มูลค่ากิจการไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีความสำเร็จเสมอไป เมื่อ Tink Labs สตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวแรกของฮ่องกงที่ระดมทุนได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าล่าสุด เตรียมปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน แถมบางคนก็ไม่ได้รับเงินเดือน เรียกง่ายๆ ว่า “เจ๊ง” แล้วนั่นเอง
ก่อนจะเข้าเรื่อง “เจ๊ง” ทำความรู้จักสตาร์ทอัพรายนี้กันก่อน
Tink Labs คือบริษัทฮ่องกงที่ก่อตั้งในปี 2012 ซึ่งผู้ก่อตั้งและซีอีโอคือ Terence Kwok
ธุรกิจหลักของ Tink Labs ที่ทำให้เติบโตจนขึ้นเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกของฮ่องกงคือการให้บริการ handy ซึ่งเป็นบริการสมาร์ทโฟนในห้องพักของโรมแรมชั้นนำหลายแห่งในกว่า 82 ประเทศทั่วโลก
Tink Labs มีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทเทคโนโลยีหลายแบรนด์ ได้แก่ Foxconn Technology Group, SoftBank Corp, Meitu Inc. ซึ่งมูลค่ากิจการของ Tink Labs สูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยเมื่อปลายปี 2018 ระดมทุนไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์ และก่อนหน้านี้ก็ระดมทุนไปกว่า 160 ล้านดอลลาร์
ธุรกิจไปได้สวยมาสักระยะ จนขึ้นแท่นเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น แถมยังระดมทุนไปได้เยอะ แต่สุดท้ายก็เจ๊งไม่เป็นท่า โดย Financial Times รายงานว่า Tink Labs เตรียมปิดกิจการเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
เจ๊ง แยกบริษัท ปรับโครงสร้าง เลิกจ้าง แถมจ่ายเงินเดือนไม่ตรง
ปัจจุบันธุรกิจส่วน handy หรือที่ให้บริการสมาร์ทโฟนในห้องพักของโรมแรมไปไม่ไหว ล่าสุด Tink Labs ออกมาประกาศว่าจะหยุดให้บริการสมาร์ทโฟนในห้องพักของโรมแรมในหลายแห่งทั่วโลก ได้แก่ จีน เดนมาร์ก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้
แต่ดูเหมือนว่าจะมีการแยกบริษัทออกมาอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า Blockone เพื่อให้บริการ handy ในบางพื้นที่ต่อไป เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ และบางแห่งในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม สถานะของ Tink Labs และ Blockone ยังคงไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Tink Labs ได้ปลดพนักงานออกจำนวนมาก แหล่งข่าวระบุว่าเลิกจ้างเกือบทั้งหมดของบริษัท นอกจากนั้น พนักบางส่วนของ Tink Labs ที่ทำงานในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และไต้หวันก็ไม่ได้รับเงินเดือนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งซีอีโอของ Tink Labs ให้สัมภาษณ์เพียงว่าจะทำการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่
สิ่งที่น่าคิดคือ บริษัทที่ให้บริการให้ยืมสมาร์ทโฟนฟรีในห้องพักของโรงแรมจะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนพร้อมทั้งอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศก็ไม่ได้มีราคาแพงเกินเอื้อมอีกต่อไปแล้ว
ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาของสตาร์ทอัพที่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่า มูลค่ากิจการหรือ Valuation ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันความสำเร็จเสมอไป เพราะแม้จะมีมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์ ขึ้นแท่นเป็นยูนิคอร์น แต่หากรูปแบบธุรกิจไม่ตอบโจทย์ตลาดในระยะยาวก็ไปไม่รอดเช่นกัน
ข้อมูล – South China Morning Post, Deal Street Asia, Financial Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา