ศึกใหญ่ธนาคารดึงลูกค้าเอสเอ็มอี TMB ชู 3 กลยุทธ์รุกหนักภาคตะวันออก

ใครๆ ก็มองว่าเศรษฐกิจไม่ดีจะกระทบกับ SME ให้ทำธุรกิจยากขึ้น แต่ทำไมช่วงนี้ธนาคารหลายแห่งยังแข่งกันปล่อยสินเชื่อให้ SME ล่ะ?


พีรพงศ์ นิธิไกรวุฒิ
หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) บอกว่า ปัจจุบันธนาคารแข่งขันปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ SME มากขึ้น สาเหตุเพราะฐานลูกค้าเติบโตต่อเนื่องและเป็นกลุ่มที่กำไรขั้นต้น (Margin) สูงกว่าลูกค้ากลุ่มอืน

“เดิม SME ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดจะใช้ธนาคารหลักๆ ประมาณ 2-3 แห่ง แต่ตอนนี้ 1 เจ้าใช้แบงก์หลัก 4-5 แห่ง เรียกว่าการแข่งขันรุนแรงขึ้น ยิ่งต่างจังหวัดธนาคารก็วิ่งเข้าหาลูกค้ามากขึ้น”

ทั้งนี้กลยุทธ์ปี 2019 ของ TMB จะมุ่งขยายสินเชื่อให้ SME โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่มีโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากสาธารนูปโภคโรงงานที่เกิดขึ้นส่งผลให้ Supply chain ของ SME และอุตสาหกรรมบริการ (Industry Service เช่น ขนส่ง ค้าปลีก ประกันภัย ฯลฯ) ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ปี 2019 ทางธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อ SME ที่มีรายได้ 100-1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะมียอดสินเชื่อใหม่เกือบ 10,000 ล้านบาทเติบโต 8-9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากปัจจุบันที่มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 90,000 ล้านบาท ปัจจุบัน SME ของธนาคารแบ่งเป็น อุตสาหกรรมผลิตและการค้า 70% เกษตร 30%

TMB ชู 3 กลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้า SME 

ปี 2019 มองว่าธุรกิจ SME ที่จะเติบโตต่อเนื่องได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และอาหาร โดยทางธนาคารจะมุ่ง ขยายลูกค้า SME ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักได้แก่

  • ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพิ่มบริการให้ SME ทำธุรกิจง่ายขึ้น อย่างธุรกิจรับเหมาจะร่วมมือกับพันธมิตรชื่อ Mango และ Builk เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปในการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งจัดการระบบข้อมูล และเชื่อมต่อการทำงานภายในบริษัทให้รวดเร็ว และบริหารได้ดียิ่งขึ้น โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมผ่านมือถือได้ทั้งหมด
  • สนับสนุนลูกค้าทำบัญชีเดียว และใช้ธนาคารเป็นบัญชีหลัก ขณะเดียวกันเมื่อธนาคารเห็นธุรกรรมของลูกค้าจะสามารถให้สินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
    “ปัจจุบันภาพรวมทั้งตลาดทำบัญชีเดียวประมาณ 60% แล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งนิยมทำบัญชีเดียว
    เพราะลดความซับซ้อน วุ่นวายในการทำงาน บริหารธุรกิจเห็นกำไร-ขาดทุนได้ดีขึ้น และช่วยให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ปัญหาที่ SME บางแห่งยังไม่ทำบัญชีเดียวเพราะกังวลเรื่องภาษีย้อนหลัง”
  • สร้างสมดุลในพอร์ทสินเชื่อ โดยตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนสินเชื่อระยะยาว (ระยะเวลากู้ยืม 7 ปีขึ้นไป) และสินเชื่อ Working Capital (ระยะเวลากู้ยืม 1 ปี) อยู่ที่ 50% จากปัจจุบันที่สินเชื่อระยะยาวสัดส่วนอยู่ที่ 70% และ Working Capital อยู่ที่ 30%

อย่างไรก็ตามธุรกิจ SME ในตลาด NPL (หนี้เสีย) ยังอยู่ในระดับสูงแต่ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจยังไม่เติบโต SME บางส่วนได้รับผลกระทบจากปริมาณสินค้าที่ส่งขายน้อยลงหรือ ราคาที่ลดลง เช่น ธุรกิจ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สินค้าเกษตร แต่หัวใจในการทำธุรกิจยังขึ้นอยู่กับวินัยการเงิน และความสามารถในการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท

สรุป

แม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ SME ขยายตัวได้ง่ายขึ้นแต่ถ้าการบริหารจัดการภายในบริษัทไม่ดี วินัยการเงินไม่มี ธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง