จาก “AEC” สู่ “Startup” ขออย่าเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง

สองสามปีก่อน ในวงการธุรกิจทุกคนจะต้องพูดถึงกระแสของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นสิ้นปี 2558 ช่วงเวลานั้นทั้งภาครัฐและเอกชนต่างโหม (หรือโหน?) กระแส AEC กันยกใหญ่ (ช่วงนั้นงานสัมนา AEC เยอะมาก สื่อก็ต้องเปิดพื้นที่ให้) จนกระทั่งกระแสเริ่มซาลง และเริ่มกระแสใหม่นั่นคือธุรกิจ Startup ที่มาแรงในช่วงปีที่ผ่านมา

อาจจะมองว่าไม่แปลกอะไรที่ภาครัฐและเอกชนต้องตามกระแสของโลกให้ทัน แต่สิ่งที่น่ากังวลคืออาจเป็นเพียงการทำเพียงแค่ “โหนกระแส” โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่การจุดไฟให้ลุกพรืออย่างรวดเร็ว และดับไปอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายก็กลับเข้าวงจรเดิมๆของภาคเศรษฐกิจไทยนั่นคือ เอกชนวิ่งนำภาครัฐ เสมอ

ขอยกตัวอย่างกระแส AEC เมื่อหลายปีก่อน ประเทศไทยได้ชื่อว่าประชาชน “รู้จัก” คำว่า AEC มากที่สุด ประเทศหนึ่งในอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นเพียงแค่รู้จัก แต่ “ไม่เข้าใจ” ความหมายที่แท้จริงเท่าไรนัก เห็นได้จากวาทะกรรมต่างๆที่เคยออกมาอย่างเช่น แรงงานต่างชาติจะเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย (ทั้งที่จริงเข้ามานานแล้ว แต่ทำในอาชีพที่คนไทยไม่ทำ) และที่เข้าใจผิดมากที่สุดคือใช้คำว่า AEC เรียกแทน ประชาคมอาเซียน ทั้งหมด ทั้งที่จริงแล้วมีความหมายแค่เชิงเศรษฐกิจ (แต่ก็นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการตลาดเท่านั้น)

ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ คงจะคล้ายกับการที่เรียกธุรกิจขนาดเล็กว่าเป็น Startup ทั้งหมด ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่ (บางสื่อเรียกร้านกาแฟว่าเป็น Startup ด้วยซ้ำ) แต่เพราะเป็นคำที่ใช้ในการตลาดได้ จึงถูกนำมาเรียกกันผิดๆ
ย้อนกลับไปยุครุ่งเรืองของการใช้คำว่า AEC ก่อนหน้าที่ภาครัฐจะเข้ามาจับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาคเอกชนไทยได้เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนกันก่อนหน้านานแล้วหลายสิบปี อย่างธนาคารกรุงเทพ ปตท. เอสซีจี ฯลฯ หรือแม้แต่เอสเอ็มอีอย่าง แบล็คแคนยอน พวกเขาไม่เคยรู้จักคำว่า AEC มาก่อนด้วยซ้ำ แต่เข้าไปเพราะโอกาสทางธุรกิจ
ประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ก็ไม่เคยสนใจคำว่า AEC เพราะแนวคิดการทำธุรกิจของเขาไปไกลกว่าระดับเอเชียนานมากแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาคเอกชน (ถูกจุดบ้าง ปิดจุดบ้าง)

สิ่งที่ผมสงสัยคือ พอก้าวผ่านปี 2558 ซึ่งกำหนดเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว กระแสของ AEC กลับหายไปเอาดื้อๆ แล้วหันมาจุดกระแสเทคโนโลยีกับ Startup แทน (อย่างสมัยก่อนธนาคารต้องจัดงานเสวนา AEC ตอนนี้มาเป็นเรื่องเทคโนโลยีแทน) ทั้งที่จริงแล้วการถึงปี 2558 มันไม่ใช่ “เส้นชัย” แต่เป็น “จุดเริ่มต้นเชิงสัญลักษณ์” ของความร่วมมือในภูมิภาคเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการไปเปิดตลาด AEC จะหมดไป แต่กลับกลายเป็นกระแส AEC เงียบไป จนทุกวันนี้แทบไม่มีใครพูดถึงกันแล้ว แต่ผู้ประกอบการตัวจริงเขาคงไม่สนใจ เพราะทำมาก่อนแล้วและไม่ได้ตามกระแส

ภาพจาก Startup Thailand

Startup ก็เช่นกัน ผู้ที่ทำมาก่อนก็ไม่มีใครมาคิดว่ากระแสของมันในประเทศไทยจะมาแรง แต่ทำเพราะเทคโนโลยีเป็นกระแสหลักของโลกที่กำลังเติบโตเร็ว และไม่ได้ต้องทำเพราะรัฐบาลประกาศสนับสนุน (ตรงจุดบ้างไม่ตรงจุดบ้าง) และมั่นใจได้ว่าผู้ที่ต้องการทำ Startup จริงๆ เขาก็ยังจะทำต่อแน่นอน แม้ว่ารัฐบาลจะหยุดสนับสนุนตามกระแสแล้วก็ตาม ห่วงแต่ผู้ประกอบการที่หันมาทำเพราะกระแส ไม่ได้ดูถึงความสามารถของตนเอง รวมถึง Mindset ในการทำ Startup ที่ถูกต้องหรือไม่ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือขอแค่เกาะกระแสไป

บทสรุปคือ ผมไม่อยากให้ Startup เป็นเพียงกระแสที่มาแรงและหายไปอย่างรวดเร็วเหมือน AEC แม้ผู้ประกอบการตัวจริงจะไม่สนใจกระแสก็ตาม ไม่เช่นนั้นทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจของเราก็จะเป๋ไปเป๋มา ไร้ทิศทาง อย่างมาเลเซียเขาตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกมุสลิม สิงคโปร์อยากจะเป็นฮับฟินเทค แต่ประเทศไทยนอกจากชื่อแคมเปญ Thailand 4.0 แล้วดูเหมือนยังไม่ชัดเจนเลยว่าจะพัฒนาอะไรกันแน่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT