หลายปีที่ผ่านมา ภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกตกต่ำ บางประเทศถึงขั้นประกาศดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบ อย่างญี่ปุ่น แสดงว่าคนญี่ปุ่นฝากเงินกับธนาคารต้องจ่ายเงินให้ธนาคารด้วย รัฐบาลเขาก็ทำเพื่อสนับสนุนให้คนเอาเงินออกมาลงทุน จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ
Searching for Yields ดึงเงินไหลเข้าประเทศเกิดใหม่ ตลาดหุ้นพุ่งสูง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ออกบทวิเคราะห์มาว่า หลายปีนี้ภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะ “Search for Yield” ที่นักลงทุนหาผลตอบแทนสูงขึ้น ยอมเสี่ยงมากขึ้น ผู้กำกับทั่วโลกเลยจับตาเรื่องนี้เยอะ เพราะถ้าคนลงทุนแบบไม่ดูความเสี่ยงอาจจะขาดทุน และลามไปถึงเสถียรภาพระบบการเงินรวมถึงระบบเศรษฐกิจได้
ซึ่งพอคนหาที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนสูง เกิดเป็นเงินทุนจำนวนมากจากทั่วโลกไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ (สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง) ทั้งในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน และตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้รวมถึงไทยก็ปรับเพิ่มขึ้น เช่น SET Index ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 จุด
แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาขึ้นเลยเกิดภาวะ Reversal Searching for Yields ดึงค่าเงินอ่อน ตลาดหุ้นตก
Reversal Searching for Yields ทำให้เกิดการดึงเงินกลับอย่างรวดเร็วเพราะปัจจุบัน เหล่าธนาคารกลางทั่วโลกที่ฉีดเงินสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน เริ่มดึงเงินกลับผ่านการยกเลิก QE (นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) และลดขนาดงบดุล ด้าน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สินทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่เสี่ยงน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนมากขึ้นเลยน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน
ที่ผ่านมาเราเห็นเงินทุนไหลออกจาก ตลาดประเทศเกิดใหม่ (EM) ค่อนข้างรุนแรง บางประเทศเมื่อเงินทุนไหลออกเร็วกระทบค่าเงินอ่อนค่าลง เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ทำให้ค่าเงินอ่อนค่า 6-30% ส่วนหนึ่งเพราะเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด พอเงินทุนไหลออกเร็ว ก็บริหารไม่ทัน ประเทศกลุ่มนี้ต้องแก้เกมส์ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้าง
ขณะที่เรื่อง Trade War (สงครามการค้า) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน สร้างความกังวลให้นักลงทุนและ กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ค่อนข้างรุนแรงจนค่าเงินในตลาดเอเชียอ่อนค่าลงเฉลี่ยกว่า 5%
นักลงทุน-ผู้ประกอบการไทยรับความผันผวน ทั้งค่าเงิน ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
ส่วนไทย ครึ่งปีหลัง ทั้งนักลงทุน และผู้ประกอบการ ต้องเตรียมตัวรับความผันผวนให้ดี และต้องป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก (เช่น การทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพราะตลาดมองว่า FED อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คิด จากตลาดแรงงานที่ดีขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงเร็วกว่าที่คาดการณ์
ไทยเรายังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงเศรษฐกิจยังเติบโตดี ทำให้เงินทุนไม่ไหลออกแรงเมื่อเทียบกับประเทศ EM อื่นๆ โดยต้นปี 2018 ถึงปัจจุบันตลาดทุนและตลาดเงินไทยมีเงินไหลออกสุทธิกว่า 8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ปี 2016 และ ปี 2017 มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิเฉลี่ยปีละกว่า 2.8 แสนล้านบาท
ต้องยอมรับว่าไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิมาโดยตลอด ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาก ตั้งแต่ต้นปี 2018 จนถึงตอนนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอ่อนค่าจากต้นปีแล้วกว่า 2.2%
สรุป
ครึ่งปีหลัง ไทยยังต้องระวังเรื่องเงินทุนไหลออก ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทผันผวน และยิ่งอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นก็ทำให้ฝั่งนักลงทุนและผู้ประกอบการต้องประเมินและป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะการทำ Hedging (ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) หรือ เริ่มมาดูว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นไป อาจจะเริ่มล็อกต้นทุนเงินกู้ เป็นต้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา