TikTok เป็น LinkedIn แหล่งใหม่ของ Gen Z ชอบคอนเทนต์ประสบการณ์ทำงานแบบเรียล ๆ

เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z กำลังเริ่มเข้ามาสู่โลกการทำงาน รูปร่างหน้าตาของวัฒนธรรมการทำงานก็เปลี่ยนไป อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น อย่างล่าสุด คนรุ่นใหม่อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกากลับมองหาคำแนะนำเรื่องทำงานบน TikTok แทนที่จะเป็น LinkedIn

ครีเอเตอร์สายแชร์ประสบการณ์ทำงานก็มีกันอยู่หลายคนที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น Lauren Spearman ที่ออกมาพูดถึงสัญญาณอันตรายหรือ Red Flag ของโพสต์รับสมัครงาน Kennie Bukky ที่มาแชร์เส้นทางการเพิ่มเงินเดือนแถมวิธีในการต่อรองกับบริษัท รวมทั้ง Brittany Peatsch ที่โด่งดัังจากวิดีโอที่อัดขณะถูกปลดออกจากบริษัท Cloudfare

บน TikTok จะมีแฮชแท็ก CareerTok ที่เป็นแหล่งรวมคำแนะนำและคอนเทนต์เรื่องงาน ปัจจุบันมียอดผู้ชมมากกว่า 2,000 ล้านครั้งแล้ว ซึ่งเจ้าของวิดีโอก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงานออฟฟิศวัย 30 ต้น ๆ ที่มาเปิดใจเล่าความผิดพลาดในการทำงานให้ฟัง ไปจนถึงวิดีโอของกลุ่ม Gen Z เอง

จากความเชื่อมั่นของกลุ่ม Gen Z ที่มีต่อคอนเทนต์เรื่องงานบน TikTok เป็นไปได้ว่าอาชีพที่ปรึกษาด้านอาชีพบนโซเชียลมีเดียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นคนที่เกิดในช่วงปี 1997-2012 มีสัดส่วนเป็น 27% ของคนทำงานของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ในปี 2025

ปัจจัยหลักที่ทำให้ TikTok กลายเป็นเสมือน LinkedIn แหล่งใหม่มาจากที่ Gen Z ต้องการความโปร่งใสในการทำงาน และการแชร์คลิปเหล่านี้ก็กลายเป็นการตรวจสอบบริษัทไปด้วยในตัว และยังช่วยสะท้อนความคาดหวังของคนทำงาน

หลายครั้งคอนเทนต์บน TikTok ทำให้บริษัทมีปฏิกิริยาตอบรับและปรับเปลี่ยน อย่างกรณีของ Brittany Peatsch ก็ทำให้ Matthew Prince ซีอีโอของ Cloudfare ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโพสต์บน Twitter ว่า การดูวิดีโอนี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวด และบริษัทจะไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแบบนี้อีกในอนาคต

Lauren Spearman เองก็ได้รับการเสนอให้ทำงานในแคมเปญการตลาดของบริษัทหนึ่ง กลายเป็นว่าครีเอเตอร์สาย CareerTok ได้รับโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น

นอกจากความโปร่งใส วิดีโอ CareerTok ยังทำให้ครีเอเตอร์และผู้ชมรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนอกเหนือจากยอดคนดูที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักพันล้าน เป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทกลับไปทบทวนว่าปฏิบัติกับพนักงานดีแล้วหรือไม่ และช่วยให้พนักงานคนอื่น ๆ ที่มาดูวิดีโอมีความมั่นใจขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ใช่ว่า CareerTok จะได้รับการตอบรับที่ดีเสมอไป อย่างคลิปแชร์ประสบการณ์ถูกปลดจาก Cloudfare ก็ได้รับคอมเมนต์เชิงลบเช่นกันที่มีคนมาแสดงความเห็นว่าเจ้าของคลิป “ยังเด็กและโง่เขลา”

มีอีกอย่างหนึ่งที่น่ากังวลกว่าคอมเมนต์จากฝั่งอนุรักษ์นิยม David Harmon ทนายความด้านการทำงานเตือนว่า คอนเทนต์บางอย่างอาจจะผิดกฎหมายเพราะละเมิดสัญญาความลับระหว่างพนักงานและบริษัทได้

ทั้งนี้ ข้อกังวลต่าง ๆ ก็คงไม่สามารถหยุดความนิยมของ CareerTok ที่เป็นพื้นที่ที่กลุ่ม Gen Z แบ่งปันและรับฟังประสบการณ์ทำงานที่บางครั้งอาจจะตรงข้ามกับความคาดหวังของกลุ่มนี้ได้ เพราะต่อให้ไม่มี TikTok กลุ่ม Gen Z ก็อาจจะหาพื้นที่ที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาบนแอปพลิเคชันอื่นอีกอยู่ดี

ที่มา – The Economist

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา