เดอะวิสดอม เจาะลึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก

บทสรุปจากงานสัมมนา “THE WISDOM Wealth Decoded Talk การเลือกตั้งทั่วโลกปี 2024 จับตาการลงทุนและความท้าทายที่รออยู่” ล่าสุด โดย บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เจาะลึกถึงการเลือกตั้งในประเทศของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา กับผลจากแนวนโยบายที่ทั้ง 2 พรรคการเมืองอย่างเดโมแครต และริพลับลิกัน ได้วางไว้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนทั่วโลกอย่างไร

 

ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ กมลา แฮร์ริส จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

นับตั้งแต่ต้นปี 2024 ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งใกล้และไกลประเทศไทย มีทั้งที่ไต้หวัน ที่อินโดนีเซีย ที่ยุโรปทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส จนปลายปีนี้กำลังจะมีเลือกตั้งใหญ่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อโลก โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่มีผลต่อทั่วโลกและไทย

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและ Chief Economist บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้มุมมองถึงการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาปีนี้ค่อนข้างมีสีสัน จากผลสำรวจล่าสุด พบว่า คะแนนโดยเฉลี่ยของ กมลา แฮร์ริส นำโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนโยบายของทั้งสองพรรคแตกต่างกันชัดเจน

พรรคเดโมแครตภายใต้ กมลา แฮร์ริส
ให้ความสำคัญคนรายได้น้อย การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนและด้านสาธารณสุข

การขึ้นมาของ แฮร์ริส จะมีนโยบายคล้ายยุคไบเดน โดย แฮร์ริส จะให้การสนับสนุนคนรายได้น้อย จะเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่ม แฮร์ริสจะไม่ขึ้นภาษีประชาชน

นอกจากนี้ แฮร์ริส ให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุข การดูแลสุขภาพ และเรื่องที่อยู่อาศัย โดยวางนโยบายช่วยแก้ปัญหาเรื่องบ้านที่มีราคาแพงมาก จัดหาเงินดาวน์ ให้ทุกคนเข้าถึงยาและสาธารณสุขมากขึ้น เพราะปัญหาหนักของคนอเมริกาคือ ถ้าป่วยและไม่มีประกันรักษาจะสามารถหมดตัวได้

พรรครีพับลิกันภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์
สนับสนุนธุรกิจ แก้ปัญหาขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่เชื่อเรื่องวิกฤตโลกร้อน เน้นความมั่นคงเพิ่ม

การขึ้นมาของทรัมป์ ภาพที่เห็นชัดเจนคือ ทรัมป์สนับสนุนฝั่งธุรกิจมากกว่า จะลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งถ้าทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี จะส่งผลดีต่อหุ้นสหรัฐฯ

ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัมป์ไม่เชื่อในเรื่องโลกร้อน ไม่เชื่อเรื่อง Green Transition เรื่องสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะยุติลง ถ้าทรัมป์ได้ขึ้นเป็นผู้นำ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ทรัมป์เชื่อว่าการผลิตทุกอย่างต้องกลับมาที่อเมริกา ตามนโยบายเดิมที่เขายึดถือก็คือ America First นโยบายการค้าโลกจะผันผวนมาก จะแปรปรวนมาก เขาบอกไว้ว่าวันแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง เขาจะขึ้นภาษี ซึ่งตอนนี้ก็ขึ้นทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่สินค้าโลว์เอนถึงไฮเอนด์ โดยเรียกเก็บภาษีจากจีน 60% ส่วนประเทศที่เหลือเรียกเก็บภาษี 10%

นอกจากนี้ ทรัมป์จะไม่คิดภาษีคนสูงวัย จะยกเลิกภาษีทิปของพนักงานเสิร์ฟ

ด้านการค้า จากงานศึกษาจาก EIU เคยจัดอันดับ Trump Risk Index ถ้าทรัมป์ขึ้นมาจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

จากข้อมูลพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้ที่ค้าขายกับอเมริกา ซึ่งก็คือเม็กซิโก ตามด้วยประเทศจีน แคนาดา เวียดนาม เยอรมนี ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งนั้นเลย

ประเทศที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบก็คือซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย โปแลนด์ โมรอกโก ฯลฯ

ถ้ามีสงครามการค้า อเมริกาจะกีดกันจีนหนักมากจะสะเทือนห่วงโซ่อุปทาน ถามว่าไทยจะได้ประโยชน์ไหม? เราได้ประโยชน์ แต่ไม่มากเท่าเวียดนาม ผลกระทบต่อประเทศไทย ไทยจะได้รับผลกระทบถ้าทรัมป์ขึ้นมา ไทยติดอันดับ Top 11 ของคู่ค้าสหรัฐอเมริกา ถ้าทรัมป์ขึ้นภาษี 10% ไทยน่าจะได้รับผลกระทบด้วย

โอกาสในการลงทุนท่ามกลางโลกผันผวน

ช่วงนี้ เงินบาทแข็ง อาจเป็นจังหวะ เงินบาทแข็ง ไม่ได้มาจากพื้นฐานของเรา แต่มาจากสิ่งแรกคือการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง สูงสุดในรอบ 23 ปี

นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอเมริกาจะลดดอกเบี้ย 8 ครั้ง ตอนนี้ลดแล้ว 3 ครั้งแล้ว ด้าน BOJ ก็ปรับอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกิด Yen Carry Trade คือการเอาเงินจากสกุลเงินที่ดอกเบี้ยต่ำย้ายไปอยู่สกุลเงินดอกเบี้ยสูง (Carry หมายถึงดอกเบี้ย)

ที่ผ่านมาคนเอาเงินเยนออกตั้งแต่ปี 2021 ดอกเบี้ยติดลบตลอด เพิ่งเป็นบวกได้ไม่ถึงปี คนในประเทศก็ซื้อตู้เซฟเพื่อเก็บเงินสด เนื่องจากฝากธนาคารแล้วติดลบ จึงเอาเงินออกไปลงที่สกุลเงินดอกเบี้ยสูง เอาเงินเยนเป็นทุน เอาไปลงเทคโนโลยี ลงหุ้น

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็น 34 น่าจะชั่วคราว มันคือ Unwind Carry Trade หมายความว่าค่าเงินในภูมิภาคแข็ง ไม่ใช่แค่เฉพาะในไทย

ขณะเดียวกัน การลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกับทองคำหรือไม่นั้น ตอนนี้จะเห็นดอกเบี้ยสูงขึ้นมากทั่วโลก แต่เริ่มจะขาลงแล้ว Fed ก็ส่งสัญญาณแล้วว่าจะลดดอกเบี้ย โดยปลายปีหน้าจะลด 2% ถ้า Fed ลดแล้ว ทุกคนจะลดตาม แบงก์ชาติใหญ่อย่างอังกฤษหรือยุโรปก็เริ่มลดแล้ว แต่หลายประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังไม่กล้าลด

เราจะเห็นว่าราคาทองคำกับดอกเบี้ยเหมือนไม่เข้ากัน เวลาดอกเบี้ยสูง ทองลง แต่ทองสูง ดอกเบี้ยลง นโยบายต่างๆ ทั่วโลกจะเน้นประชานิยมไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเป็นประชานิยมส่วนใหญ่ทำให้มีหนี้เยอะขึ้น ปริมาณเงินเยอะขึ้น ทองคำจะดีกว่า ถ้าทองคำเพิ่มขึ้น เงินบาทก็แพงด้วย เพราะเมื่อทองราคาสูงขึ้น เวลาขายทองก็กลับมาแปลงเป็นเงินบาท การขายทองจึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

Mega trend ที่น่าสนใจ ที่เป็นกันทั้งโลกคือ คนมีอายุยืนยาวขึ้น มีลูกน้อยลง เทรนด์ Silver economy จะมา

เริ่มมีการใช้ AI ช่วยลดจำนวนการใช้งานของน้ำมัน ลดการใช้กระดาษ ปัญหาการจราจรติดขัด เขาก็ใช้ AI มาแก้ปัญหาประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ

เรื่องยาก็น่าสนใจ Moderna, Pfizer, AstraZeneca ทำรายได้เยอะมาก เทคโนโลยี mRNA จะช่วยพัฒนาวัคซีนได้ สิ่งที่ได้รับความนิยมมากคือ ยาลดความอ้วน Novo Nordisk คนเริ่มใช้กันแล้ว ฉีดเพียงไม่กี่ครั้ง น้ำหนักก็ลดได้เยอะ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า

การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี AI จะยังโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ปีหน้า ChatGPT อาจจะไม่เก่งแล้วก็ได้ ตอนนี้ยังไม่มีภาวะฟองสบู่เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ลงทุนกัน

สำหรับการจัดพอร์ทการลงทุน จากทั้งหมดที่กล่าวมา ดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นจนสุดทางแล้ว กำลังจะเข้าสู่ขาลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในช่วงนี้ หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ สิ้นสุดลง ดอลลาร์จะแข็งค่าใหม่ ถ้าเงินบาทเยอะ อาจจะไปกองทุนที่เป็นเมกะเทรนด์ ประเภท Healthcare, AI และเทคโนโลยี

อุตสาหกรรมที่น่าลงทุนตอนนี้ ถ้าทรัมป์ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง อาจลงทุนในระบบความปลอดภัย ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือแฮร์ริสก็จะพัฒนาด้านนี้เช่นกัน ถ้าแฮร์ริสชนะจะให้ความสนใจด้าน Healthcare และ Green Energy

ส่วนตลาดไทยเน้นด้านการท่องเที่ยว การแพทย์ การบริการต่างๆ

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขาลง กองทุนตราสารหนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าไปก่อน เพราะทุกธนาคารกลางพร้อมจะลดดอกเบี้ย

สรุป
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ทั้งเรื่องห่วงโซ่อุปทาน สงครามรัสเซีย-ยูเคน และการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมาถึง การขึ้นมาของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น
โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส ล้วนสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

แต่ถ้าทรัมป์ ขึ้นเป็นผู้นำโลกคนใหม่ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวดเร็ว ด้วยนโยบายของทรัมพ์ทั้งการขึ้นภาษีกับคู่ค้า นโยบายส่งเสริมให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตามนโยบาย America First รวมถึงการให้ความสำคัญในมิติความมั่นคงของประเทศและการรับผู้อพยพเข้าประเทศมากขึ้น

หาก กมลา แฮร์ริส ขึ้นมา นโยบายจะไม่ต่างจากไบเดนมาก แต่แฮร์ริสจะควบคุมราคาสินค้ามากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา