กระแสชานมไข่มุก เครื่องดื่มเอเชี่ยนดริ๊งค์ กำลังดังเป็นพลุแตกในทั่วโลก สำหรับในไทย 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องดื่มร้อนแรงมาก การดื่มของคนไทยสูงสุดในอาเซียน 6 แก้วต่อเดือน กระทั่งขณะนี้ได้กลายเป็น Every Drink หรือเครื่องดื่มทั่วไป ต้องดื่มทุกวันไม่ต่างกับกาแฟไปแล้วนั้น
คาดปี 2566 มูลค่าตลาดทั่วโลกแตะแสนล้านบาท
อนล ธเนศวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มิลลาร์รี่ จำกัด มาสเตอร์แฟรนไชส์ The Alley แบรนด์ชานมไข่มุกพรีเมียมจากประเทศไต้หวัน เล่าว่า กระแสฟีเวอร์ชานมไข่มุก เอเชี่ยนดริ๊งค์ดังไปทั่วโลก คาดการณ์ตัวเลขปี 2566 มูลค่าตลาดทั่วโลกแตะแสนล้านบาท จากตัวเลขปี 2561 ราว 6.2 หมื่นล้านบาท
โดยกระแสชานมไข่มุกเริ่มขยายตลาดไปสู่ยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ปังมาก และยังเป็นตลาด Blue Ocean หรือยังไม่มีคู่แข่งจำนวนมากทำตลาด สำหรับ The Alley ชานมไข่มุกสัญชาติไต้หวันปัจจุบันเปิดบริการทั่วโลกกว่า 300 สาขา และกำลังขยายสาขาไป ที่เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น
ชานมไข่มุก เป็นโกลบอลเทรนด์ เพราะใครๆ ก็ชอบของหวาน ยิ่งหากมีสินค้าที่โดนใจ อย่างชานมไข่มุกน้ำตาลทรายแดง สามารถจุดพลุให้เป็นเครื่องดื่มดังระดับโลกได้
ขณะที่กระแสชานมไข่มุกในอาเซียน ความปังก็ไม่ต่างกัน ข้อมูลจากแกร๊บฟู้ด เผยถึงตลาดเมื่อปี 2560- 2561 อัตราการเติบโต 3,000% จากการมีแบรนด์ชานมไข่มุกกว่า 1,500 แบรนด์ มีหน้าร้านจำหน่ายรวมกว่า 4,000 สาขา
6 ประเทศอาเซียนติดโผดื่มชานมไข่มุก
อันดับ 1 ประเทศไทยอัตราการดื่มชานมไข่มุก 6 แก้วต่อคนต่อเดือน
อันดับ 2 ประเทศฟิลิปปินส์อัตราการดื่มชานมไข่มุก 5 แก้วต่อคนต่อเดือน
อันดับ 3 ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อัตราการดื่มชานมไข่มุก 3 แก้วต่อคนต่อเดือน
สะท้อนว่าตลาดชานมไข่มุกอาเซียนยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทย 3 ปี ที่ผ่านมาเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% จนมีมูลค่า 2,500 – 3,000 ล้านบาท
และคาดการณ์ว่าตลาดมีแนวโน้มเพิ่ม 5,000 ล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ตลาดเริ่มเข้าสู่ Red Ocean เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง จากการมีแบรนด์ชานมไข่มุกชั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 25 แบรนด์อยู่ในตลาด อาทิ tiger sugar kamu และ The Alley เป็นหนึ่งในผู้เล่นตลาดนี้
ตลาดชานมในไทยเลยจุดพีคมาแล้ว 2 ปี นับจากนี้หากชานมไข่มุกยังไม่มีสินค้าเรือธงหรือลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามาตลาดจะเริ่มเติบโตช้าลง 20- 25 % และมีบางแบรนด์จะหายไปจากตลาด เพราะกระแสนิยมไม่เท่าเดิม
อนล เล่าว่า สถานการณ์การแข่งขันชานมไข่มุก เซ็กเมนต์พรีเมี่ยมราคาตั้งแต่ 75 บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 10 % ของตลาดนั้นมีแบรนด์อยู่ในตลาดร่วม 10 แบรนด์ และมีแนวโน้มว่ามีคู่แข่งเข้าช่วงชิงแชร์มากกว่าจะมาสร้างตลาด
จับตาการแข่งขันตลาดพรีเมี่ยม
เดิมทีแต่ละแบรนด์จะโฟกัสด้านฟังก์ชันนัล แต่สมรภูมิที่เป็นเรด โอเชี่ยน ยิ่งทำให้ทุกแบรนด์ต้องกลับมาตอกย้ำแบรนด์ดิ้งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เซ็กเมนต์พรีเมี่ยมลูกค้าไม่มองราคา แต่พร้อมจ่ายเงินซื้อ โดยเฉลี่ยลูกค้าที่ซื้อชานมไข่มุกของ The Alley ราว 300 บาทต่อคนต่อบิล
พฤติกรรมการกินชานมไข่มุก เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คนไทยไม่รู้จักว่าชานมไข่มุกเป็นยังไง เดิมทีดื่มเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง สู่การเป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกวันไปแล้ว
ความอร่อยเป็นปัจจัยพื้นฐานอยู่แล้วสำหรับการกิน แต่ชานมไข่มุกแข่งขันต้องทำแพกเกจจิ้งให้สวย น่ารัก แบรนด์ดิ้งต้องมา ถือแล้วดูดีมีอิมเมจ หรือกระทั่งการสร้างอีโมชันนัล มอบประสบการณ์การดื่มที่มาแค่นั่งดื่มชานมไข่มุกอย่างเดียว
สำหรับเซ็กเมนต์ชานมไข่มุกระดับกลาง ราคา 40-75 บาท มีสัดส่วนในตลาด 60% เรียกว่าเป็นตลาดเปิดสงครามราคาอย่างรุนแรง และเซ็กเมนต์แมส ราคาต่ำกว่า 40 บาท สัดส่วน 30%
เครื่องดื่มยอดฮิตชานมไข่มุกของคนไทย
จากข้อมูลของบริษัทฯ พบว่า จำนวน 80% ของยอดขายเป็นเครื่องดื่ม Milk Tea และ Brown Sugar กลุ่มลูกค้าหลัก 79% เป็นผู้หญิง และ 21% เป็นผู้ชาย โดยลูกค้าทั้งสองกลุ่มบริโภคชานมไข่มุกสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 24 – 35 ปี ถึงกว่า 50% และช่วงอายุ 35 – 44 ปี มากกว่า 25%
เมนูยอดนิยม 5 อันดับแรก
- Brown Sugar Deerioca & Fresh Milk
- Royal No.9 Milk Tea
- Brown Sugor Deerioca & Puff
- Tropical Passion Fruit Green Tea / Orange Lulu
- Trio Assam Milk Tea
สรุป
ชานมไข่มุก ได้กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่ต้องดื่มทุกวันแล้ว สำหรับประเทศไทย ดังนั้นต้องอยู่ที่ว่าแต่ละแบรนด์จะสร้างแบรนด์อย่างไรให้แตกต่าง หรือมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่รองรับกับตลาดที่ใกล้ถึงจุดคลายตัวลงแล้ว โดยเฉพาะการสร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่มใหม่ออกมาต้องปัง มิเช่นนั้นจะไม่ต่างจากในอดีตที่กระแสชานมไข่มุกดังอยู่ระยะหนึ่งและค่อยๆ หายไปจากตลาด ต้องติดตามดูว่าจุดจบของชานมไข่มุกกันต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา