ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยค่อนข้างเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปี 2024 GDP ไทยอาจจะโตเพียง 3% แต่อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย จะเติบโต 5% และเวียดนามจะเติบโต 6% ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนเรื่องความท้าทายในการสร้างให้ประเทศไทยกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน
ยิ่งสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ AI ที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาในหลักนาที การจะสร้างบุคลากรให้มีทักษะใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับประเทศไทยก็ยากขึ้นไปอีก รวมถึงการจะพัฒนา AI ของประเทศไทยเองก็คงไม่ใช่เรื่องที่สมควรแก่เวลานัก
จากความท้าทายเหล่านี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จึงจัดเวทีสัมมนาหัวข้อ Buliding a Competitive Nation ที่รวมนักคิด นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อชี้หนทางของการสร้างให้ประเทศไทยกลับมาเป็นประเทศที่แข่งขันในระดับโลกได้อีกครั้งดังนี้
นโยบายที่ชัดเจน และต่อเนื่องคือเรื่องจำเป็น
Omar Toulan ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการจัดการระหว่างประเทศ และคณบดีโปรแกรม MBA ที่ IMD เล่าให้ฟังว่า โครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิม และที่เกี่ยวกับดิจิทัลจำเป็นต้องมีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง เช่น การขนส่ง และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่าง ๆ
ขณะเดียวกันการสร้างทักษะแรงงานที่มีคุณภาพเป็นอีกจุดสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้ประเทศไทยแข่งขันในระดับโลกได้ และปัจจุบันเริ่มมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น บางประเทศมีอัตราผู้จบสายอาชีพ (อาชีวะ) มากกว่าสายสามัญ (อุดมศึกษา) ช่วยสร้างงานกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้การมีเสถียรภาพของตลาดการเงินคืออีกเรื่องที่ต้องมีการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับความง่ายในการทำธุรกิจ ย่อมทำให้เกิดองค์กรธุรกิจใหม่ ๆ ในการช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน
“การสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในทันที แต่ต้องใช้เวลาและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง” Omar Toulan ย้ำ และสามารถสรุปเป็น 4 หัวข้อที่จะช่วยให้ไทยมีประสิทธิภาพในการแข่งขันคือ โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงาน เสถียรภาพของสถาบันการเงิน และความง่ายในการทำธุรกิจ
สร้าง S-Curve ใหม่ ๆ แต่ต้องไม่หว่านเกินไป
นิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เสริมว่า ด้วยประเทศไทยไม่มี S-Curve ใหม่ ๆ และมีความเป็นประเทศเกษตรกรผ่านการมีประชากรกว่า 30-40 ล้านคน อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกทำได้ยาก
“เจาะที่ S-Curve ใหม่ ๆ ที่ไทยพยายามเดินหน้านโยบายผลักดัน ผมมองว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจจะดูกว้างเกินไป ควรทำแค่บางอุตสาหกรรม หรือลดจำนวนเพื่อเพิ่มความจริงจัง และผลักดันให้เกิดธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยได้ในอนาคต”
ตัวอย่างที่ไทยน่าจะขับเคลื่อน เช่น ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนของหลากหลายแบรนด์ และเมื่อเป็นแบบนี้ โอกาสที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งมีธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ติดที่แค่จำนวนแบตเตอรี่ในประเทศอาจไม่พอที่จะขยายธุรกิจนี้ให้เติบโต
ยิ่งการมีปัญหาในมุมกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อหลายปีก่อน โอกาสการสร้างธุรกิจดังกล่าวยิ่งหายไป การแก้กฎหมายจึงอาจเป็นทางออกสำคัญในการสร้าง S-Curve ใหม่ ๆ ให้เศรษฐกิจไทยด้วย ยิ่งถ้ามีการสนับสนุนในมุมบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา (R&D) ยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตเช่นกัน
ฝั่งธนาคารย้ำทุกฝ่ายต้องเติบโตไปด้วยกัน
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า ด้วยยุคนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในมุมเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยให้แต่ละฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน
“เรามีสาขา และบริการที่เข้าถึงผู้คนในหลายท้องที่ รวมถึงการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ และบริการให้ช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศไทย และระดับโลก แต่แค่เราคงไม่พอ เพราะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็จำเป็นในการเติบโตเช่นกัน”
ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เสริมว่า อยากให้มองการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ในไทยเป็นเหมือนการโต้คลื่น กล่าวคือการจะโต้คลื่นอย่างปลอดภัยก็ต้องมี Coast Guard (ยามชายฝั่ง) และ Light House (ประภาคาร) ซึ่งในที่นี้คือรัฐบาลที่ช่วยออกกฎเกณฑ์มาคุ้มครอง และคอยสนับสนุนให้ออกไปโต้คลื่นได้
ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องสร้าง Sharing Economy เพื่อแก้ไขการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเป็นแบบ K-Shape หรือรวยก็รวยขึ้น ส่วนจนก็จนกว่าเดิมให้หายไป ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับองค์กรที่แข็งแกร่งที่ยอมมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือองค์กรที่กำลังอ่อนแอกว่าเป็นต้น
นักคิดมอง ทุนปัญญา คือสิ่งที่ต้องเข้าถึง
ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ViaLink เล่าให้ฟังว่า เมื่อ AI ถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และแทบไม่เหลือกำแพงในการใช้งาน ทำให้การเข้าถึง ทุนปัญญา (Intellectual Capital) กลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคู่แข่งของชาติเข้าถึงได้ และนำมาสร้างบริการ หรือผลิตภัณฑ์ได้เร็วกว่า ทำให้คู่เปรียบของไทยดูเหนือกว่ามาก
“ไทยไม่ได้โตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดมานานมากแล้ว แต่ในโลกมันไปเร็วมาก เช่น AI พัฒนาเร็วระดับวัน ถ้าไทยอยากจะ Future Readiness หลายปัญหาก็แก้ยากกว่าเดิม เพราะเราต้องใช้คนเท่าเดิม หรืออาจน้อยกว่าเดิม แต่ผลิตผลต้องมากขึ้น ดังนั้นมันต้องใช้เทคให้มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย”
ส่วน สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสริมว่า Care Economy หรือเศรษฐกิจใส่ใจ คืออีกวิธีในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้แข่งขันได้ เช่น การให้ความสำคัญกับ Medical Care, Preventive Care เรื่องโภชนาการ และอื่น ๆ
“Care Economy ช่วยให้เราเติบโตอย่างยั่งยืนได้ แต่แค่นั้นคงไม่พอ ไทยต้อง Connect กับโลก เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น ถึงโตมาก เราก็ยังเล็กอยู่ดี ดังนั้นการขี่เทรนด์โลก รวมถึงดึงบริษัทชั้นนำจากต่างชาติเข้ามา คืออีกเรื่องที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้หลังจากนี้”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา