การที่ TikTok พับแผน IPO ในสหรัฐ สะท้อนชัดว่าจีนกำลังคุมเข้มบริษัทเทค แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเดียว สหรัฐก็ออกมาตรการจับตาบริษัทเทคจีนเช่นเดียวกัน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย
TikTok ถูกจับตา ต้องพับแผน IPO ในสหรัฐไปก่อน
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ต้องพับแผนระดมทุน (IPO) ในตลาดหุ้นสหรัฐอย่างไม่มีกำหนด เพราะหน่วยงานกำกับดูแลจีนเริ่มควบคุมบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีแนวโน้มว่ามีแผนจะไป IPO ในตลาดหุ้นต่างประเทศ
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Zhang Yiming ผู้ก่อตั้งและ CEO ในขณะนั้นตัดสินใจที่จะพับแผน IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐเอาไว้ก่อนหลังจากเข้าพบกับ หน่วยงานบริหารและจัดการไซเบอร์สเปซจีน (The Cyberspace Administration of China: CAC) และยังถูกย้ำว่าบริษัทควรเพ่งความสนใจไปกับการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลและประเด็นอื่นๆ มากกว่า แหล่งข่าวของ The Wall Street Journal ระบุ
เดือนถัดมา ByteDance กล่าวในแถลงการณ์บนบัญชีโซเชียลมีเดียของตนเองว่า “หลังจากศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง บริษัทยังไม่สามารถบรรลุข้อบังคับที่สำคัญในการเสนอขายหุ้นให้กับสาธารณะ และตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนการดังกล่าว”
นอกจาก TikTok เทคจีนยังโดนกันถ้วนหน้า รายล่าสุดคือ Didi
การก้าวอย่างระมัดระวังในการเข้า IPO ในสหรัฐของ ByteDance สวนทางกับ Didi แอพเรียกรถรายใหญ่ของจีน ที่ล่าสุดเพิ่งจะ ระดมทุนผ่าน IPO ได้เป็นเม็ดเงินกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.43 แสนล้านบาท แม้ CAC จะแสดงความกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวบางส่วนอาจตกอยู่ในมือของต่างชาติได้
หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ รัฐบาลปักกิ่งได้ทำการตรวจสอบก่อนที่จะ สั่งลบแอพพลิคเคชั่น Didi ออกจากทุกแอพสโตร์ ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Huawei เพราะพบว่ามีการเก็บและใช้งานข้อมูลส่วนตัวอย่างผิดกฎหมาย อาจนำไปสู่ปัญหาภัยความมั่นคงของชาติไดัหากข้อมูลรั่วไหล
นอกจากนี้ยังมีการจับตาบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ อย่างในกรณีล่าสุด CAC ได้สั่งตรวจสอบ 3 แอพพลิเคชั่นจีน คือ Yunmanman และ Huochebang แอพเช่ารถบรรทุกจาก และแอพหางานออนไลน์ Boss Zhipin โดยจะปิดรับสมัครผู้ใช้งานรายใหม่ชั่วคราวแต่ไม่ถึงขั้นถอดออกจากแอพสโตร์
สาเหตุสำคัญคือเรื่องข้อมูลส่วนตัว
ข้อกังวลสำคัญของรัฐบาลปักกิ่ง คือ เรื่องข้อมูลส่วนตัว เพราะบริษัทเทคโนโลยีเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ชาวจีนเอาไว้จำนวนมาก เช่น รูปถ่ายใบหน้า เส้นทางขับขี่ ประวัติการซื้อสินค้า ที่พักอาศัย ไปจนถึงวิดีโอต่างๆ
การเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐอาจเป็นเหตุให้ต้องเปิดเผยข้อมูลบางส่วนได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องแน่ใจว่ามีมาตรการการเก็บรักษาและการใช้ข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อบังคับของทางการจีน
อย่างในกรณีของ TikTok (รวมถึงแอพอื่นๆ ของ ByteDance) ที่มีผู้ใช้หลายร้อยล้านคนในประเทศจีน มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ตั้งแต่ เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด ชื่อจริง ไปจนถึงรหัสบัตรประชาชน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องการทราบว่า TikTok รวบรวม จัดเก็บ และจัดการดูแลข้อมูลอย่างไร
ทางการจีนกำกับดูแลบริษัทเทคเข้มข้นขึ้นในช่วงหลัง
ก่อนหน้านี้ บริษัทจีนไม่จำเป็นต้องขออนุญาต CAC ในการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มร้าวลึกในช่วงปลายปี 2020 แต่ละบริษัทจะต้องแจ้ง CAC หากมีแผนจะเข้า IPO ในต่างประเทศ และต้องได้รับการอนุมัติ (อย่างไม่เป็นทางการ) เสียก่อน
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนออกมาระบุเองว่าหลังจากนี้จะเข้มงวดกับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ณ ตอนนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านความมั่นคงกำลังร่างกำหนดที่บริษัทที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องทำตามก่อนจะเปิดขายหุ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ
เทคจีนเจอศึก 2 ด้าน ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของจีน และรัฐบาลสหรัฐ
หากบริษัทจีนผ่านเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐจะไปได้สวย เพราะล่าสุดฝ่ายบริหารของ โจ ไบเดน ก็จับตาดูบริษัทเทคจีนเข้มข้น เพราะเกรงว่าการดำเนินงานของบริษัทจีนในสหรัฐจะเป็นการเข้ามาสอดส่องและรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของประชาชนชาวอเมริกันเช่นเดียวกัน
ไม่นานมานี้ โจ ไบเดน เพิ่งแบนการลงทุนในบริษัทจีนถึง 59 ราย มากกว่าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยแบบเกือบเท่าตัว แถมยังเซ็นคำสั่งฝ่ายบริหารเพิ่มอำนาจในการแบนบริษัทให้กับกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมที่อำนาจนี้เคยอยู่ในมือกระทรวงกลาโหม นั่นหมายความว่าสหรัฐสามารถแบนบริษัทได้กว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับกิจการทหารหรือความมั่นคงโดยตรงอีกต่อไป
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีสิทธิในการออกหมายเรียกเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างชาติ ทั้ง โทรศัพท์ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงซอฟต์แวร์ เพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าเงื่อนไขความปลอดภัยในการใช้งานในสหรัฐหรือไม่
แถมล่าสุด มีรายงานจากทาง Reuters ว่าฝ่ายบริหารของ โจ ไบเดน ร้องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อขอยกเลิกการกีดกันคำสั่งแบนแอพพลิเคชั่นจีนอย่าง TikTok และ WeChat ที่เคยออกมาในสมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังอยู่ในอำนาจ
[Opinion] ชัดเจนแล้วว่าบริษัทเทคจีนกำลังถูกบีบอยู่ในใจกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง จะขยับไปทางไหนก็ไม่สะดวก วินาทีนี้ หากต้องการระดมทุนก็อาจต้องมองไปยังตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นหลัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา