“โอกาส” ลงทุนในวันที่โลกปั่นป่วน นักลงทุนรับมืออย่างไร เมื่อรัสเซียขัดแย้งยูเครน?

เดอะวิสดอมธนาคารกสิกรไทย จัดงาน “Game Changer แก้เกมการลงทุน ปรับทัพรับดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ” เชิญ 4 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน มาอัพเดตกระแสการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงให้กับลูกค้าเดอะวิสดอมธนาคารกสิกรไทย หลังประเด็นรัสเซีย-ยูเครน เริ่มร้อนระอุ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเงิน ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงจากเติบโตของสินทรัพย์รูปแบบใหม่

ต้นปีที่ผ่านมาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ที่ 3.4%-5% ส่วนเศรษฐกิจโลกเติบโตอยู่ที่ 4.4%

แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์เริ่มไม่แน่นอนทั้งจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทะยานเพราะโอไมครอน เงินเฟ้อที่พุ่งทะลุ 5% ไปจนถึงประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ที่ตึงเครียด ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก ภาพที่เคยวาดเอาไว้อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้น นักลงทุนต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่

สงครามกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร?

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แบ่งฉากทัศน์ (Scenario) ที่เป็นบทสรุปของสถานการณ์รัสเซีย 3 รูปแบบ คือ กรณีที่ดีความขัดแย้งจะจบลงอย่างรวดเร็ว กรณีเลวร้ายความขัดแย้งจะแผ่ไปยังส่วนอื่นในยุโรป และในกรณีฐานความขัดแย้งจะยืดเยื้อแม้รัสเซียจะยึดกรุงเคียฟของยูเครนได้ก็ตาม

ดร. ดอน ชี้ว่า สิ่งที่จะกระทบไทยอย่างหนักจริงๆ คือเรื่องของราคาน้ำมันเพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันถึง 90% โดยชี้ว่าทุกๆ 10 ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะกระทบการเติบโตของประเทศ 0.1% และเงินเฟ้อ 0.5% ซึ่งในจากต้นปีราคาน้ำมันทะยานขึ้นมากว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ความขัดแย้งจะกระทบการบริโภคครัวเรือนของไทยเพราะทำให้เงินเฟ้อขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิดดี กระทบการลงทุนภาคเอกชนเพราะไม่มีใครกล้าลงทุนในภาวะที่คนขาดกำลังซื้อและราคาพลังงานล้วนปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจจะไม่กระทบการส่งออกมากนักเพราะการส่งออกของไทยไปยัง 2 ประเทศคู่ขัดแย้งรวมกันแล้วยังไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมด

ดร. ดอนแนะนำนักลงทุนว่า กรณีรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เห็นความสำคัญของการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเพราะเราเห็นแล้วว่าสิ่งต่างๆ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ตลอด เช่น การปรับดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ

นอกจากนี้ ยังชี้ให้นักลงทุนเห็นอีกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไต่ระดับกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปัจจัยระยะสั้นอย่างความขัดแย้งทำให้แนวโน้มดังกล่าวชะลอตัวลงชั่วคราว หากนักท่องเที่ยวกลับมาประเทศไทยหลังจากนี้ เศรษฐกิจไทยก็น่าจะกลับมาตามลำดับ

จัดกระบวนทัพ รับความเปลี่ยนแปลง

คุณศิริพร สุวรรณการ Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย แนะนำว่าการจัดการพอร์ตการลงทุนในภาวะแบบนี้หากมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีอยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นขยับพอร์ตแรงด้วยความแพนิค แต่ถ้าใครมีเงินเย็นก็ถือเป็นโอกาสเข้าซื้อที่ดีได้ เพราะประวัติศาสตร์ตอกย้ำให้เห็นตลอดว่าหลังวิกฤติย่อมมีการฟื้นตัวอยู่เสมอ

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับการกระจายความเสี่ยง คุณศิริพรแนะนำว่าควรมีทุกสินทรัพย์ แต่ละตัวจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความเสี่ยงที่รับได้ หรือพูดง่ายๆ คือให้ประเมินว่าเงินและใจเย็นแค่ไหน และหากไม่ใช่นักลงทุนอาชีพการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพดูแลให้ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจ

คุณสัญชัย ปอปลี ผู้ก่อตั้งคริปโตมายด์ กรุ๊ป ชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความเชื่อมั่นในคริปโทเคอร์เรนซี่เปลี่ยนไปชัดเจน จำนวนคนซื้อขายในตลาดเพิ่มขึ้น 20 เท่าในไทย เกิด use case ที่แท้จริงในเหรียญต่างๆ บริษัทจำนวนมาก เช่น Tesla, Twitter, MicroStrategy และ Paypal หันมาให้ความสำคัญ ไปจนถึงมีการระดมเงินบริจาคให้ยูเครนผ่านช่องทางนี้ เห็นได้ชัดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในปัจจุบัน

คุณสัญชัยแนะนำว่า สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทุนได้ 15%-20% ของพอร์ต เพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับการลงทุนในภาพรวม โดยอาจแบ่งสัดส่วนการลงทุนในเหรียญต่างๆ เช่น Bitcoin 40% กลุ่มเหรียญขนาดใหญ่ เช่น Ethereum 30% กลุ่มเหรียญโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชน 20% และกลุ่มเมตาเวิร์สอีก 5% ทั้งนี้ควรมองการลงทุนในภาพระยะยาวแต่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ระหว่างทาง

คุณอภิญญา เรืองทวีคูณ กรรมการผู้จัดการ คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด แนะนำว่า โทเคนดิจิทัล คืออีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ โดยการลงทุนในโทเคนจะทำให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาดได้ เช่น ภาพยนตร์  หรือ อสังหาริมทรัพย์ 

นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน เช่น เงินปันผล capital gain หรือสิทธิประโยชน์ของตัวโครงการ ขึ้นอยู่กับโทเคนที่ลงทุน โดยข้อดีของการลงทุนประเภทนี้ก็คือการได้กระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ใหม่ๆ ได้ดี อีกทั้งยังเป็นการลงทุนในไลฟ์สไตล์ที่จะช่วยเพิ่มความสนุกในการลงทุนจากการมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์นั้นๆ

สรุป

ภายใต้สภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ตลาดหุ้นความผันผวน เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันทะยานทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเงินการคลังไปจนถึงนโยบายระหว่างประเทศ

Climate Change
ภาพจาก Shutterstock

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านให้ความเห็นตรงกันว่าการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ และการลงทุนระยะยาวคือกลยุทธ์ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถรับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ดังเดิมอย่างหุ้นและกองทุน หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี NFT หรือ โทเคนดิจิทัล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา