ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี แต่ทั้งปี 2019 นี้จะเป็นอย่างไร ทำไมนักวิเคราะห์มองว่า GDP ไทยเหลือ 2.7% ส่งออกติดลบ ไหนธปท.จะลดดอกเบี้ยอีก?
เศรษฐกิจไทยปี 2019 โตต่ำ 3% คาดส่งออกติดลบ 2.7%
นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics บอกว่า ทางศูนย์ฯ คาดการณ์ปี 2019 นี้เศรษฐกิจไทยเติบโตเหลือ 2.7% จากเดิมมองที่ระดับ 3.0% สาเหตุเพราะตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีแรกแย่กว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด
ทั้งนี้มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าทำให้การส่งออกยังติดลบที่ 2.7% โดยตลาดส่งออกสำคัญน่าจะหดตัวได้แก่ จีนติดลบ 5.5% อาเซียนติดลบ 4% ยุโรปติดลบ 2.7%
หลังจากนี้ต้องจับตาการเจรจาสงครามการค้า หากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนที่อัตรา 25% จากทุกประเทศ(มาตรา 232) ในเดือนพ.ย.จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งส่วนของไทยคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด สอดคล้องกับที่ IMF ปรับประมาณการการค้าโลกลงจาก 3.4% เหลือเพียง 2.5% นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกได้เร็วในปีนี้
ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปี 2019 นี้คาดว่าจะโตเพียง 2% มาอยู่ที่ 39.1 ล้านคน ชะลอลงมากจากปี 61 ที่ขยายตัว 7.5% ปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเงินบาทแข็งขึ้น 10% ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการลงทุนภาครัฐ ยังชะลอตัวกว่าที่คาดเพราะต้องรองบประมาณปี 2020 ทำให้การเบิกจ่ายน่าจะอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะในส่วนรัฐวิสาหกิจ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนครึ่งปีหลังน่าจะไม่เติบโต ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 1.8% เครื่องยนต์สำคัญของไทยยังคงเป็นการบริโภคภาคเอกชนที่ปีนี้จะเติบโต 3.8% สุดท้ายทาง TMB Analytics ยังหวังว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโต 3%
ลุ้นครึ่งปีหลังธปท. ลดดอกเบี้ย-ค่าเงินบาทแข็งค่า
ทั้งนี้ทาง TMB Analytics คาด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และอาจลดได้อีก 1 ครั้ง ถ้าเศรษฐกิจแย่กว่าคาดและเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
ด้านค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่า 6% โดยธปท.หั่นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ในเดือนส.ค. แต่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 30.83-30.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อย
อย่างไรก็ดีดุลการค้าของไทยที่คาดว่าจะยังเป็นบวกถึงแม้ว่าส่งออกจะโตติดลบ การท่องเที่ยวที่แม้ชะลอแต่ยังขยายตัวได้ และกระแสเงินทุนที่มียังมีแนวโน้มเป็นไหลเข้าสุทธิจะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา