ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2564 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% จากไตรมาส 4/2563 เนื่องจากค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2564 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 5,480 ล้านบาท ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ 8,237 ล้านบาทในไตรมาส 4/2563 ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อเตรียมการล่วงหน้าสำหรับปี 2564
ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 นี้ โดยรวมยังคงมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธนาคารจึงเน้นการเติบโตธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อที่ต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งแม้อาจทำให้เห็นแรงกดดันต่อรายได้ดอกเบี้ย แต่ที่สำคัญกว่าคือการไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับงบดุลหรือคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในสภาพแวดล้อมเช่นนี้
การมีวินัยด้านค่าใช้จ่ายถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมาถือว่าทีเอ็มบีและธนชาตสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดีแม้ว่าจะอยู่ระหว่างการดำเนินงานของการรวมกิจการ (Integration) ทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ในกรอบเป้าหมายมาโดยตลอดนับตั้งแต่รวมกิจการ
ในส่วนของสถานการณ์ด้านโควิด-19 นั้น ลูกค้าธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา เห็นได้จากสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือที่ทยอยปรับตัวลดลงเป็นลำดับ จากเริ่มแรกที่ประมาณ 40% ของสินเชื่อรวม มาอยู่ที่ 14% ณ สิ้นไตรมาส 1/2564 โดยจากการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด พบว่าลูกค้าที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือยังคงมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ ส่วนใหญ่เพียงแค่ขอให้ธนาคารช่วยปรับรูปแบบการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของลูกค้าในช่วงที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้การระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนอาจส่งผลกระทบในระยะถัดไป แต่มองว่า ทีเอ็มบีและธนชาต รวมถึงธนาคารไทยแห่งอื่น ๆ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นฐานเงินทุน สภาพคล่อง หรือความสามารถในการรองรับความเสี่ยง อีกทั้งในปีที่แล้วแต่ละธนาคารก็ได้ดำเนินการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อเตรียมรับแนวโน้มสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564
อีกประการสำคัญคือมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการล่าสุด ซึ่งได้แก่ โครงการโกดังพักหนี้และสินเชื่อฟื้นฟู ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ช่วยต่อเวลาและเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้าที่ยังมีศักยภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังช่วยลดผลกระทบต่อธนาคารด้านการตั้งสำรองฯ และช่วยให้การจัดการคุณภาพสินทรัพย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากปัจจัยทั้งสองส่วน ทั้งความแข็งแกร่งของธนาคารเองและกลไกจากภาครัฐ จึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมธนาคารไทยมีความพร้อมที่จะรับมือและให้ความช่วยเหลือลูกค้าภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวเพื่อกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 มีดังนี้ เงินฝากอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จากสิ้นปี 2563 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามการปรับโครงสร้างเงินฝากหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เงินฝาก All Free และเงินฝาก No Fixed ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
เงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ลดลง 0.9% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นไปตามแผนของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งถึงแม้จะมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่ก็ช่วยจำกัดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยนั้น แม้ว่าการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการจะส่งผลให้ต้นทุนเงินฝากปรับตัวลดลง แต่จากแนวทางการปล่อยสินเชื่อข้างต้นและภาวะดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ลดลงมาอยู่ที่ 3.00% เทียบกับ 3.06% ในไตรมาสที่แล้ว และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 12,872 ล้านบาท หรือลดลง 4.8% จากไตรมาสก่อน
รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 3,032 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 2.1% จากไตรมาสก่อน หนุนโดยรายได้ค่าธรรมเนียมการขายกองทุนจากการเปิดตัวกองทุนใหม่และภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ดี รายได้จากการขายประกันชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วง High season ประกอบกับธนาคารได้มีการทยอยขายเงินลงทุนออกไปเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้และรับรู้กำไรจากการขายไปแล้วในไตรมาสก่อน ๆ จึงทำให้การรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนในไตรมาสนี้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทำให้โดยรวมธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ลดลง 7.6% จากไตรมาสก่อน
ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น ธนาคารยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี แม้จะมีกิจกรรม Integration และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นครั้งเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับการรวมกิจการ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 7,928 ล้านบาท ลดลง 2.0% จากไตรมาสที่แล้ว และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 47% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ 47%-49%
จากรายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,898 ล้านบาท ลดลง 9.3% สะท้อนให้เห็นผลจากการเติบโตธุรกิจอย่างระมัดระวังท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ ลดลง 33.5% มาอยู่ที่ 5,480 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสุทธิ 2,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125.3% จากไตรมาส 4/2563
ด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทั้งที่มาจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้และจากแนวโน้มการแก้หนี้ที่คาดว่าทำได้ช้าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2564 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.75% เทียบกับ 2.50% ในไตรมาสก่อน ยังคงต่ำกว่ากรอบประมาณการที่ระดับไม่เกิน 3.6% ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อคุณภาพย่อตัวลงมาอยู่ที่ 124% จาก 131% ในไตรมาสก่อน แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
สำหรับความเพียงพอของเงินกองทุนก็ยังอยู่ในระดับสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) อยู่ที่ 19.5% และ 15.5% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ
ปิติ กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับแผนรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต ยังคงเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ไม่กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการรวมธนาคารจะเสร็จสิ้นได้ตามกำหนดภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แน่นอน พร้อมย้ำเดินหน้าวางเป้าหมายสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา