HR ไม่ใช่แค่งานบุคคลอีกต่อไป SEAC เสนอ 8 เรื่องบุคลากรเร่งด่วน ที่องค์กรต้องรู้เพื่อพัฒนาสู่ยุค AI

ซีแอค (SEAC) เปิดตัว “The SEAC HR Club” ครั้งแรกของคลับเพื่อผู้นำองค์กร และ HR Leader
การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และลงมือทำจริงอย่างต่อเนื่องผ่าน 8 เรื่องสำคัญเร่งด่วน นำเสนอบทเรียน 8 Critical Themes สู่การพาบริษัท และบุคลากรให้อยู่รอด และเติบโตในยุค Digital Transformation 

seac

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งซีแอค (SEAC) ผู้นำด้านการพัฒนาผู้นำ บุคลากรและองค์กร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต บอกว่า “The SEAC HR Club” คลับแห่งแรกในประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้นำระดับผู้บริหาร และ HR Leader ได้มีเครื่องมือ ข้อมูลเชิงลึก และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อสร้างแผนการบริหารจัดการงานด้าน HR ใหม่ ด้วยจุดแข็งจากการมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับพันธมิตร และคู่ค้าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ทำให้รู้ถึงจุดเด่นของแต่ละสถาบันของโลกว่า ใครเก่งด้านไหนอย่างไร และรู้ว่าเรื่องอะไรบ้างของ HR ที่เปลี่ยนแปลงไป

ครั้งนี้ SEAC จึงดึงออกมา 8 ประเด็นหลักของงาน HR ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปรับ และพัฒนา โดยแบ่งเส้นทางการเรียนรู้เป็น 8 เรื่อง หรือ 8 Critical Themes ดังนี้

  1. ปรับบทบาทผู้นำเป็น People Leader เน้นพาคนก้าวไปพร้อมกันแทนการสั่งการ (Reframing the People Leader Role) ประเด็นที่สำคัญคือ ยุคสมัยนี้เราบริหารจัดการคน หรือ Human Resource ไม่ได้ เพราะถือเป็นแนวคิดแบบเก่า (Old Paradigm) ในรูปแบบการออกคำสั่งกับผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น บทบาทผู้นำจึงต้องเปลี่ยนมาที่คำว่า People Leader ที่จะทำหน้าที่พาคนไปอย่างไร จะชี้ชวนคนในองค์กรไปด้วยวิธีการแบบไหน และไปอย่างไร 
  2. พลิกโฉม HR จุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงองค์กร (Reframing HR as Drivers of Change and Organization Transformation) ผู้นำและ HR Leader ควรเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องเริ่ม Transform เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการพลิกโฉมบุคลากรและผลักดันให้ Digital Transformation เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรได้สำเร็จ
  3. ปรับบทบาทใหม่ HR ให้ทันโลกยุค AI (Reframing HR in the AI Age) การเกิดขึ้นของ AI จะรุนแรง และสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการใช้ชีวิตและการทำงานกว่าอินเตอร์เน็ตหลายเท่าตัว ผู้บริหาร และ HR Leader จึงต้องหาวิธีให้คนในองค์กรสามารถทำงานร่วมกับ AI ให้ได้ เพราะเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า ประเทศไหน หรือองค์กรไหนที่นำ AI มาใช้คู่กับการทำงานจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไม่ใช้ AI ทั้งความเร็ว ผลที่จะเกิด ประสิทธิผล และประสิทธิภาพ
  4. บริหารบุคลากรหลากหลายช่วงวัย (Reframing People Management and HR Operations for Workforce NEXT) วันนี้ผู้นำต้องมาปรับภาพการบริหารคนใหม่ เพราะในองค์กรประกอบด้วยคนหลากหลายรุ่น หรือ Multi-Generational Workforce ฝ่าย HR จึงต้องมาหาแนวทางการจัดการให้คนทุกวัยสามารถทำงานร่วมกันได้
  5. พลิกบทบาทของ HR ในการจัดการกับ “Gig Workforce” (Reframing HR’s Role in the Gig Workforce Age) ปัจจุบัน Gigs Workforce กำลังจะเข้ามามีความสำคัญเทียบเท่ากับพนักงานประจำ ดังนั้น ผู้บริหาร และ HR Leader จึงต้องมีแผนบริหารคนทั้ง 2 กลุ่มไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือการมี Career Path ให้ Gigs ทั้งการขึ้นเงินเดือน และการให้รางวัล เพื่อโอบรับคนเหล่านี้ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และตอบโจทย์ความต้องการ
  6. ยกระดับประสบการณ์การทำงานของบุคลากร (Reframing Total Employee Experience) วันนี้พนักงานไม่ได้สนใจแค่ว่า ได้เงินเดือนเท่าไหร่ หรือกำลังทำงานอย่างไร แต่สนใจว่ากำลังมีประสบการณ์อย่างไร กับการทำงาน หากองค์กรสามารถสร้างประสบการณ์การทำงานตามความคาดหวังของพนักงานได้ ก็จะถือเป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน และทำให้พนักงานเลือกที่จะอยู่กับองค์กรต่อไป 
  7. การค้นหา พัฒนา และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) ในนิยามใหม่ (Reframing Getting, Developing, and Keeping Talent) การเกิดขึ้นของ AI ทำให้หลายประเทศและหลายองค์กรต้องหันกลับมาทบทวนนิยามใหม่ของคำว่า “คนเก่ง” ในยุคนี้ว่าหมายความว่าอะไร เพราะคนที่เคยเก่งในอดีตอาจจะไม่ได้เก่งอีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อวางแผนการหาคนเก่ง และสร้างคนเก่งที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนเก่งยังคงทำงานให้กับองค์กรต่อไป
  8. เปลี่ยนเลนส์มองโลกการบริหารทรัพยากรบุคคล และสร้างแผนการจัดการองค์กรแบบใหม่ (Reframing People and Workforce Capability Development) การเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการและพัฒนาคนสู่ภาพใหม่ เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำ Conversation Mapping บทสนทนาชวนคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการนำสิ่งที่เรียนไปลงมือปฏิบัติ แลกเปลี่ยนระดมความคิด จนเกิดเป็นแผนบริหารจัดการบุคลากรภาพรวมทั้งหมด ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรตัวเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

“รายได้ของประเทศไทยผูกไว้กับธุรกิจภาคเอกชนจำนวนมาก เมื่อโลกเปลี่ยน การทำให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาตนเองเพื่อตอบรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อการทำงานได้นั้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้าให้ดีขึ้นได้อย่างสวยงาม และจะมีผลประโยชน์เกื้อกูลกันระหว่างประเทศและบริษัทต่างๆ ผู้นำองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับการ Reframe เปลี่ยนเลนส์ที่ใช้มองการบริหารให้เท่าทันยุคสมัยขึ้น เร่งการเติบโตให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการใช้ข้อมูล และทักษะต่างๆ ไปปรับใช้พัฒนาองค์กรของตัวเองอย่างฉับไว โดยวิธีการคิดใหม่ต้องมาจากผู้นำองค์กร นั่นคือ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และ Top HR ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในองค์กรเกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา