Tokyo Olympic 2020: เมื่อนักกีฬาขอเป็นดาวเด่นในสนาม ส่วนนอกสนามขอเป็นดาว TikTok

เมื่อการแข่งขัน Tokyo Olympics 2020 ไม่มีผู้ชมในสนาม แอปโซเชี่ยลมีเดียอย่าง TikTok และ Douyin ก็กลายเป็นประตูสู่โลกภายนอกสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก เปิดโอกาสให้แฟนๆ ทั่วโลกได้เห็นชีวิตของนักกีฬานอกการแข่งขัน

ยุคทองของนักกีฬาและคนดู Gen Z และ Millennials

ด้วยอายุของนักกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ที่เด็กที่สุดที่ 12 ปี และอายุเฉลี่ยของนักกีฬากว่า 12,000 คนที่ 27 ปี ก็ไม่น่าแปลกใจหากนักกีฬาจะกลายเป็นฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียที่พวกเขาถนัดอีกด้วย

นักกีฬากระโดดน้ำ Sam Fricker วัย 19 ปีจากออสเตรเลียมีผู้ติดตามบน TikTok อยู่แล้ว 6 แสนกว่าคน แต่หลังจากเขามาถึงหมู่บ้านโอลิมปิก ยอดผู้ติดตามของ Sam ก็เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว

@samfrickerr

The AUS Tower ! #olympics #tokyo #japan

♬ Bullit (So Real) [Radio Edit] – Watermät

Sam และนักกีฬาคนอื่นๆ พากันลงคลิปเกี่ยวกับชีวิตในหมู่บ้านโอลิมปิกที่โตเกียว ตั้งแต่การเดินทางมาถึง การทัวร์ห้องนอน โรงอาหาร ยิมออกกำลัง การฝึกซ้อม รวมถึงมาตรการควบคุมโควิดต่างๆ ภายในสถานที่ และที่สำคัญ เพื่อแสดงเหรียญที่ตัวเองชนะการแข่งขันมาอีกด้วย

แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียอื่นๆ อย่าง Instagram, Facebook และ Twitter ก็ยังคงถูกใช้งานอยู่ แต่แย้งไม่ได้เลยว่า TikTok มาแรงที่สุดในช่วงนี้จริงๆ

TikTok และ Douyin

นักกีฬากระโดดน้ำ Tom Daley ผู้ชนะเหรียญทองในการกระโดดน้ำชายคู่ 10 เมตร มียอดวิวและไลก์บนคลิปของเขาในทั้ง TikTok และ Douyin หลายล้านต่อหนึ่งคลิป ซึ่งเป็นความสนใจจากชาวโลกที่แม้แต่ตอน Rio Olympics 2016 ก็เทียบไม่ได้

ByteDance เป็นบริษัทแม่ของทั้งสองแอปนี้ โดยยอดผู้ใช้งานเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในช่วงการล็อกดาวน์โควิด ซึ่ง TikTok มีผู้ใช้งานที่ 1 พันล้านคน และ Douyin มีผู้ใช้งานที่ 600 ล้านคน ทั้งสองแอปถูกปล่อยในปี 2016-2017 และมาไม่ทันการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนรอบก่อนหน้านี้

นักกีฬาโอลิมปิกไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกหมู่บ้านระหว่างการแข่งขัน การผลิตคอนเท้นท์ลงแอปจึงเป็นวิธีที่ดีสำหรับพวกเขาในการสื่อสารกับแฟนคลับ

สุขภาพจิตใจในการใช้โซเชี่ยลมีเดีย

ในขณะที่โซเชี่ยลมีเดียเปิดให้เห็นชีวิตของนักกีฬาโอลิมปิกระหว่างการแข่งขัน นอกจากคำชมและกำลังใจที่พวกเขาได้รับแล้ว นักกีฬาก็ได้รับคำดูถูกและคำต่อว่าเช่นเดียวกัน

นักกีฬาปิงปองญี่ปุ่น Jun Mizutani และคู่หูของเขาถูกผู้ใช้งานบางส่วนต่อว่า แม้กระทั่งช่มขู่ และกล่าวหาว่าโกงการแข่งขัน หลังจากพวกเขาชนะเหรียญทองในการแข่งขันปิงปองคู่ผสมระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

นักยิงธนู An San จากเกาหลีใต้ ผู้ชนะเหรียญทองถึง 3 เหรียญ ก็โดนคุกคามจากสังคมบางส่วนในประเทศของเธอเอง โดยพวกเขาต่อต้านการที่เธอไว้ผมสั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านสตรีนิยมในเกาหลีใต้

ในอีกด้านหนึ่ง แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียเหล่านี้ก็มอบแรงสนับสนุนให้แก่นักกีฬาที่ต่อสู้กับปัญหาทางจิตใจเหมือนกัน

แฟนๆ พากันให้กำลังใจนักกระโดดน้ำ Shi Tingmao นักกีฬาเหรียญทองผู้ที่ยอมรับว่าเคยอยากเลิกกระโดดน้ำอย่างสิ้นเชิง หลังจากการต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า และ Simone Biles นักยิมนาสติก เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 4 เหรียญ ผู้ที่ขอถอนตัวจากการแข่งขันในปีนี้ หลังภาวะทางจิตใจไม่เหมาะกับการแข่งขัน

สรุป

โซเชี่ยลมีเดียได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อหลักของโลกไปแล้ว และการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การถ่ายทอดสดออนไลน์เพิ่ม ไปจนถึงการลงไฮไลท์กีฬาใน TikTok ตามกระแสสังคม

น่าจับตามองว่า หลังจากการแข่งขันจบลง นักกีฬาโอลิมปิกนับหมื่นคนจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ต่อไปหรือไม่ และในรูปแบบไหนในอนาคต

ที่มา – SCMP, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา