทำให้ภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและชาวอเมริกันกว่า 53 ล้านคนก็ได้รับผลกระทบไปแล้วช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ตามข้อมูลของ AAG
จากการศึกษาของ NordPass พบว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์ถึง 86% มีการขโมยข้อมูลส่วนตัวของบุคคล เลขที่บัญชี อีเมล์ รวมถึงรหัสผ่านคิดเป็นเกือบ 20% ที่มีการนำมาขายบ่อยที่สุดในดาร์คเว็บ
อันดับ 1 รหัส 123456 ใช้เวลาในการแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 4,524,867 ครั้ง
อันดับ 2 รหัส admin ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 4,008,850 ครั้ง
อันดับ 3 รหัส 12345678 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 1,371,152 ครั้ง
อันดับ 4 รหัส 123456789 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 1,213,047 ครั้ง
อันดับ 5 รหัส 1234 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 969,811 ครั้ง
อันดับ 6 รหัส 12345 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 728,414 ครั้ง
อันดับ 7 รหัส password ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 710,321 ครั้ง
อันดับ 8 รหัส 123 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 528,086 ครั้ง
อันดับ 9 รหัส Aa123456 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 319,725 ครั้ง
อันดับ 10 รหัส 1234567890 ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 302,709 ครั้ง
อันดับ 11 รหัส UNKNOWN ใช้เวลาแฮก 17 นาที ใช้มาแล้ว 240,377 ครั้ง
อันดับ 12 รหัส 1234567 ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 234,187 ครั้ง
อันดับ 13 รหัส 123123 ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 224,261 ครั้ง
อันดับ 14 รหัส 111111 ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 191,392 ครั้ง
อันดับ 15 รหัส Password ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 177,725 ครั้ง
อันดับ 16 รหัส 12345678910 ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 172,502 ครั้ง
อันดับ 17 รหัส 000000 ใช้เวลา <1 วินาที ใช้มาแล้ว 168,653 ครั้ง
อันดับ 18 รหัส admin123 ใช้เวลา 11 วินาที ใช้มาแล้ว 159,354 ครั้ง
อันดับ 19 รหัส ******** ใช้เวลาแฮก <1 วินาที ใช้มาแล้ว 152,497 ครั้ง
อันดับ 20 รหัส user ใช้เวลาแฮก 1 วินาที ใช้มาแล้ว 146,233 ครั้ง
จากการจัดอันดับดังกล่าว พบว่ารหัสผ่านที่ใช้คำว่า admin ไม่เคยอยู่ติดอันดับ Top 200 มาก่อนเลยถ้านับย้อนไปห้าปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 แล้ว นอกจากนี้ รหัสผ่าน 123456 ก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมากที่สุดในโลกมา 5 ปีแล้ว
อย่างไรก็ดี นี่เป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาและเปิดเผยให้เห็นว่ารหัสผ่านแบบใดที่ใช้บ่อยที่สุดตามหมวดหมู่การใช้งานต่างๆ เช่น รหัสผ่านที่นิยมอันดับ 1 สำหรับการใช้งาน e-commerce, email, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงถึงการใช้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงก็คือรหัส 123456 ขณะที่รหัส UNKNOWN ถูกใช้ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นอันดับแรก ตามด้วยบัญชีการเงินและสมาร์ทโฟน
นอกจากตัวเลขเรียงอันดับกันแล้ว ชื่อก็ได้รับความนิยมมาตั้งเป็นรหัสด้วย เช่นชื่อว่า “Isabella” นิยมใช้ในออสเตรียมาเป็นอันดับที่ 2 ส่วน “Katerina” ก็ได้รับความนิยมอันดับที่ 11 ในกรีซ ขณะที่ชื่อผสมรวมกับตัวเลขที่ได้รับความนิยมอันดับที่ 5 ในเม็กซิโก คือ “Flores123” และ “Kento123” ก็ได้รับความนิยมอันดับที่ 17 ในมาเลเซียเช่นกัน
คนอังกฤษ คอฟุตบอลตัวยงก็สะท้อนความคลั่งไคล้ของพวกเขาผ่านการตั้งรหัสผ่านเช่นกัน เช่นรหัสที่ชื่อ liverpool, arsenal และ chelsea อยู่อันดับที่ 4, 6 และ 10 ตามลำดับ
คนจีน ก็มีรหัสยอดนิยมเช่นกัน รหัสจาก Top 20 พบว่า 11 อันดับส่วนใหญ่ตั้งรหัสเป็นตัวเลข เช่น เลข 111111, 000000 และ 12345678 นี่ก็ได้รับความนิยมในจีนมาก
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น นิยมตั้งรหัสในชื่อที่เป็นคำศัพท์หยาบคาย เช่น shitbird นี่ก็ติดอันดับ 16 ที่นิยมใช้กัน
คำแนะนำสำหรับการตั้งรหัสผ่านก็คือ
1. พยายามเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ
2. รหัสควรจะมีความยาวอย่างน้อย 20 ตัว ซึ่งก็ต้องรวมตัวเลข ตัวอักษร ตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก และมีสัญลักษณ์พิเศษรวมอยู่ด้วย
3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวเช่น วันเกิด ชื่อ หรือคำทั่วๆ ไปมาตั้งรหัส
4. ไม่ใช้รหัสผ่านแบบเดียวกันมากกว่า 1 แห่ง
5. นอกจากการตั้งรหัสผ่านก็เปลี่ยนมาใช้ลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้าเพื่อเข้าใช้งานในดีไวซ์หรือแอปพลิเคชันแทนบ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา