เมื่อค่ายใหญ่อย่างทิพยประกันภัย จับมือกับ Startup อะไรจะเกิดขึ้น?

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อบมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) ที่เข้าร่วมโครงการของภาครัฐบ่อยๆ เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ขายประกันภัยในธนาคารออมสิน โครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกครู (ชพค.) ฯลฯ

แต่เมื่อโลกปลี่ยน ธุรกิจประกันก็เปลี่ยน เบี้ยหลักอย่างประกันภัยรายใหญ่ (ก่อสร้าง) ปรับลดลงตามราคาโลก ทำให้บริษัทต้องหันมาเน้นธุรกิจรายย่อย ในฐานลูกค้าทั่วไปมากขึ้น ล่าสุดเลยจับมือกับ Startup ใช้ดิจิตอลหาทางออกให้ธุรกิจ

เมื่อเบี้ยรายใหญ่ชะลอตัว TIP จับมือ Startup สร้างฐานลูกค้ารายย่อย

สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) บอกว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเบี้ยประกันจากธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงตามราคาโลก ส่งผลให้บริษัทหันมาเน้นฐานลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ล่าสุดเปิดตัวโครงการ TIP Gateway, powered by Acrosure ซึ่งทำเรื่อง Insurance API Gateway หรือระบบการเชื่อมต่อกับบริษัทประกันภัยที่จะเปิดให้ Startup ทำงานกับบริษัทได้ง่ายขึ้น

จุดเด่นคือ Acrosure เป็น Startup ที่ทิพยประกันภัยลงทุนไว้ จะเป็นคนดูแลโครงการนี้ทั้งหมด ซึ่งเเมื่อ Startup เชื่อมต่อใน TIP Gateway, powered by Acrosure บริษัทจะสามารถเชื่อมต่อในแอพพลิเคชั่น หรือเครือข่ายนั้นๆ เพื่อสร้างและเสนอขายประกันภัยให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งเรื่องความคุ้มครอง ราคาพิเศษ บริการที่ดีขึ้น ฯลฯ ปัจจุบันมี Startup เข้าร่วมโครงการนี้ 5 บริษัทได้แก่

  • BUILK บริษัทให้บริการระบบริหารธุรกิจก่อสร้างฟรี และจะเปิดให้ผู้รับเหมาในแอพฯกว่า 50,000 รายสามารถซื้อประกันก่อสร้างได้จากในแอพฯ
  • SHIPPOP บริษัทให้บริการส่งพัสดุ จะเพิ่มบริการประกันขนส่งสินค้าแบบรายเที่ยว
  • Tourkrub ศูนย์รวมแพ็คเกจทัวร์ต่างประเทศ จะเพิ่มบริการประกันท่องเที่ยวให้ลูกค้า
  • Drivemate ผู้ให้บริการรถเช่า จะมีบริการประกันรถให้กับผู้เช่า
  • Cleverse เปิดตัวระบบซื้อผลิตภัณฑ์ของทิพยประกันภัยผ่าน LINE นอกจากใช้งานง่ายขึ้นยังสามารถออกกรมธรรม์ได้ในทันที

“ในยุคดิจิตอล ถ้าเราจะทำเรื่องเทคโนโลยีด้วยตัวเองให้เร็วคงยาก ดังนั้นเราเลยร่วมมือกับ Strategic Partner เหล่านี้เพื่อพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีให้เร็วขึ้น ผ่านการ VC หรือ Venture Captital โดยตั้งงบไว้ปีละ 100 ล้านบาท แต่เราจะไม่เข้าไปเปลี่ยนการทำงานของ Startup เราจะสนับสนุนอยู่ข้างหลัง”

ส่วนปีนี้เราเปิดตัวช่องทางการขายคู่ค้า ซึ่งจะร่วมมือกับ พาร์ทเนอร์ขนาดใหญ่ เช่น Amezon PTT Blue Card ฯลฯ ที่เขามีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และช่วยให้เราเข้าถึงฐานลูกค้าได้มากขึ้น ปีนี้มีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์อีก 3-4 เจ้า คาดว่าปี  2562 จะเห็นความชัดเจนและมีคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จะมีคู่ค้าเพิ่มอีกประมาณ 6 ราย

ต่อยอดแผนงาน Digital ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี เบี้ยต้องแตะ 1,000 ล้านบาท

ส่วนแผนงานใหญ่ของบริษัทด้านดิจิตอล ภายใน 5 ปี (2560-2564) คาดว่าเบี้ยประกันภัยจากช่องทางดิจิตอลทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 200 ล้านบาท อนาคตเบี้ยประกันส่วนใหญ่จะมาจาก ประกันรถยนต์กว่า 70% แต่มีผลิตภัณฑ์รายย่อยอื่นๆ เช่น ประกันที่อยู่อาศัย ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการเดินทาง ฯลฯ

ที่สำคัญปีนี้เรายังเปิดสายงานใหม่ที่ชื่อว่า Digital Insurance & IT เพื่อดูภาพรวมว่าต้องทำอะไรอีกบ้างให้ไปถึงเป้าหมาย

สรุป

ธุรกิจประกันภัยหันมาเน้นลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลในพอร์ทตัวเอง ด้านบมจ.ทิพยประกันภัย เลยต้องเร่งเครื่องพัฒนาเทคโนโลยี และช่องทางดิจิตอลมาเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ แต่จะทำเองทั้งหมดไม่ได้เลยต้องร่วมกับ Startup ในหลายด้านเพื่อสร้างแบบประกันใหม่ให้ตรงใจลูกค้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา