TMB Analytics ชี้ ภาคธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้น 2.1% แต่ยังห่างไกลจากระดับรายได้ก่อนเกิดโควิด

TMB Analytics เผย ภาพรวมรายได้ภาคธุรกิจไทยดีขึ้น 2.1% จากปี 63 แต่ยังห่างจากระดับรายได้ปกติก่อนเกิดโควิดในปี 62 อยู่ -14.6% มองโควิดยังอยู่ไปอีกหนึ่งไปและธุรกิจจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่หากยังไม่ได้รับวัคซีน

Bangkok Thailand COVID-19 Hotel Closing TMB
ภาพจาก Shutterstock

ในปี 2563 ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพรวมรายได้ของภาคธุรกิจลดลงกว่า -16.3% เทียบกับปี 62 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแนวโน้มของภาคธุรกิจปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น 2.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของรายได้กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้วและกำลังฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมค่าคาดการณ์ระดับรายได้ภาคธุรกิจในปี 64 ยังคงต่ำกว่าระดับรายได้ปกติในช่วงก่อนเกิดโควิดอยู่มากถึง 14.6%

เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ สามารถแบ่งกลุ่มการฟื้นตัวได้ดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 63 จากการแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม work from home การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
  • กลุ่มธุรกิจที่กำลังฟื้นตัว คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน และรับเหมาก่อสร้าง จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 63 ตามการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากการส่งออกและมาตรการการช่วยเหลือของรัฐ
  • กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว หมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย คาดว่าจะหดตัว -1.2% จากปี 63 เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

TMB Analytics ประเมินว่าการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จนกว่าประชาชนจะมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจะเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วและความมั่นใจของผู้บริโภคเริ่มกลับมา

อย่างไรก็ตามภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้า ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป มีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับสินค้าเกษตรและผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้วและกำลังฟื้นตัวให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวด้วยการยืดอายุหนี้ และให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้

ที่มา: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา