กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2567 พบว่า มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3%YoY เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักอย่างหุ้น-ประกันที่ลดลง ส่วนสินเชื่อรวมโตเพียง 0.2% QoQ จากงบฯ พบว่าสินเชื่อที่หดตัวได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน ส่วนหนี้เสียและตั้งสํารองหนี้ยังเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้
ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในกลุ่มธุรกิจหลักชะลอตัวลง ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ ลดลง 33.5%เพราะถูกกดดันจากภาวะตลาดทุนที่ยังไม่ฟื้น และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลง 2.5% ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินยังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง และคาดว่าจะถูกกดดันต่อตลอดทั้งปี
(ณ ไตรมาส 4/66 กำไรสุทธิลดลง 1.4%YoY)
ขณะที่ ด้านสินเชื่อรวมอยู่ที่ 235,218 ล้านบาท ขยายตัวที่ 0.2% จากสิ้นปีก่อนหน้า (QoQ) โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงติดตามและดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบาง โดยแบ่งเป็น
- สินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 160,142.43 ล้านบาท ลดลง 1.3%QoQ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อลดลง 2.0%QoQ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหดตัว 4.8%QoQ โดยหันมามุ่งเน้น สินเชื่อรายย่อยในกลุ่มให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้”
- สินเชื่อธุรกิจมีจำนวน 60,011.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8%QoQ
- สินเฃื่อ SME มีจำนวน 15,063.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4%QoQ
ส่วนหนี้เสีย หรือ NPL ไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่ามีจำนวน 5,341.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3%QoQ ส่วนใหญ่เกิดจากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบบแทนสูง และปัจจัยทางเศรษฐกิจรวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบาง ทำให้มีการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุมมีระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 177.8% บริษัทเพิ่มระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มาอยู่ที่ 0.5% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2567 นี้กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3% (ลดลงครั้งก่อนที่คาดไว้ 3.5%) โดยเป็นการทยอยฟื้นตัวแบบ “ต้นร้าย-ปลายดี” ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่คาดว่าจะทำได้ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีแนวโน้มปรับลดลงในครึ่งหลังของปี และจะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้ในที่สุด
ดังนั้น ในปี 2567 นี้ ทิสโก้จะยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งการให้ความรู้ทางการเงิน ขณะที่กลุ่มธุรกิจบรรษัท จะมุ่งให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน การสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ผลประกอบการของธนาคารฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 (ณ 31 มี.ค. 67) มีจุดสำคัญดังนี้
- กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,733.02 ล้านบาท ลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3,395.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
(ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ: NIM อยู่ที่ 4.76% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4.88%) - รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 1,307.20 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อยู่ที่ 2,262.77 ล้านบาท ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 5,341.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.27% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 ที่อยู่ระดับ 2.22%
ทั้งนี้ ทางธนาคารมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.9% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.7% และ 2.1% ตามลำดับ
ที่มา กลุ่มทิสโก้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา