ธุรกิจเหล็กในไทยกำลังลำบาก จีนระบายสินค้าทะลักประเทศ ผู้ประกอบการไทยขาดทุนอ่วม

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องเผชิญกับความท้าทายประเด็นเรื่อง การแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจากประเทศจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด และกดดันให้ราคาเหล็กอยู่ในเทรนด์ขาลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากปัญหา Stock Loss ได้โดยบทความ Krungthai COMPASS วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจเหล็กไทยในช่วงของปี 2567 และปี 2568 เอาไว้ว่า 

[ภาวะอุตฯ เหล็กไทยเป็นอย่างไรใน 1H/67]

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ไทยมีการบริโภคเหล็กลดลงจากปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้การบริโภคเหล็กไทยลดลงเป็นเพราะการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ และก่อสร้าง ลดลง โดยใน 1H/67 ไทยมีการผลิตรถยนต์ 0.76 ล้านคัน ลดลง -17.4%YoY ส่วนการก่อสร้างก็หดตัวลงเหลือ 6.4 แสนล้านบาท หรือ -11.2%YoY และแม้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์โลหะซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมปลายน้ำของเหล็กไทยจะขยายตัวได้ 1.8%YoY แต่ก็ไม่สามารถชดเชยการหดตัวของยานยนต์และภาคก่อสร้างได้

[เหล็กนำเข้าส่วนแบ่งเพิ่มต่อเนื่องโดยเฉพาะจากเหล็กจีน]

นอกจากปัญหาความต้องการบริโภคเหล็กที่ลดลงแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจของเหล็กไทยยังต้องเผชิญกับภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากเหล็กนำเข้า สะท้อนจากสัดส่วนเหล็กนำเข้าต่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจาก 65.6% ในปี 2562 เป็น 69.0% ใน 1H/67 

ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะหลังจาก 20% ในปี 2561-2562 ขึ้นมาเป็น 28.9% ในปี 2566 และ 31.8% ใน 1H/67 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เหล็กจีนมีสัดส่วนในไทยมากขึ้นเป็นเพราะ 

1) จีนเป็นผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 ของโลก โดยมีสัดส่วนการผลิตกว่า 50-55% ทำให้มีความได้เปรียบด้านขนาด (Economy of Scale) ส่งผลต่อเนื่องให้เหล็กจีนสามารถทำราคาได้น่าดึงดูดกว่า ประกอบกับ 

2) เมื่อภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากปัญหาในภาคอสังหาฯ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในจีนจึงหดตัวตามลงมา และทำให้ผู้ผลิตเหล็กของจีนต้องหาทางระบายสต็อกเหล็กของตนผ่านการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

[ราคาเหล็กไทยหดตัวตามทิศทางเหล็กจีน]

สำหรับราคาเหล็กไทยใน 1H/67 พบว่าอยู่ที่ระดับ 21.3-25.2 บาทต่อกิโลกรัม หดตัวในกรอบ -9%YoY ถึง -7%YoY โดยเป็นการปรับตัวลงตามทิศทางราคาเหล็กจีน เป็นที่ทราบกันว่าราคาเหล็กไทยมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันราคาเหล็กจีน ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2567 ราคาเหล็กจีนอยู่ในขาลงต่อเนื่อง โดยถูกกดดันจากภาวะตลาดอสังหาฯ ในจีนซึ่งมีสัดส่วนการใช้เหล็กถึง 1 ใน 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีนักสะท้อนจากภาวะการลงทุนในตลาดอสังหาฯ ของจีนที่หดตัว 

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS พบว่า 55% ของผู้ประกอบการ ซึ่งคิดเป็นจำนวน 11 บริษัทในหมวด .STELL ต่างประสบปัญหาขาดทุนสุทธิใน 1H/67 โดยบริษัทที่ขาดทุนมากสุดนั้นมีอัตรากำไรสุทธิติดลบหนักถึง -86.5%

[ทิศทางในที่เหลือของปี 2567 และแนวโน้มปีหน้า]

Krungthai COMPASS ประเมินความต้องการใช้เหล็กโดยรวมของไทยสำหรับทั้งปี 2567 ว่าจะอยู่ในระดับ 15.7 ล้านตัน หดตัว -3.8%YoY เพราะแม้การผลิตบรรจุภัณฑ์โลหะจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ +5.5%YoY ตามทิศทางการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง แต่ความต้องการใช้เหล็กในภาพรวมจะยังถูกกดดันจากจำนวนการผลิตรถยนต์ที่อาจจะหดตัวถึง 

ส่วนในปี 2568 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะฟื้นตัวเล็กน้อย ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปลายน้ำ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (2561-66) ที่ 17.3 ล้านตัน อยู่พอสมควร ส่วนทิศทางราคาเหล็กมองว่าจะขึ้นอยู่กับภาวะอสังหาฯ ในจีน โดยหากยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ราคาเหล็กโดยเฉลี่ยจะอยู่ในเทรนด์ขาลงต่อไป

[ประเด็นที่ต้องจับตา ในระยะถัดไป]

Mega Projects ใหม่ๆ ในอนาคตสนับสนุนการใช้เหล็กทรงยาวของไทย ในส่วนของเหล็กทรงยาว อาทิ เหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กลวด คาดว่าในระยะถัดไปจะได้รับแรงสนับสนุนการภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมขนาดใหญ่ของไทย สะท้อนจากการคาดการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ในปี 2568-69 ซึ่ง TDRI มองว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าปีละ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2567 

โดยล่าสุด ส.อ.ท. ได้มีข้อเสนอกับภาครัฐว่าต้องมีการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) เพื่อสร้างกระแสเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา