สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เอื้อประโยชน์ให้เวียดนาม มาเลย์ฯ อาเซียน ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ วันที่อาเซียนสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา แซงหน้าจีนได้สองไตรมาสติดต่อกัน แน่นอนว่าภาพสะท้อนเช่นนี้ทำให้เห็นว่าซัพพลายเชนโลกกำลังเปลี่ยน

ผลประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้น ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ ก็คือกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

International trade

จากข้อมูลพบว่า 10 ประเทศในอาเซียนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทะลุ 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โค่นบัลลังก์จีนไปแล้วเรียบร้อย จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 7.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.39 ล้านล้านบาทสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3%

สำหรับประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั้น ฟิลิปปินส์ มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 35% ตามด้วยเวียดนาม 24% และมาเลเซีย 11%

การส่งออกจากประเทศในอาเซียนไปยังสหรัฐฯ​ ดังกล่าว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าซัพพลายเชนของโลกน่าจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางจากจีนนับตั้งแต่โควิดระบาดเป็นต้นมา ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งต่างก็พยายามย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศขนาดเล็กๆ ที่ต้นทุนต่ำแต่มีศักยภาพในการเติบโตสูงอย่างในอาเซียน

สำหรับประเภทสินค้านั้น ช่วงไตรมาสสอง เวียดนามส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องจักรไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 41% ตามด้วยฟิลิปปินส์ส่งออกเพิ่มขึ้น 36% ไทยเพิ่มขึ้น 16% และมาเลเซียเพิ่มขึ้น 9%

ส่วนข้อจำกัดที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้นสำหรับการนำเข้าสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่มีข้อบังคับเมื่อตุลาคม 2022 ที่ผ่านมานั้น นำไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่จะลดการพึ่งพาจีนด้วย

ยิ่งสหรัฐฯ ขัดแย้งจีน ยิ่งสร้างผลประโยชน์ให้เวียดนาม

เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Hana Micron Vina ก็มาสร้างโรงงานผลิตชิปที่ทางตอนเหนือของจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang) ในเวียดนาม แค่นั้นไม่พอ สื่อเวียดนามยังรายงานอีกว่า เตรียมเพิ่มมูลค่าการลงทุนในเวียดนามอีกกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2025 เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2022 อยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยังไม่จบเท่านี้ บริษัทจากเกาหลีใต้อีกราย SK Group ก็เพิ่งซื้อบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ Iscvina ใน Vinh Phuc จังหวัดทางตอนเหนือของเวียดนามด้วยมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

บริษัท Samsung ก็ไม่พลาดรถไฟสายแห่งความหวังนี้ด้วยการมาเปิดโรงงานขนาดใหญ่ที่ Bac Ninh และ Thai Nguyen จังหวัดทางตอนเหนือของเวียดนามเช่นกัน

เราจะเห็นว่าการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมักเกิดขึ้นทางตอนเหนือของเวียดนาม ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าทางตอนเหนือของเวียดนามเชื่อมต่อกับจีน บริษัทต่างๆ ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกล้วนเห็นประโยชน์จากการใช้ซัพพลายเชนที่เชื่อมต่อการส่งออกให้ง่ายขึ้นจากท่าเรือนานาชาติ Lach Huyen ซึ่งมีขนาดใหญ่มากและเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2018

หัวหน้าฝ่ายวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ VNDIRECT ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเวียดนามจึงมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาลเช่นนั้น แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ เวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และยังมีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาให้แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็เตรียมเพิ่มการส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐและประเทศอื่นในโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Anwar Ibrahim ก็ประกาศไว้เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลของเขาเตรียมทุ่มงบประมาณอย่างน้อย 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ​ 1.9 แสนล้านบาทในการพัฒนาศักยภาพคนมาเลเซียและรัฐบาลท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังเป็นทั้งหมุดหมายปัจจุบันและอนาคตของโลก

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Infineon บริษัทผลิตชิปจากสหภาพยุโรปก็มาสร้างโรงงานผลิตชิปในมาเลเซีย คาดว่าโรงงานใน Kulim ของมาเลเซียนี้ จะเป็นโรงงานที่ผลิต silicon carbide (วัสดุเซมิคอนดักเตอร์ที่มีการผสมผสานระหว่างซิลิคอนและคาร์บอน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อถึงเวลาที่สามารถผลิตชิปได้เต็มกำลัง ซึ่งก็น่าจะเป็นห้าปีหลังจากนี้

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา