TMB Analytics ชี้ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติไทยก็คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เพราะอะไร?

ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ทางธนาคารกลางของประเทศนั้น จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนนำเงินออกมาลงทุนมากกว่าเก็บออมไว้ ตรงกับปี 2019 นี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้เศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกเติบโตช้าลง บางประเทศเลือกที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือธนาคารกลางหลักของโลกอย่างธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร?

Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ – ภาพจาก Federal Reserve

TMB Analytics ชี้ FED เตรียมลดดอกเบี้ยในเดือนก.ค. 2019 นี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps (ราว 0.25%) ในการประชุมวันที่ 31 ก.ค. 2019 นี้เพราะ Jerome Powell ประธาน FED ที่แถลงการณ์ในนามของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น

ทั้งนี้ Jerome บอกว่า ความเสี่ยงจากภายนอกโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยภายในไปแล้ว และตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงกลางปี 2019 นี้ปริมาณการค้าโลกและดัชนี manufacturing PMI ของโลก ปัจจุบันการเติบโตติดลบ

ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐ ประธาน FED มองว่ามีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนถาวรภาคธุรกิจ การลงทุนในที่อยู่อาศัย และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาว 2% อย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6%)

เปิดสาเหตุธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามเทรนด์โลก

TMB Analytics มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า ทางกนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปที่ 1.75% สาเหตุเพราะธปท.มีเครื่องมืออื่นๆ ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ เช่น วันที่ 22 ก.ค.2019 ธปท.​ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาการเก็งกำไรและการแข็งค่าของค่าเงินบาท และภายใน 5 วันหลังจากนั้นเกิดกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสุทธิ 8,225 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.48%

ดังนั้นแม้ว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะเพิ่มความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นในระยะยาว

สรุป

แม้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว แต่ไทยก็ต้องดูบริบท และความเสี่ยงภายในประเทศไทยเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา