ทำยังไงให้อยู่รอดและรุ่ง ในวันที่ทั้งโลกถูกซัดด้วย Digital Disruption และโควิด-19

ข้อมูลจากงานสัมมนาออนไลน์ THE WISDOM The Symbol Of Your Vision: The Future of Digital Disruption and Investment จัดโดย เดอะวิสดอมกสิกรไทย เชิญ 4 วิทยากรด้านการเงินการลงทุน แลกเปลี่ยนมุมมองเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต ผู้คนทั้งโลก ทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องปรับและเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งเต็มสปีด โดยมีโควิด19 และกระแส Digital Disruption เป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญ

Disruption และโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกหลังจากนี้จะแตกต่างไปจากปัจจุบันแบบไม่เหลือเค้าเดิม ธุรกิจต้องตอบรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ “Turning Digital Disruption into Opportunity” คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่มาพร้อมความท้าทายและโอกาสของธุรกิจเอาไว้อย่างน่าสนใจ

เราได้ยินคำว่า Disruption กันมาสักพัก และเรายังได้ยินกันอีกว่าโควิด-19 เร่งให้ธุรกิจต่างๆ ปรับตัวกันยกใหญ่ คุณเรืองโรจน์เล่าว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ E-Commerce จำนวนคนซื้อของออนไลน์ในไทยพุ่งขึ้นถึง 58% ไม่มีทีท่าลดลง ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราพบว่าการหันสู่ตลาดออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดา

คุณ เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KTBG)
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KTBG)

แต่ E-Commerce ไม่ใช่แค่เรื่องราวเดียวของ Disruption ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากให้จับตา เช่น การเปลี่ยนแปลงจาก Lazy Economy สู่ At-Home Economy จากซื้อสินค้าแบบ On-Demand เพื่อความสะดวกสบายไปสู่การซื้อแบบ On-Demand เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเล่น เรียน พักผ่อน ทานอาหาร หรือทำงาน หลังจากนี้บ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเหล่านั้นมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ AI ที่อยู่ในชีวิตเรามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็บนโทรศัพท์ทั้ง Chat Bot จนถึงอัลกอริทึมของแอปต่างๆ โดยเทคโนโลยี AI มีตั้งแต่ระบบอัตโนมัติที่ทำตามคำสั่งซ้ำๆ ไปจนถึงการเข้าใจและตอบโต้ภาษามนุษย์ และล่าสุดคือ AI ที่สามารถเรียนรู้และคิดเองได้ 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้เราได้เห็นอินฟลูเอนเซอร์ AI ที่สามารถรับและทำงานต่างๆ ได้เอง หรือจะเป็นระบบจัดการโกดังของ JD.com ที่สามารถจัดการพัสดุได้กว่า 500,000 ชิ้น/วัน โดยใช้คนเพียง 100 คน

ทั้งหมดนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีเท่านั้น คุณเรืองโรจน์เล่าว่า ถัดไปอีก 10 ปี โลกในปี 2030 จะเปลี่ยนแปลงไปแบบเหนือจินตนาการ ก่อเกิดความท้าทายและโอกาสมหาศาล ชนิดที่ว่าหากธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทันตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษได้ทันก็มีโอกาสถูกทิ้งไว้ข้างหลังสูงมาก

โลกจะเปลี่ยนไปมหาศาลในอีก 10 ปี แล้วตรงไหนคือโอกาสของธุรกิจ?

ในปี 2018 Disruption เกิดขึ้นช้าๆ เป็นโดมิโน่ จากอุตสาหกรรมหนึ่งไปกระทบอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น การสื่อสารก้าวหน้าจนทำให้เดลิเวอรีเกิดขึ้น แต่หลังโควิดระบาด Disruption ก็เร่งตัว ทุกคนถูกบังคับให้ disrupt ตัวเองพร้อมกันในทีเดียว เช่น การศึกษาและการแพทย์ถูกเร่งให้เป็นดิจิทัลโดยไม่มีทางเลือก

นี่คือ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่คุณเรืองโรจน์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแสดงความคิดเห็นไว้

ธุรกิจอาหาร: โปรตีนจากพืชจะกลายเป็นกระแสหลักเพราะพัฒนารสชาติจนใกล้เคียงของจริง อาหารทางเลือกอื่น เช่น โปรตีนจากแมลง เครื่องดื่มสังเคราะห์จากเครื่องสแกนโมเลกุล (Molecular Spirit) จะได้รับความสนใจ เราจะได้เห็นฟาร์มและร้านอาหารที่ใช้ระบบอัตโนมัติและ AI มากขึ้น

รถยนต์ไร้คนขับ
รถยนต์ไร้คนขับของ Uber

ธุรกิจยานยนต์: รถไฟฟ้ามาเร็วกว่าที่คิด รถยนต์ไร้คนขับจะที่เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ธุรกิจการขับเคลื่อนจะกลายเป็นมากกว่าสินค้าแต่จะกลายเป็นบริการเพราะ Sharing Economy, 5G, และเมืองอัจฉริยะ จะทำให้บริการแชร์ริ่งและบริการขนส่งสาธารณะไร้คนขับเป็นไปได้ยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ผู้เล่นที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีแต่ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์อย่าง Grab, Monet และ Waymo จะมีพื้นที่ในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

ธุรกิจค้าปลีก: หน้าร้านต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ จากพื้นที่ขายสินค้ากลายเป็นโชว์รูมขนาดเล็ก เป็นคอมมูนิตี้ลูกค้า ที่สามารถสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์มากยิ่งขึ้น ลดโอกาสที่แพลตฟอร์มคนกลางจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งด้านมูลค่าไป

การศึกษา: Ed-tech ได้โอกาสจากการที่งาน 15%-30% ถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 ผู้คนต้อง Reskill เพื่อปรับตัว Nano-degree หรือการเรียนรู้ย่อมๆ ไม่ต้องรอ 4 ปีจบปริญญาจะยิ่งสำคัญเพราะช่วยคนสร้างทักษะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เร็วกว่า

การแพทย์: การพบแพทย์และการผ่าตัดทางไกลกลายเป็นเรื่องพื้นฐานขึ้น การผลิตชีวโมเลกุล เช่น DNA โปรตีน ไวรัส เพื่อรักษาโรคจะมีความเป็นไปได้ ที่สำคัญสังคมสูงวัยจะเปิดโอกาสให้กับสินค้าบริการแบบ Silver-friendly เพราะผู้สูงอายุยินดีจ่ายเงินแพงขึ้น 30% เพื่อสินค้าเหล่านี้

ภาพจาก Shutterstock

การเงินการธนาคาร: ธนาคารที่มีความเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่สเกลตัวเองขึ้นจะเป็นผู้เล่นหลักในระบบการเงินที่มีความเป็นดิจิทัล ที่สำคัญแพลตฟอร์มในระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) ซึ่งสามารถสร้างบริการทางการเงินแบบเดียวกับเราเห็นในปัจจุบัน เช่น การฝากเงิน การกู้ การทำประกัน และการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในเวอร์ชันที่เหนือกว่าได้จะกลายเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ต้องจับตา

วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม หัวใจของธุรกิจแห่งอนาคต

ภายใต้บริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด อาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองที่จะมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้น 20-40 ตัว ภายในเวลา 8 ปี เพราะมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก มีมูลค่า Internet Economy เติบโตรวดเร็ว จาก 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เป็น 1.24 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2025

พูดง่ายๆ คือ อาเซียนมีรูปแบบการเติบโตเหมือนประเทศจีนในเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

คำถามสำคัญก็คือ เมื่อโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงเปิดกว้างขนาดนี้ แล้วเราเปิดรับโอกาสนั้นมากแค่ไหน? 

คุณเรืองโรจน์ให้แง่คิดว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถไขว่คว้าโอกาสได้คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมในองค์กร ซึ่งมาจากความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ลูกค้าและพนักงานที่มาจากหลายช่วงวัย การเปิดรับความรู้ใหม่ๆ (Open) จากผู้คนหลากหลาย การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน (Collaborative) และทดลองร่วมกัน (Experiment) เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้น  

การเงินการลงทุน อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เจอ Disruption ครั้งใหญ่

อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เจอความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดทั้งบริการที่ถูก disrupt จนเกิดเป็นบริการการเงินออนไลน์จำนวนมาก และยังมีสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่โด่งดังขึ้นมาในยุคนี้อย่างคริปโทเคอเรนซี่หลายสกุลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi) 

ในงานเสวนาครั้งนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการลงทุนแนวหน้าของเมืองไทยอีก 3 ท่าน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ Unlocking a New Era of Investment อัปเดตความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงิน และชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้กับลูกค้าผู้ทรงเกียรติของเดอะวิสดอมธนาคารกสิกรไทยอีกด้วย

คุณ ชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย
คุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย

คุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า ยุคโควิดคือยุคทองของการลงทุนออนไลน์ ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 กว่าปีจนถึงช่วงโควิดเริ่มระบาด (วันที่ 1 มกราคม 2020) มีนักลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 1.2 ล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันมีนักลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 2 ล้านคน เป็นที่เรียบร้อย ที่สำคัญคือนักลงทุนมีอายุเฉลี่ยลดลงกว่าเดิม

พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ดังนั้น การลงทุนหลังจากนี้จึงมีทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อไม่พลาดโอกาสแห่งอนาคต

คริปโทเคอเรนซี่: จุดเริ่มต้นของระบบการเงินแบบใหม่

คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท็อป) ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท็อป) ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท็อป) ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน คริปโทเคอเรนซี่ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ณ ปัจจุบัน มีผู้เปิดบัญชีกับ Bitkub ที่ยัง active กว่า 1 ล้านบัญชี เรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายแพลตฟอร์มในแต่ละวันอยู่ที่ 8-12 พันล้านบาท

ในบริบทโลก ตอนนี้คริปโทเคอเรนซี่มี market cap อยู่ที่ 2.3-2.4 ล้านล้านดอลลาร์  โดยที่มีนักลงทุนชื่อดังและนักลงทุนสถาบันระดับโลกเข้าไปลงทุนเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น George Soros, Goldman Sachs, JP Morgan, Tesla, Square, Twitter และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คริปโทเคอเรนซี่เป็นแค่สกุลเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นอย่างระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi ที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ไม่ต้องใช้ตัวกลาง เช่น รัฐ ธนาคาร โรงรับจำนำ ในการทำธุรกรรม แต่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเชื่อมต่อผู้ทำธุรกรรมทั้งสองฝ่ายเข้าหากันโดยตรง 

DeFi: คลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ในโลกการเงิน

คุณ กานต์นิธิ ทองธนากุล (คิม) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital ผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand
คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล (คิม) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital ผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand

คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล (คิม) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital ผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand กล่าวว่าโควิดช่วยเร่งให้ DeFi เติบโตขึ้นเพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้คนหันไปทำธุรกรรมแบบ Cashless มากขึ้น อย่างในเดือนกันยายน 2020 มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi เพียง 5 แสนคนทั่วโลก แต่สามารถเติบโตขึ้น 20 เท่า เป็น 10 ล้านคน ในช่วงเวลา 1 ปี เท่านั้น

คุณคิม กานต์นิธิ อธิบายให้ฟังว่าที่จริงแล้ว DeFi ก็ไม่ต่างไปจากการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม คือเราสามารถฝากเงินสร้างสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม DeFi เพื่อรับผลตอบแทนเหมือนฝากเงินธนาคาร และแพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะนำเงินไปให้บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไม่ต่างจากธนาคาร เช่น การปล่อยกู้แบบ P2P Lending หรือ รับแลกสกุลเงินดิจิทัลโดยไม่มีตัวกลางแต่ทำผ่าน smart contract ที่เป็นโค้ดคอมพิวเตอร์

เราจึงสามารถลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับตัวกลาง ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นและจ่ายค่าธรรมเนียมน้อยลง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินที่อาจมีบทบาทสำคัญในอนาคต

โอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ในโลกการเงินไร้ตัวกลาง

คุณท็อป จิรายุส เชื่อว่าหลังจากนี้ประมาณ 5 ปี เราจะคุ้นเคยกับ DeFi และใช้กันเป็นปกติมากขึ้น โดยธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากคริปโทเคอเรนซีได้หลายรูปแบบ เช่น

  • กระจายความเสี่ยงนำกำไรบางส่วนมาถือ Bitcoin หรือคริปโทเคอเรนซี่ตัวอื่น
  • ลดต้นทุนธุรกรรมผ่านการใช้ protocol แบบไร้ตัวกลางเพื่อทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
  • เพิ่มทางเลือกในการแลกเปลี่ยนมูลค่า เช่น ใช้คริปโทเคอเรนซี่เพื่อโอนเงินจำนวนไม่มากข้ามประเทศ
  • การระดมทุนผ่านระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง
  • แปลงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นเหรียญที่มีตัวตนในโลกดิจิทัล เช่น ทำ gift voucher

อย่างไรก็ตาม แม้การเงินไร้ตัวกลางจะนำมาซึ่งโอกาสแต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง ความสูญเสียจากการหลอกลวงโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi มีให้เห็นอยู่เสมอ ที่สำคัญการไร้ตัวกลางหมายความว่าความสูญเสียต่างๆ จะไม่สามารถถูกกู้คืนได้ จึงต้องลงทุนในแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและได้รับการตรวจสอบโดย audit เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความผันผวนของคริปโทเคอเรนซี่ที่มีมากกว่าสินทรัพย์การลงทุนแบบดั้งเดิม ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาคือเครื่องป้องกันความเสี่ยงและเครื่องช่วยไขว่คว้าโอกาสในโลกการเงินไร้ตัวกลางของธุรกิจและนักลงทุนทุกคน

สรุป

โลกในปี 2030 จะไม่ใช่โลกใบเดิมที่เรารู้จักอีกต่อไป โปรตีนจากพืช เครื่องดื่มสังเคราะห์ รถไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ การศึกษา Nano-degree การรักษาด้วยการปรับแก้จีโนม อาจกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในยุคนั้น

ที่สำคัญ ยังมีเรื่องของระบบคริปโทเคอเรนซี่และระบบการเงินไร้ตัวกลางที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าโลกของการเงินและการลงทุนที่เราคุ้นเคยให้เปลี่ยนไป หลังจากนี้การทำธุรกรรมข้ามประเทศแบบไร้ตัวกลางจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสมหาศาลของธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงที่ประเมินไม่ได้

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ที่ร่วมให้ความรู้กับเราในวันนี้ต่างเห็นตรงกันว่าในท้ายที่สุด ความเปิดกว้างและการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จะช่วยก้าวข้ามความท้าทายและไขว่คว้าโอกาสที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา