วานนี้ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี เผยผลวิจัย “5 เรื่องจริงปวดใจของร้านค้าออนไลน์” ปัญหามาจากสินค้าไม่มีความแตกต่าง โฆษณาออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงเรื่องขนส่ง ขาดเงินส่ง ทำให้ธุรกิจขยายและเติบโตไม่ได้เต็มที่
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ (ETDA) พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงถึง 680,000 ล้านบาทภายในปี 2562 นี้ คิดเป็น 20% ของมูลค่าค้าปลีกของไทย
- ปี 2559 มูลค่าค้าปลีกไทยอยู่ที่ 375,083 ล้านบาท
- ปี 2560 มูลค่าค้าปลีกไทยเพิ่มขึ้น 34% เป็น 504,229 ล้านบาท
- ปี 2561 มูลค่าค้าปลีกไทยเพิ่มขึ้น 20% เป็น 607,026 ล้านบาท
- ปี 2562 มูลค่าค้าปลีกไทยเพิ่มขึ้น 12% เป็น 680,000 ล้านบาท
ข้อมูลจาก TMB ระบุว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยข้อมูลปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ช้อปปิ้ง Online มีมากถึง 12 ล้านคนที่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งจาก Offline เป็น Online
ปัจจุบัน SMEs เป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์มากกว่า 200,000 รายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee และ JD Central และอีกกว่า 300,000 รายที่ค้าขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซเช่น Facebook, LINE และ Instagram
- ร้านออนไลน์ขายบน Shopee, Lazada, JD.Com กว่า 2 แสนราย
- ร้านออนไลน์ขายบน Facebook, LINE และ Instagram กว่า 3 แสนราย
ทีเอ็มบี เอสเอ็มบี ร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำของไทยที่ได้รับการยอมรับ ทำการสำรวจออนไลน์กับผู้ประกอบการอีเมิร์ซในไทยจำนวน 200 คน รายได้เฉลี่ย 10-100 ล้านต่อปี คละประเภทอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการหน้าร้านที่มีธุรกิจออนไลน์ ครอบคลุมธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ
บทสรุป “5 เรื่องจริงปวดใจของร้านค้าออนไลน์” พร้อมแนวทางแก้ไขคือ
-
ขายยังไงดี สินค้าไม่มีจุดแตกต่าง
ร้านค้าออนไลน์ 60% พบว่าสินค้าตนเองไม่แตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากซื้อสินค้าจากแหล่งเดียวกันถึง 44% และไม่สามารถสั่งผลิตสินค้าแยกได้ เพราะไม่คุ้มค่าการผลิตถึง 16%
3 แนวทางในการแก้ไขปัญหาคือ
เน้นกลยุทธ์การตลาดสร้างความต่างให้สินค้า เช่น ปรับปรุงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ทันสมัย ใช้งานสะดวก มีบริการพิเศษ
เจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันน้อยกว่า
คิดสินค้าให้แตกต่าง และหา OEM มาช่วยผลิต (OEM: Origian Equipment Manufacturer คือผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้บริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ตัวเอง) เริ่มจากการผลิตในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างแบรนด์ให้ตนเอง ทำให้ธุรกิจยั่งยืนระยะยาว
-
ยิงแอดแทบตาย ยอดขายไม่ปัง
ร้านค้าออนไลน์ 23% มองว่าการโฆษณาทางออนไลน์ที่ลงทุนไปได้ผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เนื่องจากไม่ได้ยอดขายสินค้ากลับมา และไม่ได้สร้างการรับรู้ของร้านค้าให้มากขึ้น
วิธีแก้ปัญหาคือ ร้านค้าออนไลน์ควรวิเคราะห์และทำความรู้จักลูกค้าของตนเองอย่างลึกซึ้งรอบด้านก่อน เช่น เพศ อายุ อาชีพ สถานที่ รวมไปถึงความสนใจและรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของลูกค้า
แบ่งเวลาในการเสริมสร้างความรู้ด้านการโฆษณา ด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการเทคนิคการทำโฆษณาออนไลน์ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการทราบถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น จะทำให้การโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้นทุนต่ำลง
-
สต็อกจ๋า ปัญหาใหญ่
89% ของร้านค้าออนไลน์ มีการขายสินค้าผ่านทางออฟไลน์ด้วย และทั้งหมดของกลุ่มนี้ ขายสินค้าออนไลน์มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม
37% มีปัญหาการบริหารสต็อก ทำให้สูญเสียโอกาสการขาย เสียพื้นที่โกดังเก็บของ เพิ่มต้นทุน และเงินทุนจม
วิธีแก้ปัญหาคือ ควรมีระบบสต็อกสินค้าที่ชัดเจน มีการอัพเดทตลอดเวลา และควรเก็บข้อมูลสต็อกไว้ในที่เดียว หรือใช้โปรแกรมหรือระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อช่วยการบริหารสต็อกก็จะสามารถบริหารจัดการสต็อกมากขึ้น
-
จะส่งของให้ลูกค้า ยังต้องลุ้น
84% ร้านค้าออนไลน์ เคยประสบปัญหาในการจัดส่งสินค้า อาทิ สินค้าเสียหาย ส่งสินค้าล่าช้า ส่งสินค้าผิดที่ ลูกค้าปฏิเสธการรับสินค้า หรือลูกค้าคืนสินค้าหลังจากได้รับสินค้าแล้ว
ปัญหาเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลก่อนการส่ง การเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่ง ระหว่างการขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบ และรับสินค้า
วิธีแก้ปัญหาคือการทำระบบ การแปะรหัส ตรวจสอบสินค้าก่อนการส่ง และดูแลการบรรจุสินค้าอย่างแน่นหนาหรือเลือกใช้บริการ Pick & pack เพื่อลดขั้นตอนการทำงานบางส่วนออกไป เพื่อจะมีเวลาในการบริการลูกค้ามากขึ้น
ควรพิจารณาเลือกบริษัทขนส่งที่มีบริการดี น่าเชื่อถือ ก็จะช่วยลดปัญหาความไม่พึงพอใจของลูกค้าได้
-
จะร่วมเทศกาลเซลล์ทั้งที เงินน่ะมีไหม?
61% ร้านออนไลน์ต้องการเงินทุนที่เพียงพอในการเข้าร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งใหญ่ที่ทางแพลตฟอร์มจัดขึ้น ซึ่งถือเป็น ‘ช่วงเวลาทองคำ’ ที่ร้านค้าออนไลน์จะสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึง 20-100 เท่า โดยจะต้องนำเงินทุนไปใช้เพื่อสต็อกสินค้า การซื้อโฆษณา และค่าจ้างโอทีของพนักงานเฉพาะช่วงเทศกาลดังกล่าว
ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ใช้เงินทุนมาจากบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือบัตรกดเงินสด โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากำไรที่จะได้รับในช่วงนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเทศกาลเซลล์ร้านค้าต้องทำราคาให้ต่ำเพื่อดึงดูดลูกค้า จึงดูเหมือนจะไม่คุ้มค่า
วิธีแก้ปัญหาคือ ควรมีการวางแผนการเงินที่ดี และเตรียมเงินสำรองสำหรับร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งสำคัญ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาและอัตราดอกเบี้ยของเงินทุนสำรองนั้นๆ ด้วย
ที่มา – TMB
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา