เรียนรู้การก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19 ผ่านธุรกิจเบเกอรี่-ธุรกิจวัสดุตกแต่งอาคาร

 “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุดหรอกที่จะอยู่รอด
แต่เป็นผู้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก”  

ในสถานการณ์ที่ผ่านมาหลากหลายองค์กร จากหลาย ๆ กิจการอาจจะต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนั้นก็ยังมีธุรกิจที่สามารถอยู่รอด และยังคงเติบโตสวนทางสภาวะเศรษฐกิจ

เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ TMB

เสวนาในหัวข้อ “Sharing the way to overcome a crisis” จากงาน  Get Together by TMB | Thanachart เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่ได้ผ่านโครงการ LEAN Supply Chain จากรุ่น 12 และรุ่น 15 ที่ได้นำความรู้ และแนวคิด จากโครงการไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มาวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจมาร่วมพูดคุยอีกด้วย

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจว่า ถ้าเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินสมัยปี 1997 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทยนั้น พบว่าในปัจจุบัน จีดีพีไตรมาสที่สองหดตัวอยู่ที่ 12.2% ขณะที่ปี 1997 เศรษฐกิจหดตัวแรงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 10% ถือว่าครั้งนี้ผลกระทบค่อนข้างหนักกว่า แต่ในอีกมุมนึงการฟื้นตัวรอบนี้ก็เร็วกว่า ถ้าเรามองจากข้อมูลล่าสุด เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันมียอดขายที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนกำลังซื้อของคนมีทิศทางดี ราคารถมือสองเริ่มกลับมาปกติแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม

ด้านที่อยู่อาศัย พบว่าภาคที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ คือกลุ่มคอนโดมิเนียม ราคาโดยรวมลดลง แต่ราคาบ้านเดี่ยวยังคงยืนราคาสามารถรักษามูลค่าได้อยู่ หากมองในเชิงการทำธุรกรรมทางการเงิน พบว่า Mobile Banking หรือการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมีอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจจะมีช่วงเวลาลดลงไปบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว

นริศเปรียบเทียบช่องทางออฟไลน์กับออนไลน์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และมียอดธุรกรรมทางการเงินที่ฟื้นตัวดีขึ้นในบางพื้นที่ ขณะที่ยอดการใช้บริการผ่านช่องทางตู้เอทีเอ็มก็ฟื้นตัวดีขึ้นในบางพื้นที่เช่นกัน

จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ภูเก็ตมียอดการถอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางการเงินที่ลดลงไป แต่ในบริเวณรอบกรุงเทพ และปริมณฑล อาทิ จังหวัดสมุทรสาครนั้น มีการฟื้นตัวกลับมาแทบจะปกติแล้ว ในขณะที่ยอดใช้จ่ายตามร้านอาหารนั้นอาจจะลดลงไปบ้าง แต่มีการใช้จ่ายในการเดลิเวอรี่อาหารที่เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้คนอาจจะลดการเข้าใช้บริการตามร้านอาหาร แต่เน้นสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมาทานที่บ้านแทน ส่วนข้อมูล high frequency จาก Google และ Facebook เริ่มชี้ให้เห็นว่าผู้คนเริ่มจะกลับมาเดินห้างมากขึ้นเหมือนกับช่วงก่อนโควิดแล้ว เพียงแต่ยอดค่าใช้จ่ายอาจจะลดลง 

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB

อย่างไรก็ตาม นริศมองว่า แม้ว่าการบริโภคในประเทศดีขึ้น แต่เราก็ไม่ควรประมาท เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกนานขนาดไหน เราควรเตรียมใจสำหรับการปรับธุรกิจตามยอดขายที่ลดลง นอกเหนือจากการปรับตัวในเชิงธุรกิจแล้วองค์กรก็ควรมีการกลยุทธ์ด้านการเงินเช่นกัน คือปรับ balance sheet คือทำให้องค์กรมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ลดลง รวมถึงขนาดสินทรัพย์ (assets) และหนี้สิน (liabilities) ที่เหมาะสมกับ landscape ของตลาดที่เปลี่ยนไป

ด้านกำลังซื้อภายในประเทศ นริศเสริมอีกว่า ปัจจุบันภาครัฐก็ค่อย ๆ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลมาตรการชำระหนี้เพิ่มเติม ธนาคารทุกแห่งก็พยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกธุรกิจสามารถประคองตัวเพื่อฝ่าวิกฤตต่อไปได้เช่นกัน

ด้านมินทร์ธิรา วิชญวงศ์ธีรกุล เจ้าของและเชฟประจำร้าน Yellow Spoon Pastry หนึ่งในผู้ที่ร่วมโครงการ LEAN Supply Chain รุ่น 15 เล่าถึงการทำธุรกิจว่า Yellow Spoon Pastry แบ่งที่มารายได้ออกเป็น 4 หน่วยธุรกิจ หน่วยแรกคือการขายหน้าร้านและออนไลน์ผ่าน 4 สาขา หน่วยที่ 2 คือรับจ้างผลิตให้ร้านกาแฟและร้านอาหารหรือ OEM หน่วยที่สามคือ Catering หรือบริการจัดเลี้ยง ซึ่งในส่วนนี้ 80% ของลูกค้าเป็นการจัดเลี้ยงของหมู่บ้านจัดสรร และหน่วยที่สี่คือการสอนทำขนม 

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มินทร์ธิราเล่าว่า ธุรกิจของเธอที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือยอดขายในส่วนบริการจัดเลี้ยงและการสอนทำขนม ส่วนยอดขายตามร้านต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรก ๆ เป็นช่วงที่ Yellow Spoon Pastry มีการจัดงานที่สยามพารากอน ซึ่งได้สังเกตเห็นว่า ห้างร้านช่วงนั้นถือว่าค่อนข้างเงียบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ มินทร์ธิราจึงเริ่มที่จัดลำดับว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนบ้าง

มินทร์ธิราประเมินว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมเป็นช่วงที่ห้างร้านต่าง ๆ จะเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจ แต่ผู้บริโภคอาจจะยังไม่จับจ่ายในห้างสรรพสินค้ามากนัก ยังคงใช้เวลากับการท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากกว่า ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ กว่าจะเริ่มฟื้นตัวก็น่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายน ขณะเดียวกันก็ยังมีมาตรการควบคุมโรคระบาดอยู่ เธอจึงเริ่มทบทวนการลงทุน จากเดิมที่เคยคิดว่าจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติมก็เริ่มชะลอการลงทุนในส่วนนี้

ทั้งนี้ หลังจากที่เธอได้เรียนในโครงการ LEAN Supply Chain มา เธอพบว่าสามารถนำบทเรียนมาประยุกต์กับธุรกิจได้มากขึ้น เช่น การจัดการต้นทุนที่เสียไป เป็นต้น ยิ่งหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เธอได้นำความรู้มาจัดการกับต้นทุนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำแนวคิดการทำงานอย่างมีระบบมาใช้กับธุรกิจมากขึ้น

เมื่อเกิดวิกฤต สถานการณ์บีบบังคับให้คิดนอกกรอบ จะทำอย่างไรให้ลดต้นทุนการผลิต จากที่เคยคิดว่าการทำขนมของ Yellow Spoon เป็นงานทำมือที่สร้างความแตกต่าง เชฟควรจะทำได้ทุกหน้าที่ทุกตำแหน่ง แต่การแบ่งแผนกตามความชำนาญของเชฟแต่ละคนให้มีความเฉพาะทาง จะเป็นการช่วยทำให้เชฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยทำให้ประหยัดค่าสาธารณูปโภคมากขึ้น

มินทร์ธิรา วิชญวงศ์ธีรกุล เจ้าของและเชฟประจำร้าน Yellow Spoon Pastry

อีกวิธีแก้ของสมการ คือการเพิ่มรายได้ มินทร์ธิราพยายามนำธุรกิจไปสู่เดลิเวอรี่ในทุกแพลตฟอร์มให้เร็วที่สุด ซึ่งการขยายเข้าแพลตฟอร์มนี้ทำให้เธอไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน แต่ยังมีรายได้มากขึ้น และสามารถรับพนักงานเพิ่มขึ้นได้ด้วย 

เธอบอกว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาแทบไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของเธอเลย แต่เป็นการเร่งให้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โครงการ LEAN Supply Chain ที่ได้เรียนมา ทำให้เธอสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ เธอทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้ทุกคนกังวลจนไม่กล้าทำอะไรเลย ทุกคนน่าจะสามารถหาทางเติบโตต่อไปในวิถีทางของตัวเองมากขึ้น

เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ TMB (ซ้าย) ดร. จเรศักดิ์ ทรงวุฒิวิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเทค คอร์ปอเรชั่น (ขวา)

ส่วน ดร. จเรศักดิ์ ทรงวุฒิวิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด LEAN Supply Chain รุ่น 12 เล่าว่าธุรกิจที่ทำอยู่นี้ ถือเป็นยุคแรกที่เริ่มทำเองตั้งแต่ราว 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 ชีวิต มีลูกค้าที่ทีมีการค้าเป็นประจำกว่า 2,000 ราย

ดร. จเรศักดิ์ มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมามีผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่เริ่มมีการระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งก็ถือว่าเป็นซัพพลายเออร์ (Supplier) หลักของธุรกิจ เขาเริ่มเห็นสัญญาณว่าซัพพลายเออร์เริ่มผลิตสินค้าไม่ได้แล้ว เขาจึงเริ่มประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจตัวเองบ้าง จากเดิมที่เคยนำเข้าสินค้าตามอัตราปกติราว 40 ตู้คอนเทนเนอร์ 

เมื่อเขาเห็นสัญญาณที่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เขาจึงสั่งสินค้ามากกว่าปกติจาก 40 ตู้ เป็น 80 ตู้คอนเทนเนอร์ เรียกได้ว่าช่วงนั้นคู่แข่งทางธุรกิจอาจจะไม่มีสินค้าในสต็อก แต่สำหรับเขาเตรียมตัวได้ทันเพราะประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนแล้ว 

ต่อมา ดร. จเรศักดิ์ พบว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมากก็คือช่วงที่มีการปิดเมืองหรือ ล็อกดาวน์ ที่นำไปสู่การปิดห้างร้านต่าง ๆ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน เขาก็เริ่มปรับตัวมากขึ้น โดยปรับแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้ เช่น การทำกล่องกันเชื้อฟุ้งกระจายที่ได้พัฒนาร่วมกับทีมแพทย์ และใช้วัสดุอะคริลิคซึ่งเป็นวัสดุที่เขาจำหน่ายอยู่แล้ว ซึ่งเดิมทีเขาตั้งใจทำเพื่อนำไปบริจาคโรงพยาบาลต่างๆ แต่หลังจากที่เริ่มทำไปบริจาคแล้วกลับกลายเป็นว่าในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการใช้ จึงเกิดยอดซื้อเพื่อไปบริจาคในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีลูกค้าทางโซเชียลมีเดียที่กลายมาเป็นลูกค้ามากขึ้น มีการติดต่อเพื่อซื้อไปบริจาคทั่วประเทศ   

ดร.จเรศักดิ์ มองว่า ลูกค้าธุรกิจด้านการผลิตสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์เริ่มส่งผลกระทบในด้านยอดขาย ทำให้เกิดผลกระทบต่อกระแสเงินสด ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากทางธนาคารเป็นอย่างดีมากโดยเฉพาะในการหยุดพักชำระหนี้ ทำให้สามารถช่วยเหลือการชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กได้เช่นกัน ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

จากนั้นเขาก็เริ่มปรับทิศทางธุรกิจมากขึ้น เมื่อยอดขายลดลง ขณะเดียวกันซัพพลายเออร์ที่ประเทศจีนก็เริ่มกลับมาเปิดโรงงานผลิตสินค้าได้ ในขณะที่จีนเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้น ลูกค้าทั่วโลกเริ่มสั่งสินค้าน้อยลงเพราะกำลังรับมือกับสถานการณ์อยู่ ดร.จเรศักดิ์ จึงเห็นว่า เมื่อจีนได้รับออเดอร์น้อยลง จะทำให้เขาผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น เขาจึงตัดสินใจสั่งสินค้าเพื่อนำมาสต็อกให้เพียงพอกับเวลาขาย เริ่มปรับทิศทางกระแสเงินสดมากขึ้น เริ่มหารือกับลูกค้ามากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ดร.จเรศักดิ์ มองว่า เขายังคงปรับตัวต่อไป สถานการณ์นี้เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ตั้งใจจะทำอยู่ก่อนหน้าแล้ว เขามองว่า ธุรกิจที่กำลังมาแรงคือโลจิสติกส์หรือการขนส่ง เขาเห็นว่าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป จากเดิมที่ลูกค้าเคยรอสินค้าได้ราว 3-4 วัน ตอนนี้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นความอดทนต่อการรอสินค้าเหลือเพียงรอได้วันเดียว ทำให้เขาเริ่มกระจายสาขาให้ทั่วประเทศเพื่อรับมือกับสิ่งนี้

ดร. จเรศักดิ์ ทรงวุฒิวิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเทค คอร์ปอเรชั่น

สิ่งที่ได้จากการเรียนในโครงการ LEAN Supply Chain ดร. จเรศักดิ์ พูดถึงเรื่องโลจิสติกส์ว่า พอเปิดเมือง ลูกค้า 10 รายสั่งสินค้าทุกคน แต่ละรายสั่งสินค้าในจำนวนไม่มาก เขาได้ความรู้ด้านการคำนวณมาปรับโลจิสติกส์ ด้วยการยุบเส้นทางส่งสินค้าให้ประหยัดเวลาและต้นทุนมากขึ้น ทำให้หนึ่งเส้นทางสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้มากกว่า 10 ราย ดร. จเรศักดิ์มองว่า ในทุกวิกฤติมีโอกาส แม้บางคนอาจยังไม่เห็นโอกาส แต่เขาคิดว่าในทุกวิกฤต ต้องมีทางรอด ต้องมีสักมุมที่สามารถอยู่รอดได้ 

สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เข้ามาเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เร็วยิ่งขึ้น หากผู้ประกอบการณ์มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะรับมือ เราจะสามารถผ่านทุกสถานการณ์ไปด้วยกันได้

#LEANSupplyChain
#เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
#TMB #ThanachartBank
#MakeREALChange
#Advertorial

โครงการ LEAN Supply Chain by TMB I Thanachart 

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจทั้งซัพพลายเชนด้วยเทคนิค Lean Six Sigma เรียนรู้ผ่าน Workshop และกิจกรรมกลุ่ม Supply Chain สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในการถ่ายทอดความรู้และกรณีศึกษา และสามารถต่อยอดธุรกิจกับผู้ร่วมโครงการในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งจัดมาแล้วกว่า 15 รุ่น 8 อุตสาหกรรม 100 โปรเจค สามารถช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา