รู้จัก 5 ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน ที่ไม่ได้แข่งขันด้วยราคา แต่มาพร้อมนวัตกรรม

แบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนเริ่มมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น จากเดิมที่แข็งแกร่งแค่ในประเทศ ดังนั้นลองมาทำความรู้จักแบรนด์รถยนต์จีนที่น่าสนใจ พร้อมกลยุทธ์ในการทำตลาดไปด้วยกัน

รถยนต์จีน

BYD พี่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้

BYD หรือ Build Your Dream เป็นพี่ใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ผ่านการมีมูลค่ากิจการมากกว่า 4.45 แสนล้านหยวน (เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2021) มากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรถยนต์ของจีน และในปีงบประมาณ 2020 ปิดรายได้ 1.56 แสนล้านหยวน มีกำไรจากการดำเนินงาน 13,000 ล้านหยวน ทำตลาดเกือบทุกทวีปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม BYD ไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจรถยนต์ แต่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของโทรศัพท์มือถือมาก่อน โดย BYD ก่อตั้งเมื่อปี 1995 ด้วยพนักงานเพียง 20 คน และเงินทุน 2.5 ล้านหยวน เพื่อผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ จนเติบโต และได้สิทธิ์รับผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้กับแบรนด์ดังเช่น Motorola และ Nokia ในช่วงปี 2000

byd

จากนั้นปี 2003 ทาง BYD ได้เข้าซื้อกิจการ Tsinchuan Automobile เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกในปี 2005 ทั้งยังมี Warren Buffet พ่อมดการเงินเข้ามาลงทุนในบริษัท และเมื่อเก่งเรื่องแบตเตอรี่ BYD จึงเปิดตัวรถยนต์ Plug-in Hybrid รุ่นแรกของโลกเมื่อปี 2008

ถึงตอนนี้ BYD ทำตลาดรถยนต์หลายสิบรุ่น ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน โดยแบบหลังมีจุดเด่นคือ ตั้งชื่อรุ่นเหมือนกับราชวงศ์ของจีน เช่นฮั่น, ชิง, ซ่ง, ถัง และหยวน เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย BYD มีการทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 1 รุ่นคือ BYD e6 รถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ Mini-Van

mg hs phev

SAIC ชื่อที่คุ้นเคย เพราะเป็นเจ้าของ MG

ถัดมาที่ SAIC หรือชื่อเดิม Shanghai Automotive Industry Corporation หนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่ของจีน ก่อตั้งมาเมื่อทศวรรษที่ 40s เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์สันดาปภายในมาก่อน จากนั้นค่อยมาผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายช่วงทศวรรษที่ 60s และปัจจุบันผลิตรถยนต์ครอบคลุมทั้งเครื่องสันดาปภายใน และรถยนต์ไฟฟ้า

SAIC มีความแตกต่างกับ BYD คือมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ โดยมีอีก 3 รายคือ Changan Automobile, FAW Group และ Dongfeng Motor Corporation เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของเหมือนกัน นอกจากนี้ SAIC ยังทำตลาดภายใต้แบรนด์ย่อย ไม่ได้ใช้ชื่อตัวเอง คล้ายกับกรณีของ GM จากสหรัฐอเมริกา

mg ep

ชื่อแบรนด์มีตั้งแต่ Maxus, Roewe, MG รวมถึงการรับเป็นผู้ผลิตให้กับรถยนต์ต่างประเทศเพื่อขายในจีน เช่นกลุ่ม GM และ Volkswagen นอกจากนี้ SAIC ยังเริ่มออกไปทำตลาดต่างประเทศ  โดย SAIC มีมูลค่ากิจการ 33,000 ล้านหยวน (29 เม.ย. 2021) ยอดขาย 45,000 ล้านหยวน และกำไรจากการดำเนินงาน 2,872 ล้านหยวน

ด้านการทำตลาดในประเทศไทย SAIC ร่วมมือกับกลุ่ม CP เพื่อทำตลาดรถยนต์แบรนด์ MG ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์น้องใหม่ของตลาดไทยที่ตีตลาดได้แตก โดยเฉพาะในกลุ่ม SUV ที่สามารถมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งได้ รวมถึงการกดราคารถยนต์ไฟฟ้าล้วนลงมาต่ำกว่า 1 ล้านบาทก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างชื่อให้กับ MG

NIO
NIO รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน รุ่น ES8

NIO แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรง

NIO คือแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าล้วนของจีนที่ก่อตั้งปี 2014 แต่มีมูลค่ากิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันอยู่ที่ 4.36 แสนล้านหยวน (29 เม.ย. 2021) มากกว่า SAIC ที่ก่อตั้งมานานเสียอีก แม้ปี 2020 บริษัทปิดยอดขาย 16,000 ล้านหยวน และขาดทุนจากการดำเนินงาน 4,600 ล้านหยวนก็ตาม

จุดเด่นของ NIO คือการวางเรื่องราวของบริษัทว่าต้องการเติบโตได้เหมือน Tesla และจากเรื่องราวนี้เอง ทำให้นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อปี 2018 ตัวมูลค่าหุ้นของ NIO ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมูลค่ากิจการนั้นมหาศาลอย่างข้อมูลข้างต้น

รถยนต์ไฟฟ้า
NIO ET

ส่วนรถยนต์ที่ทำตลาดปัจจุบันมี 3 รุ่นคือ EC6, ES6 กับ ES8 เป็น SUV แตกต่างกันที่ขนาด Mid-Size และ Full-Size ตามลำดับ นอกจากนี้ NIO ยังมี EP9 รถสปอร์ตไฟฟ้าล้วนสมรรถนะสูง รวมถึงยังส่งทีมลงแข่งรายการ Formula E เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์อีกทางด้วย

สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย NIO ยังไม่มีความชัดเจน แต่ปัจจุบันมีแผนทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น นอกจากขายแค่ในจีนเพียงอย่างเดียว และล่าสุดเปิดตัว ET7 รถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ Sedan รวมถึงเทคโนโลยีระบบรถยนต์ไร้คนขับประสิทธิภาพสูง และการสลับแบตเตอรี่ในกรณีที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเสื่อมสภาพ

geely
รถยนต์รุ่น Preface ของ Geely

Geely ยักษ์ใหญ่ที่ถือครองแบรนด์ดังเอาไว้

กลับมาที่แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมอย่าง Geely กันบ้าง โดยผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1997 และผลิตรถยนต์รุ่นแรกออกมาในปี 1998 และ Geely เป็นบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนถือหุ้นรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2001 ทั้งจากนั้นไม่นานยังเริ่มส่งออกรถยนต์ออกไปทำตลาดในต่างประเทศด้วย

วิสัยทัศน์หลัก ๆ ของ Geely คือการสร้างรถยนต์ที่เน้นความปลอดภัย ซึ่งช่วงนั้นเอง Geely เริ่มคิดการใหญ่ด้วยการซื้อกิจการ Volvo และสุดท้ายมันสำเร็จในปี 2010 จนเป็นผู้ผลิตรถยนต์จีนรายแรกที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์จากต่างประเทศ ไม่ใช่แค่รับผลิต และจำหน่ายรถยนต์ของต่างประเทศ

volvo xc40
Volvo XC40 Recharge

นอกจากนี้ในปี 2017 ทาง Geely ยังเข้าซื้อกิจการ Proton รถยนต์ของมาเลเซีย เพื่อบุกตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ซึ่งการซื้อครั้งนั้น Geely ได้แบรนด์ Lotus จากอังกฤษมาด้วย โดยมูลค่ากิจการของ Geely อยู่ที่ 1.69 แสนล้านหยวน (29 เม.ย. 2021) รายได้ 9.26 แสนล้านหยวน กำไรจากการดำเนินงาน 32,000 ล้านหยวน

ปัจจุบัน Geely ไม่ได้ทำตลาดในประเทศไทย แต่ก็มี Volvo ที่ผลิตจากโรงงานมาเลเซียเข้ามาทำตลาด ที่สำคัญ Geely ต้องการบุตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ในรถยนต์มากขึ้น ถึงขั้นตั้งเป้าหมายจำหน่ายแต่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ที่เน้นทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ

Great Wall Motors
การผลิตรถยนต์ของ Great Wall Motors

Great Wall Motor ผู้ยิ่งใหญ่ที่รุกตลาดด้วยแบรนด์ย่อย

สุดท้ายที่ Great Wall Motor หรือ GWM แบรนด์ที่มีชื่อคล้ายคลึงกับ Great Wall of China หรือกำแพงเมืองจีนที่เรารู้จักกัน รวมถึงยังมีแนวคิด และชื่อย่อที่คล้ายกับ GM หรือ General Motor ของฝั่งสหรัฐอเมริกาด้วย โดย GWM ก่อตั้งเมื่อปี 1984 เน้นผลิตรถกระบะ และ SUV มาตั้งแต่เริ่มต้น

และในช่วงทศวรรษ 90s รถกระบะของ GWM ได้ถูกส่งออกไปยังตะวันออกกลาง จน GWM เริ่มตั้งไข่ และสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อปี 2003 และหลังจากนั้นอีก 10 ปี ได้ก่อตั้งแบรนด์ Haval เพื่อใช้ทำตลาดรถ SUV โดยเฉพาะ ครอบคลุมทุกขนาด และทุกความต้องการ

great wall motors

สำหรับมูลค่ากิจการของ GWM อยู่ที่ 2.50 แสนล้านหยวน (29 เม.ย. 2021) รายได้ในปี 2020 ปิดที่ 1.03 แสนล้านหยวน มีกำไรจากการดำเนินงาน 5,747 ล้านหยวน ผ่านการทำตลาดรถยนต์ 4 แบรนด์คือ Great Wall Pickup, Haval, Wey และ Ora ซึ่งในไทย GWM เริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งนี้หากเจาะไปแต่ละแบรนด์ของ GWM หากไม่นับแบรนด์รถกระบะ Haval คือแบรนด์รถยนต์ SUV โดยเฉพาะ ถัดมาที่ Wey แบรนด์รถยนต์หรู และ Ora แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง GWM มีแผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งแบบรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid ในทุกพื้นที่ที่ไปทำตลาด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา