TMB-ธนชาต หลังควบรวม ตั้งเป้าเป็นแบงก์ที่คนไทยรักมากที่สุด ให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินดี

เป้าหมายใหญ่หลังจากที่ TMB ได้ควบรวมกับธนาคารธนชาต ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญๆ คือเป็นแบงก์ที่คนไทยรักมากที่สุด และจะทำให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินดี

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี
ปิติ ตัณฑเกษม – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

หลังจากที่ธนาคารธนชาตและทหารไทย ได้ควบรวมกันกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทยเกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกิดธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น รวมไปถึงลดต้นทุนในการจัดการ ซึ่งสร้างประสิทธิภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดผู้บริหารทั้ง 2 ของธนาคารได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ในปีนี้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

มองเป้าเป็นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี ได้เล่าถึงธนาคารถึงหลังจากที่มีถ่ายโอนสินทรัพย์ในปีที่แล้ว และปีนี้คือการผนึกกำลังจาก 2 ทีมคือ 1 ทีม มีทิศทางเดียวกัน ภายใต้ One Dream, One Team, One Goal โดยความฝันหลังจากนี้คือลูกค้าของธนาคารมี Financial Well-being หรือ สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี ยังได้กล่าวถึงที่มาของไอเดียว่า เนื่องจากคนไทยเผชิญกับ 80% เจอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่คนไทยกว่า 21 ล้านคนมีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 5 แสนบาท แม้ว่าสวัสดิการด้านสุขภาพที่พอใช้ได้ นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของคนไทยยังไม่มีการวางแผนการเงิน และสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดคือมีหนี้ตามมาด้วยตอนเกษียณ ถ้าหากเป็นผู้ประกอบการยังแถมต้นทุนทางการเงินก็แสนแพงมาก ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆ คนต้องกู้หนี้ยืมสินจากบัตรเครดิต หรือสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยราคาแพงมาก

ปิติ ยังได้ยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาคือ ของที่แพงที่สุดคือการรักษาพยาบาล แต่ขณะที่รายได้นั้นขึ้นแค่ปานกลาง และถ้าหากมีบุตรหลานแล้วเงินที่ใช้เยอะมากกว่าเดิม ขณะที่คนทั่วๆ ไปกลับไปซื้อของที่ไม่จำเป็น ปิติเลยมองว่านี่คือโจทย์ของธนาคารว่าจะทำยังไง

เขายังได้เล่าถึงการสอบถามลูกค้าเกี่ยวกับมุมมองของธนาคาร โดยลูกค้ามีมุมมองว่า ขายแต่ประกัน ยุ่งยาก แต่ทำไมการฝากเงินถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เวลาขอกู้เงินธนาคารกลับให้ยุ่งยากมาก

ขณะที่นิยามของธนาคารใหม่ คือสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ ลูกค้า สินค้าบริการทางการเงิน ซึ่งโลกพัฒนาไปมากแล้ว ลูกค้าต้องการความต้องการแตกต่างกันไป มองสินค้าทางการเงินเป็น Solution ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี ยังได้ทิ้งท้ายว่าเ ธนาคารเองไม่ต้องการให้ธนาคารเป็น FinTech แต่มองเรื่อง Human Touch มากกว่า และมองว่าเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพัฒนาคนโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องการให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีมากขึ้น เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อเป็นธนาคารที่คนไทยรักมากที่สุด

ทีมผู้บริหารธนาคารทีเอ็มบี ธนาคารธนชาต
(จากซ้ายไปขวา) มารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย, ป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์, ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่, ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี, อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย, เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ

เน้นใช้ Data วิเคราะห์ลูกค้ามากขึ้น

มารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า ปัญหาลูกค้าทั่วๆ ไป เช่น ลูกค้ามีครอบครัวคือเรื่องของรายจ่ายต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาระหนี้ แถมหนี้ยังตามไปถึงตอนเกษียณ อย่างที่ ปิติ ได้กล่าวไว้

เธอได้กล่าวถึงการสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินให้แก่ลูกค้า โดยจะยึดหลักสำคัญคือ ช่วยให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเองผ่านช่องทางที่สะดวกสบาย รู้จักการออมและการลงทุนที่เพียงพอ มอบความคุ้มครองที่อุ่นใจ และการกู้ยืมเท่าที่จำเป็น

โดยธนาคารจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกิดจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงโดยยึดหลักความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าและใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโซลูชันที่ตรงใจสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะที่สำคัญต้องส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันใจสอดรับกับความต้องการ

สำหรับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ได้กล่าวว่า นี่คือเรื่องใหม่ของ TMB แต่เป็นทีมงานชุดเดิม (จากธนชาต) โดยมองว่ารถยนต์คือปัจจัยในการดำเนินชีวิต นำมาต่อยอดทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจ โดยมองว่าสนับสนุนให้มีการกู้ยืมเงินอย่างมีประสิทธิภาพด้วย Scoring Model เพื่อทำให้ได้เงินกู้ที่เหมาะสม ทำให้ลูกค้าบริหารความเสี่ยงได้ ถ้าหากลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีก็สามารถได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยมีการใช้ Data มาพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่งมอบ Solution ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ได้กล่าวถึงเรื่องของการที่จะส่งมอบ Financial Well-being ให้ลูกค้าได้อย่างไร เพราะรวมขึ้น หลายๆ อย่างใหญ่มากขึ้น อนุวัติร์ กล่าวว่าธนาคารจะไม่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบเดี่ยวๆ แต่มองว่าการขายเป็น Solution ทางการเงินจะตอบโจทย์มากกว่า

หลังจากนี้โดยธนาคารจะส่งประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง เช่น Mobile Banking บริการจากสาขา หรือแม้แต่ Call Center มองว่าไม่ใช่ช่องทางขายของให้ลูกค้า แต่ดูแลสร้างความสัมพันธ์เพื่อลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการบริการ

นอกจากนี้ยังต้องมีการฝึกพนักงานโดย Re-Skill อนุวัติร์ ได้เล่าถึง เริ่มต้นที่พนักงานต้องเปลี่ยน Mindset ขณะที่ KPI หลังจากควบรวมก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด มาเน้นลูกค้ามากขึ้น ขณะที่พนักงานก็ต้องสบายใจที่จะทำงานร่วมกับลูกค้า โดยเขาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อลูกค้ามี Well-being พนักงานก็มี Well-being เช่นกัน

TMB Bank ธนาคารทหารไทย
ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารสามารถช่วยเศรษฐกิจได้

เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตแบบกระจุกตัว และมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีจำนวนมากถึง 3 ล้านบริษัท และมีการจ้างงานสูงถึง 85% กลับให้สัดส่วนของรายได้ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีเพียง 6,000 บริษัท

ดังนั้น การจะช่วยเศรษฐกิจไทย ช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี ธนาคารต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่โดยการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน นั่นคือมอบแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจอย่างถูกประเภท ถูกเวลา ไม่เกินตัว และตรงความต้องการจริง

นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องลูกค้าธุรกิจและพนักงานเป็นเรื่องเดียวกัน มอง Solution ต่างๆ ให้ด้วย เช่น การออม การลงทุน ซึ่งท้ายที่สุด พนักงานแข็งแรง บริษัทก็แข็งแรง

พนักงานคือส่วนสำคัญ

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของธนาคารในตอนนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวภายในกรกฎาคม 2564 โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้รับบริการเป็นหลัก ว่าต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จึงได้มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างดี โดยธนาคารมีแผนที่จะเริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้

ซึ่งกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเริ่มเปิดให้บริการสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร ซึ่งปีนี้วางแผนจะเปิดทั้งหมด 90 สาขา ครอบคลุมจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้นในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของทั้งสองธนาคาร

ขณะที่เรื่องของพนักงานนั้น ประพันธ์ กล่าวว่า พนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Well-being) ซึ่งทีมบริหารได้คำนึงถึง 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่

  • Health มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ให้น้ำหนักกับเงินก้อนช่วยเหลือฉุกเฉินยามเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะสร้างผลกระทบที่มากกว่า ด้วยจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายมากกว่าการเจ็บป่วยปกติ
  • Wealth ธนาคารให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาด ให้พนักงานสามารถเก็บออมได้เพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ
  • Skill ธนาคารได้พัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Disruption)
ธนาคารธนชาต
ธนาคารธนชาต

เรื่องอื่นๆ

  1. พนักงานของทั้ง 2 ธนาคารเริ่มเรียนรู้ และทดลองใช้ผลิตภัณฑ์การเงินของอีกฝั่ง เช่น พนักงาน TMB มาเรียนรู้สินเชื่อรถยนต์ของธนชาต ขณะที่พนักงานธนชาตทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของ TMB เพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น
  2. ทยอยโอนย้ายพนักงานเป็นระยะๆ โดยผู้บริหารทั้ง 2 ธนาคารได้มาร่วมงานกันแล้ว พนักงานบริหารระดับลงไปน่าจะเห็นผลภายใน 2-3 เดือนนี้
  3. เดือนเมษายนนี้ TMB Touch จะสามารถกดเงินในตู้ธนชาตแบบไม่ใช้บัตรได้แล้วกว่า 4,700 เครื่อง
  4. บลจ. ของทั้ง 2 ไม่ว่าจะเป็น บลจ. ทหารไทย หรือ บลจ. ธนชาต จะทยอยขายหุ้นให้ East Spring ภายใน 5 ปี เพื่อที่ธนาคารจะเป็น Open Architecture สมบูรณ์แบบ สามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของใครก็ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ