TMB เปิดผลประกอบการ 9 เดือนกำไรสุทธิโต 54% หลังขายบลจ.ทหารไทย

ปีนี้ธนาคารทหารไทย หรือ TMB มีข่าวหลายอย่าง โดยเฉพาะที่หลายคนจับตามองคือ ข่าวลือการควบรวมกับธนาคารกรุงไทยที่ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เว้นซะแต่ข่าวที่ขายบลจ.ทหารไทย (TMBAM) ออกไป ซึ่งก็กลายเป็นจริง แล้วส่งผลอะไรกับผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารบ้างนะ?

ผลประกอบการ 9 เดือน TMB กำไรสุทธิโต 54% หลังขายบลจ.ทหารไทย

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB บอกว่า ผลประกอบการของธนาคาร 9 เดือนที่ผ่านมามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) อยู่ที่ 26,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยไตรมาส 3 นี้ธนาคารมีกำไรอีก 12,000 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้พิเศษจากการขายหุ้นบลจ.ทหารไทย (TMBAM) 65% ให้แก่ บริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย จำกัด เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) รวมถึงกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมอีก 35%

ทำไม TMB ต้องการบลจ.ทหารไทยออกไป?

การขายหุ้นบลจ.ทหารไทยออกไป ทำให้แบงก์สามารถเป็นหุ้นส่วนกับ “อีสท์สปริง” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกได้ ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ TMB Open Architecture ของธนาคารที่ต้องการเปิดให้ลูกค้ามีทางเลือกในการลงทุนกองทุนรวมจากหลากหลายบลจ. ซึ่งเราทำมา 4 ปีแล้ว

ล่าสุด TMB เพิ่มกองทุนรวมจาก บลจ.กรุงไทย มาให้ลูกค้าเลือก ทำให้ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกซื้อกองทุนรวมได้จาก 9 บลจ.ชั้นนำ

ภาพจาก shutterstock

แล้วภาพรวมธุรกิจของ TMB 9 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ผลดำเนินงานหลักงวด 9 เดือน ปี 2561 แบ่งเป็น ด้านเงินฝากรวมอยู่ที่ 639,000 ล้านบาท เติบโต 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาจากฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อย เช่น เงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) ที่เติบโต 13% และเงินฝาก ME Save เติบโต 10%

ด้านสินเชื่อคุณภาพอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 3.3% ส่วนใหญ่เติบโตจากสินเชื่อรายย่อยโดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน (สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) โต 13% ส่วนสินเชื่อขนาดใหญ่ยังโตอย่างมีคุณภาพที่ 4% ส่วนสินเชื่อ SME ยังทรงตัวจากปีก่อนหน้า เพราะแบงก์ปล่อยอย่างระมัดระวัง

ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM อยู่ที่ 2.96% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 3.16% ซึ่ง NIM ที่ลดลงทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2% มาอยู่ที่ 18,263 ล้านบาท ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมชะลอลง 4% แต่มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 127% มาอยู่ที่ 20,929 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อกำไร PPOP เพิ่มขึ้นจึงมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรอบรับเกณฑ์ IFRS9 โดยปัจจุบันมี อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) อยู่ที่ 157% เพิ่มขึ้นจาก 143% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

สรุป

ผลประกอบการ 9 เดือนของ TMB ถือว่าดีมาก เพราะกำไรแบงก์เติบโตจากรายได้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นบลจ.ทหารไทยบางส่วนออกไป ซึ่งต้องจับตาดูว่าความร่วมมือกับอีสท์สปริง จะสร้างรายได้มาชดเชย รายได้ระยะยาวที่เกิดจากบมจ.ทหารไทยเดิมได้ไหม? และหลังจากนี้เรายังต้องติดตามข่าวการควบรวมระหว่าง TMB กับกรุงไทยว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะบางนักวิเคราะห์มองว่าการขายบลจ.ทหารไทย เป็นการเตรียมตัวของธนาคารที่จะควบรวมกับธนาคารกรุงไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา