ต้อนรับสมรสเท่าเทียม ไทยเป็นศูนย์กลาง LGBTQ+ แล้ว
เดือน Pride Month แบบนี้ หนึ่งในสิ่งที่ต้องถูกพูดถึงคือ Drag (แดร็ก) ศิลปะการแสดงโชว์ผ่านเรือนร่างที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐอเมริกา ผู้แสดงจะแต่งตัวเสื้อผ้าหน้าผมมาแบบหรูเริ่ดอลังการขั้นสุด จนหลายคนคิดว่านี่คือศิลปะการแสดงของชาว LGBTQ+ แต่ความจริงแล้วศิลปะไม่ได้จำกัดเพศ ใครก็สามารถทำได้
เมื่อพูดถึง Drag ต้องนึกถึง The Stranger Bar House of Drag Queens บาร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ และประเทศไทยที่นำเสนอโชว์ Drag 7 วันต่อสัปดาห์ โดย จักกาย เจิมขวัญ aka เอ็ม สเตรนเจอร์ ฟ็อกซ์ ผู้ก่อตั้ง บอกว่า จะผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศไหน ก็สามารถทำ Drag ได้ ถ้าชอบ อย่าจำกัดศิลปะไว้ที่เพศใดเพศหนึ่ง เพราะศิลปะเป็นของทุกคน
เอ็ม ย้อนเล่าจุดเริ่มต้น The Stranger Bar ว่าเริ่มต้นจากธุรกิจบาร์จริงๆ แต่หลังจาก 3-4 ปีแรกของการเปิดร้าน เอ็ม ได้เห็นรายการ RuPaul’s Drag Race ทาง YouTube ซึ่งเป็นรายการอันดับ 1 เรื่อง Drag จากสหรัฐอเมริกา เลยเกิดไอเดียการทำ Drag ขึ้น จากเดิมที่เป็น Costume Party ในบางวัน ก้าวสู่สิ่งใหม่ด้วยการทำ Drag จาก 1 เป็น 3 เป็น 5 และในที่สุดก็มีแสดงโชว์ 7 วันต่อสัปดาห์ The Stranger Bar จึงเป็นบาร์แห่งเดียวที่มี Drag ทุกวัน
The Stranger Bar บาร์ที่เปิดมาแล้ว 13 ปี ณ พื้นที่สีลมซอย 4 ย่านธุรกิจกลางคืนที่หลายคนรู้จักกันดี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคและความสำเร็จมาจนปัจจุบันได้รับความนิยม ขยายขนาดร้าน และพร้อมต้อนรับทุกคนที่สนใจในศิลปะนี้
สมรสเท่าเทียม จุดเปลี่ยนไทยสู่ฮับ LGBTQ+
ก่อนเริ่มต้นเล่าถึงธุรกิจ The Stranger Bar เอ็มบอกว่า สมรสเท่าเทียมจะผ่านสภาแน่นอน 1,000,000% และเมื่อผ่านแล้วจะเป็นการจุดพลุเริ่มต้น LGBTQ+ ในประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศผ่านสภาตามมาอีกเรื่อยๆ และจะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจในไทยให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล
แค่ประเทศไทยสามารถให้ LGBTQ+ แต่งงานกันได้ จะมี LGBTQ+ จากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาจัดงานแต่งงานที่ประเทศไทย เพราะที่นี่มีเสน่ห์ มีพลังดึงดูด มีกิจกรรมพิเศษมากมาย การที่ไทยชิงปักธงได้ก่อนประเทศอื่นๆ คือโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะ LGBTQ+ มีเงินแต่ไม่มีลูกจึงไม่มีภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้น เงินส่วนใหญ่จึงใช้ในการหาความสุขให้กับตัวเอง
ถ้าบอกว่าไทยจะเป็นศูนย์กลาง LGBTQ+ ตอนนี้เป็นไปได้แล้ว สามารถแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้หมด โดยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นจุดเริ่มต้นที่แข็งแรง
The Stranger Bar ชื่อแปลกหน้า แต่บาร์จริงใจ
ที่ The Stranger Bar การแสดงโชว์ Drag ทั้งหมดคือการส่งเสริมการขาย เพราะธุรกิจที่นี่คือขายเครื่องดื่ม ส่วนตัวเป็นคนดื่ม ดังนั้นจึงยึดหลักจริงใจกับลูกค้า การดื่มคือ ประสบการณ์ ถ้าสั่งเครื่องดื่ม เช่น ค็อกเทลมาแล้วไม่รู้สึกถึงแอลกอฮอล์ ส่วนตัวรับเรื่องนี้ไม่ได้ เท่ากับร้านไม่จริงใจกับลูกค้า
ดังนั้น The Stranger Bar ขายเครื่องดื่มต้องถูกใจและถึงใจลูกค้า มีการคิดสูตรมาอย่างดี เช่น สูตรสำหรับคนมีเงินน้อยก็แรงหน่อย กินน้อย แก้วเดียวเห็นผล ถ้าคนพอมีเงินก็จะเน้นความกลมกล่อม ลุ่มลึก ได้รสชาติที่ดี แต่ทุกคนสามารถสนุกสนานกับบรรยากาศของที่นี่ได้เหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นการขายเครื่องดื่ม หรือการแสดงโชว์ ต้องจริงใจ ถ้าเราทำโชว์ เราอยากกลับมาดูเอง ก็แปลว่าโชว์นี้ดี เราขายเครื่องดื่มถ้าอยากดื่มเองก็แปลว่าดีจริง แต่ถ้าไม่อยากกลับมาดูอีก ไม่อยากซื้อเครื่องดื่มอีก ก็แปลว่า ไม่ใช่ แต่ถ้าทำดีแล้วจะถูกใจคนดูหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และพร้อมจะพัฒนาปรับปรุงตลอดเวลาด้วย
การแสดงโชว์ Drag ถือเป็น Extra Cost ที่เพิ่มขึ้นเพราะโชว์ไม่ได้ทำเงิน หลายๆ ที่รวมถึง The Stranger Bar ขายเครื่องดื่ม แต่ด้วยใจรักการทำ Drag จริงๆ ที่นี่จึงเลือกจะทำโชว์ทุกวัน อยากให้มีทุกวัน และพอทำทุกวันแล้วก็มีลูกค้ามีคนมาดูทุกวัน
“ต้องบอกว่า The Stranger Bar ต่างจากทิฟฟานี่ หรือ อัลคาซ่า ที่มีลักษณะเป็น Theater ซึ่งต้องมีแสง สี เสียง คอสตูมมีทีมงานหลายคน ต้องบริหารโปรดักชั่นด้วย ต่างจากที่นี่ที่เป็นบาร์ ทุกคนเป็นศิลปินดูแลตัวเอง ได้รับทิปจากผู้ชมที่พึงพอใจในการแสดง รูปแบบธุรกิจจึงต่างกันเยอะมาก
ทีม Drag Queen ฝีมือระดับพระกาฬ
จุดแข็งและจุดเด่นของ The Stranger Bar คือทีม Drag Queen ที่กล้าพูดว่า ยากจะหาคู่แข่งมาเทียบได้ จุดเริ่มต้นมาจาก การคัดเลือกคนที่มีความสามารถจากทั่วประเทศมาร่วมงานกัน ทุกคนมี Identity ของตัวเอง แต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย ทุกคนมีความพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นค่อยมาช่วยกันปรับให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ให้เหมาะกับลูกค้ามากขึ้น
อย่างที่บอกว่า Drag ของ The Stranger Bar คือศิลปะ นักแสดงทุกคนคือศิลปินที่ต้องการนำเสนอผลงานของตัวเอง ทุกคนต้องสร้างสรรค์ จึงต่างจากทิฟฟานี่ หรือ อัลคาซ่า ที่เป็นธุรกิจที่เหมือนโรงละคร
“คนทำ Drag ก็คือศิลปิน ถ้าลูกค้ายังไม่รู้จัก ยังไม่ดัง เราก็จะช่วยปรับให้การแสดงย่อยง่าย เข้าถึงง่าย เป็นการผสมผสานศิลปะกับคอมเมอร์เชียลให้ลงตัว จากนั้นถ้าดังแล้ว เป็นที่รู้จักแล้ว ก็อาจจะทำโชว์ที่ลึกมากขึ้น เป็นตัวเองมากขึ้นได้”
ถ้าดูพื้นที่ของบาร์ทั่วไป ปกติจะต้องมีพื้นที่ให้ลูกค้ามากๆ เป็นพื้นที่ขายเพื่อรองรับลูกค้าเป็นรายได้ของธุรกิจ แต่ที่ The Stranger Bar ให้พื้นที่ Drag โชว์กับพื้นที่ของลูกค้าเท่าๆ กัน แสดงถึงการให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม และชั้นสองคือพื้นที่ของการแต่งตัว เตรียมตัว ทั้งหมดของศิลปินอีกด้วย
การสนับสนุนที่อยากให้มาถึง
สำหรับช่วงเวลาโควิด เอ็ม บอกว่า ธุรกิจกลางคืน คือ ธุรกิจแรกที่รับผลกระทบจากโควิด ปิดที่แรกและเปิดที่สุดท้าย แต่ไม่มีมาตรการอะไรรองรับเลย ไม่ใช่แค่เจ้าของธุรกิจ แต่รวมถึงพนักงานทุกคน ครอบครัวของพนักงานด้วย ทั้งที่ผ่านมาเราทำธุรกิจจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง เมื่อมีคำสั่งปิด รัฐบาลต้องมีมาตรการที่รัดกุมมารองรับ จริงว่าเมื่อมีโรคระบาดต้องปิด แต่ปิดแล้วอย่างไรต่อ คนทำงานจะทำอย่างไร
ธุรกิจ The Stranger Bar ก็คือ แย่เลย ปิดร้านไป 2 ปี แต่รายจ่ายเหมือนเดิม ค่าเช่าสถานที่เหมือนเดิม ยังต้องจ้างคนทำบัญชี ส่งรายละเอียดทางภาษีเหมือนเดิม ในขณะที่รายรับคือ 0 บาท เพราะนี่คือธุรกิจที่ต้องมี ลูกค้า เมื่อไม่มีลูกค้าก็คือไม่มีรายได้เลย ลองทำ Drag Show Online แล้ว แต่ก็ไม่เหมือนทำร้าน เพราะ Drag คือประสบการณ์ที่ทุกคนต้องได้รับ ซึ่งออนไลน์ให้ไม่ได้
แต่ต้องบอกว่า The Stranger Bar โชคดีมาก ที่มีลูกค้าที่รัก การทำโชว์ออนไลน์ เปิดให้คนดู Funding ก็ได้รับเงินเป็นหลักแสนเข้ามาจากทั่วโลก เพื่อช่วยให้ธุรกิจของเรายังอยู่ต่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก
แต่สิ่งที่มั่นใจมากคือไม่เลิกกิจการนี้แน่นอน เราทุ่มมาหมดหน้าตัก Passion เรามาเต็มที่มากไม่ได้อยากทำอย่างอื่น บอกเลยว่ามีหนี้เป็นล้านจากช่วงนั้น แต่พอเปิดโควิดมาแค่ปีเดียว สามารถปิดหนี้ได้ มีเงินเก็บและขยายร้านได้ด้วย ส่วนหนึ่งเพราะหลังโควิดเหมือนฟ้าหลังฝน คนอัดอั้นมานานต้องการพักผ่อนท่องเที่ยว
ธุรกิจ ศิลปะ Drag และ LGBTQ+
สรุปแล้ว ธุรกิจไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ ไม่ว่าจะเพศอะไรก็มีสิทธิ์ที่จะทำธุรกิจได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับการทำ Drag ที่ The Stranger Bar ถ้าสังคมเปิดรับมากขึ้น จะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจและขยายงาน มีพื้นที่มากขึ้น สร้างศิลปิน Drag ใหม่ๆ เข้าสู่วงการ ส่วนสำคัญคือสังคมกระแสหลักต้องเปิดกว้างว่า Drag ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ LGBTQ+ เท่านั้น
และยิ่งกว่านั้น Drag ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การแสดงโชว์ หรืองานกลางคืนเท่านั้นด้วย เหมือนกับนักร้องที่ไม่ต้องร้องเพลงตลอดเวลา คนวาดรูปไม่ต้องวาดรูปตลอดเวลา แต่ได้รับการยอมรับให้ทำงานอื่นๆ ในสังคมที่เปิดกว้างได้ Drag จะเป็นชายจริงหญิงแท้ก็สามารถเข้ามาทำศิลปะตรงนี้ได้
และท้ายสุด ถ้าสนใจศิลปะ Drag อย่าลืมแวะมา The Stranger Bar House of Drag Queens สีลมซอย 4 มาได้ทุกวัน สัมผัสประสบการณ์จริงๆ แบบใกล้ชิดแล้วคุณจะชอบศิลปะนี้มากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา