TikTok ลดเวลางานเหลือ 10 โมง – 1 ทุ่ม เป็นเทคจีนเจ้าแรกๆ ที่บอกลาการทำงานหนักแบบ 996

บอกลาการทำงานแบบ 996 บริษัทแม่ TikTok ให้พนักงานทำงาน 10 โมง – 1 ทุ่ม แหวกขนบการทำงาน 9 โมง – 3 ทุ่ม 6 วัน/สัปดาห์ ของบริษัทเทคจีน

TikTok เทคจีนเจ้าแรกๆ ที่ลดเวลาทำงานของพนักงาน

ถ้าพูดถึงประเทศทำงานหนักหลายคนอาจจะนึกถึงญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วในประเทศจีนก็มีวัฒนธรรมการทำงานหนักเช่นกัน โดยเฉพาะในบริษัทสายเทค เช่น Alibaba JD หรือ Pinduoduo ถึงขนาดที่ว่าเกิดชื่อเรียกค่านิยมดังกล่าวโดยเฉพาะว่า “996″ หรือ การทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า – 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์

แต่ล่าสุด ByteDance หรือบริษัทแม่ของ TikTok ปรับทิศทางองค์กรสวนทางกับวัฒนธรรมดังกล่าวโดยให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 10 โมง – 1 ทุ่ม เท่านั้น จากข้อมูลในเอกสารภายในของ ByteDance ที่สำนักข่าว Bloomberg ได้รับ

ที่สำคัญคือ หากจะทำงานล่วงเวลา จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 1 วัน และจะต้องได้รับอนุญาตก่อน โดยสามารถทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ในวันปกติ และ 8 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุด และจะได้รับค่าจ้าง 3 เท่าของปกติ

996 เสาหลักบริษัทเทคจีนที่กำลังผุกร่อน

แจ็ค หม่า Jack Ma
ภาพจาก Shutterstock

วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 เป็นที่รู้จักในฐานะวัฒนธรรมภายในบริษัทเทคของจีน ซึ่ง Jack Ma เองก็เคยออกมาสนับสนุนวัฒนธรรม 996 เช่นเดียวกัน เขามองว่าหากสามารถทำงานแบบ 996 ได้ เราก็จะมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ 

เขายังบอกอีกว่า คนที่อยากเข้ามาทำงานที่ Alibaba ก็ต้องยอมทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เพราะที่ Alibaba ไม่ได้ต้องการคนที่ทำงานแค่ 8 ชั่วโมง ถ้าไม่ทำงานหนักตั้งแต่วัยเยาว์ แล้วจะให้ไปทำตอนไหน?

ประเด็นก็คือ ในมุมของพนักงาน การทำงานแบบ 996 บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ จนถึงขนาดที่เคยมีพนักงานของบริษัทเทคในจีนเสียชีวิตในวัยเพียง 21 ปี ขณะที่เดินทางกลับจากที่ทำงานในเวลาตี 1 

ทำให้ในภายหลังสังคมเริ่มตั้งคำถามกับวัฒนธรรม 996 มากขึ้น อย่างในกรณีล่าสุดเราจะได้เห็นขบวนการ Worker Life Matter เกิดขึ้นในจีนต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนัก

(Photo by Lintao Zhang/Getty Images)

นอกจากนี้ วัฒนธรรม 996 เริ่มเป็นที่จับตาโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้นหลังประเทศจีนประกาศนโยบายความมั่นคงร่วม (Common Prosperity) โดยเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ “ทุกคน” ได้รับความมั่งคั่งร่วมกัน

ไม่ใช่การทำงานที่ให้พนักงานตัวเล็กๆ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำใช้สุขภาพกาย จิตใจ และชีวิตในด้านอื่นๆ แลกเป็นเงินเดือน ส่วนคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือนายทุนที่ได้ประโยชน์จากหยาดเหงื่อของแรงงานที่ในท้ายที่สุดก็ถูกเปลี่ยนเป็นกำไรของกิจการ

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน