โรงพยาบาลธนบุรี รุกเปิดรพ.ในเมียนมาหวังสิ้นปี 2019 มีกำไรคืนบริษัทแม่

ไม่ว่าอยู่ส่วนไหนในโลก คนต้องเข้าโรงพยาบาลแต่เมื่อการแข่งขันในไทยรุนแรงขึ้นทุกที หลายโรงพยาบาลเร่ิมขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา มีโรงพยาบาลไทยเข้าไปสร้างเครือข่ายมากมาย เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.สมิติเวช รพ.กรุงเทพ มีตั้งแต่ศูนย์ให้คำแนะนำเพื่อมารักษาตัวในไทย เปิดคลีนิค และเปิดโรงพยาบาล ล่าสุดโรงพยาบาลธนบุรีก็เริ่มเปิดให้บริการในปีนี้แล้ว

มากกว่าเป็น Medical Hub ในไทย บุกเมียนมา-จีนขยายรพ.ในเครือ

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG บอกว่า ไทยเป็น Medical Hub มาสิบกว่าปีแล้ว อย่างปี 2561 ที่ผ่านมามีคนไข้ต่างชาติบินตรงมารักษาในไทย 1.8 ล้านราย เช่น เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว ประเทศตะวันออกกลาง ฯลฯ ส่วน THG มีคนไข้เมียนมามารักษาตัวในไทยวันละ 600 คน

“คนนิยมมารักษาตัวที่ไทย เพราะมีมาตรฐาน ราคาไม่สูงเกินไป เลยเป็นโอกาสในการขยายบริการในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนหน้านี้เรามีโรงพยาบาลในเครือที่ประเทศจีน ล่าสุดมี.ค. 2019 เราเปิดตัวโรงพยาบาล Aryu International ที่เมืองย่างกุ้ง ในเมียนมา มูลค่าการลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นที่จะช่วยดูเรื่องทำเล กฎหมายท้องถิ่น ส่วน THG ถนัดเรื่องการทำ Operation เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ”

ทั้งนี้ THG ถือหุ้นในโรงพยาบาล Aryu International 40% ส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ในท้องถิ่นเช่นอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก (กลุ่มกำหม๋อกุ้ย) 50% ทีมแพทย์ (ในนามบริษัท Aryu Ananta Medical Services) อีก 10%

ส่วนการขยายไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังมีโอกาสในหลายประเทศ แต่กลยุทธ์หลักในการลงทุนคือต้องมี Joint Venture (JV) หรือพันธมิตรในระดับท้องถิ่นเพื่อออกแบบโรงพยาบาลและบริหารได้ราบรื่นที่สุด เช่น ในประเทศจีน THG ถือหุ้น 58% ในโรงพยาบาล Weihai Welly มณฑลชานตง ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทเครื่องมือแพทย์ (Weigao)

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

การแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาลในเมียนมา

ปัจจุบันในเมียนมามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียง 7-8 แห่งเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีคู่แข่งหลักร้อยรายแสดงว่าการบริการยังไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ในเมียนมาโรคที่มีคนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 3 โรคหลัก คือ โรคท้องเสียแบบรุนแรง มะเร็งตับ และวัณโรค บางโรคหายไปจากประเทศไทย 30 ปีแล้ว ทำให้ไทยมีประสบการณ์ และเทคนิคในการรักษาโรคทั่วไปมาก

“การเป็นโรงพยาบาลไทยกลายเป็นจุดเด่นที่สร้างความเชื่อมั่นในคนเมียนมา ทั้งเรื่องความสะอาด การบริการ ที่หากเป็นโรคทั่วไป สามารถเข้ามารักษาได้ง่าย ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ปัจจุบันประชากรในย่างกุ้งอยู่ราว 6 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะมุ่งเน้นประชากรระดับกลาง-บนที่มีอยู่ประมาณ 30% ของทั้งประเทศ โดยเฉลี่ยจะมีรายได้ 1,200-2,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 37,200 – 62,000บาท)”

ตั้งแต่เปิดบริการ Aryu International ถึงปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 6,000-7,000 ราย กว่า 50% เป็นคนไข้ชาวเมียนมา รองลงมาเป็นคนไทย ชาวญี่ปุ่น เกาหลี และลูกค้าต่างชาติ ทั้งนี้ค่ารักษาผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยที่ 1,200 บาท/ครั้ง ส่วนค่าห้องพักรักษาตัวค่าห้องอยู่ที่ 2,000-8,000 บาทต่อคืน

อุปสรรคในการให้บริการโรงพยาบาลในเมียนมา มาจากกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วัฒนธรรมที่แตกต่าง และสภาพแวดล้อม เช่น เมียนมาไฟฟ้าดับทุกวัน ดังนั้นทางโรงพยาบาลต้องเตรียมเครื่องปั่นไฟสำรองทั้ง 100% แตกต่างจากไทยที่เตรียมไฟสำรองประมาณ 30%

Aryu International Hospital THG

เป้าหมายของโรงพยาบาล Aryu International ต้องมีกำไรตั้งแต่ปีนี้

ไตรมาส 1 ปี 2019 THG กำไรสุทธิ (บริษัทใหญ่ ไม่รวมรายการพิเศษ) อยู่ที่ 8 ล้านบาท ติดลบ 91.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเพราะมีการลงทุน 4 โครงการใหญ่ เช่น โรงพยาบาล Aryu International โครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุในไทย Jin Wellbeing County โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง ฯลฯ

ทั้งนี้คาดว่าผลกำไรจากการลงทุนจะทยอยกลับเข้าสู่บริษัท อาทิ โรงพยาบาล Aryu International เปิดตัวเมื่อ 17 มี.ค. 2019 คาดว่าภายใน 2 ปีนี้ EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) จะเป็นบวก และเริ่มส่งรายได้กลับบริษัทแม่ ส่วนปี 2020 คาดว่ากำไรขั้นต้น (EBIT) ของ Aryu International จะเป็นบวกเช่นกัน

“เรามองว่าภายใน 2 ปีนี้ EBITDA จะเป็นบวก และส่งรายได้กลับมาที่บริษัทแม่ THG แต่ที่จริงแล้วอาจจะเริ่มเห็นตั้งแต่ปีนี้จากตัวเลขผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าประเทศไทย เช่น ค่าแรงในไทย 1 แรงเท่ากับค่าแรงในเมียนมา 3 แรง ทั้งนี้รายได้หลัก 50% มาจากค่าบริการทางการแพทย์เช่น ค่า X-ray ค่าห้องแล็ป ฯลฯ รองลงมาอีก 20% มาจากค่ายา”

อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าจำนวนผู้ป่วยใน (IPD) จะมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยนอก (OPD) จากปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมี OPD มากกว่า โดยภายในปี 2019 คาดว่าผู้ป่วย IPD และ OPD จะเริ่มมีสัดส่วนเท่ากัน (รายได้เฉลี่ยผู้ป่วย IPD สูงกว่า OPD)

สรุป

โดยทั่วไปจุดคุ้มทุนของโรงพยาบาลจะอยู่ที่ 7-8 ปี แต่เมื่อ THG ลงทุนในเมียนมาผ่านการ JV คาดว่าตั้งแต่ปี 2019 รายได้จะกลับสู่บริษัทแม่ เพราะคู่แข่งยังน้อย และได้รับการตอบรับต่อเนื่อง แต่คงต้องติดตามว่ารายได้จะเป็นไปอย่างที่คาดการณ์หรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา