ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พบปะสื่อมวลชนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ชี้แจงหลากหลายประเด็น ตั้งแต่การฉายภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ภาวะเงินเฟ้อต่ำแต่สินค้าแพง
สาเหตุที่ไม่ลดดอกเบี้ยและปัจจัยที่ต้องลดดอกเบี้ยคืออะไรบ้าง ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะเกณฑ์แบงก์ชาตินั้นจริงหรือไม่ ดังนี้..
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าเพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวและภาคบริการมากเกินไป
ผู้ว่าแบงก์ชาติเริ่มต้นด้วยการพูดถึงประเด็นเศรษฐกิจว่า ตอนนี้ภาพที่ออกไปอาจจะคาดเคลื่อนที่จะเห็นบ่อย ที่ว่า ธปท. มองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่เห็นความลำบากของคน มองแต่ตัวเลข ไม่รู้สึกสิ่งที่หลายกลุ่มเผชิญกันอยู่ ต้องเรียนว่าเราก็ทราบดีว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขนาดนั้น
ถ้าเราดูตัวเลขการฟื้นตัวของเรากับโลก เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด
เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวโต ต่อเนื่อง ค่อยๆ ทยอยกลับสู่ศักยภาพ เป็นการฟื้นตัวในแง่ของภาพรวมโดยเฉลี่ยของคน ในแง่ของตัวเลขรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง GDP หรืออะไร เราเข้าใจดีในการฟื้นตัวในตัวเลขรวม ตัวเลขเฉลี่ย มันซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย หลายกลุ่มด้วยกัน
ผมเลือกมา 2 กลุ่ม คือลูกจ้าง (นอกภาคเกษตร) หรือพนักงานบริษัทและอาชีพอิสระ ตัวเลขที่สะท้อนรายได้ของเขา (ดูจากกราฟ “การฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระและเงินเฟ้อ”)
รายได้เขาฟื้นแล้ว แต่จริงๆ มันเป็นตัวเลขที่ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ประชาชน ระดับรายได้หมุดไว้ที่ปี 2562 ก่อนโควิดจนถึงปัจจุบันล่าสุด
ถ้าดูเส้นสีน้ำเงิน ลูกจ้างนอกภาคเกษตร ก่อนโควิดอยู่ที่ 100 ตอนนี้อยู่ที่ 108.9 โตขึ้น 9% ถ้าดูคนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพอิสระ โตขึ้นมาเป็น 107 ถ้าดูผ่านๆ ผิวๆ เราจะมองว่ารายได้เขาฟื้นมาแล้ว กลับมาสู่ระดับที่เคยอยู่ก่อนโควิด
แม้รายได้กลับมาที่สูงกว่าจุดเริ่ม แต่มีหลุมรายได้มหาศาลระหว่างทาง พูดง่ายๆ คือรายได้หายไปจากปกติที่ควรจะได้ เขามีหลุมรายได้ ตัวเลขภาพรวมค่าเฉลี่ยต่างๆ ไม่สะท้อนความลำบากของประชาชน รายได้หายไป แต่รายจ่าย ค่าครองชีพมีแต่จะเพิ่มขึ้น
ถ้าดู CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภค) จากเดิมอยู่ที่ 100 ขึ้นไปสู่ 107 ถึงแม้รายได้จะดรอปลง แต่ค่าครองชีพขึ้นต่อเนื่อง ถ้าให้เห็นภาพจริงๆ สำหรับลูกจ้าง คนทำงานออฟฟิศต่างๆ ที่มีรายได้ประจำยังพอไปได้อยู่ มีรายได้สะสมอยู่ที่ 5,296 แต่รายจ่ายหรือค่าครองชีพอยู่ที่ 5,287
ขณะที่กลุ่มอาชีพอิสระนั้น รายได้หายไปเยอะ (รายได้สะสมหลังปี 62 อยู่ที่ 4,283 แต่ค่าครองชีพมากกว่ารายได้ อยู่ที่ 5,287)
ถ้าไล่กลุ่มคนทำงานปี 2023 จาก 40 ล้านคน จะเห็นว่า คนที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร สัดส่วนแรงงานจำนวนไม่น้อยยังมีปัญหาเรื่องรายได้ยังไม่กลับมาฟื้นตัว
เงินเฟ้อต่ำ แต่ราคาสินค้าไม่ได้มีราคาถูกลง
ตอนที่เราบอกเงินเฟ้อต่ำ มันไม่ได้หมายความว่าราคาของจะถูกลง ราคาของขึ้นไปแล้ว ขึ้นแล้วไม่ลง ถามคนทั่วไป มีใครทั้งในที่นี้และข้างนอก รู้สึกไหมว่าเงินเฟ้อที่เราประสบอยู่มันต่ำเกินไป ประชาชนทั่วไปรู้สึกไหมว่าเงินเฟ้อต่ำ ของมันถูก..ไม่มี
อัตราเงินเฟ้อดรอปลง แต่ราคาของถ้าเทียบกับ 5 ปีก่อนมันเพิ่มขึ้น ยิ่งพลังงาน น้ำมัน เห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นไม่น้อย ของที่เราต้องใช้ ต้องบริโภคบ่อยๆ ไข่ไก่ ฟองละ 4 บาทเพิ่มขึ้นมา 5 บาท เพิ่มมา 25% ไก่ก็เพิ่ม หมูก็เพิ่ม
ตัวเลขที่เพิ่มที่กระทรวงพาณิชย์ระบุ มีเงินเฟ้อโตกี่ % มันสะท้อนว่า เงินเฟ้อเกิดขึ้น ราคามันขึ้นและไม่ลง คนก็รู้สึกว่ารายได้เพิ่ม แต่ทุกอย่างแพงขึ้นเยอะ อันนี้เราเห็นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย ถึงแม้ตัวเลขค่าเฉลี่ยภาพรวมดูดีขึ้น
บ้านเราถูกซ้ำเติมด้วยหนี้ หนี้สูง สร้างภาระต่อคน มีนัยยะอย่างไรต่อนโยบายของเรา ที่มาของการที่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่มันไม่ได้หมายความว่าคนไม่ลำบาก ตัวเลขภาพรวม ตัวเลขเฉลี่ยมันซ่อนความทุกข์ ความลำบากของคนไม่น้อย นี่คือเรื่องของคน เรื่องค่าใช้จ่าย ความเป็นอยู่
เศรษฐกิจ ภาคการผลิตเป็นยังไง?
ถ้าดูในแง่เศรษฐกิจภาคการผลิต ธุรกิจต่างๆ ตอนนี้จะเห็นคล้ายๆ กันว่า ตอนนี้ภาพรวมยังมีความลำบากอยู่พอสมควร ถ้าดูสัดส่วน GDP เป็นภาคต่างๆ
ก้อนใหญ่คือภาคบริการสัดส่วนไม่น้อย (61%) ได้รับอิทธิพลจากการท่องเที่ยว ประเทศไทยฟื้นช้ากว่าชาวบ้านเพราะเศรษฐกิจเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ และท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าภาคอื่นๆ
ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ถ้าอยู่ในภาคที่กำลังฮอต เช่น ประเทศที่เน้นส่งออกเทคโนโลยีเขากลับมาเร็ว แต่ของเราพึ่งพาภาคบริการค่อนข้างเยอะ ท่องเที่ยวไม่น้อย ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าคนอื่นค่อนข้างมาก
บวกกับของที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือภาคการผลิตของเราที่สำคัญๆ เจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่หนักขึ้น เสร็จจากโควิดแล้วอุปสงค์ไม่มา
ภูมิทัศน์การแข่งขันมันเปลี่ยน หลายภาคส่วนมีการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าแต่ก่อน เช่น มาจากจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มันซ้ำเติม อาจจะไม่ใช่มาเฉพาะฝั่งอุปสงค์ แต่มาจากฝั่งอุปทาน สภาวะแข่งขันเข้มข้นและหนักกว่าเดิม
ส่วนที่เป็นพระเอกเก่าๆ ของเราก็เจอแรงกดดัน เช่น HDD ไม่ได้รับอานิสงค์จากกระแสใหม่ๆ ของโลก เช่น AI ก็เลยกลายเป็นตัวถ่วงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อันหนึ่งที่คิดว่าสำคัญที่ทำให้เราจูนความคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจ ที่ว่าเศรษฐกิจของเราค่อยๆ ฟื้น ฟื้นช้าๆ กลับสู่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทย เผอิญว่าเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น
ที่เราดูศักยภาพเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ที่ 5%, 4% มันน่าจะอยู่ที่ 3%+- ถามว่าทำไม? ขออนุญาตเล่าตัวเลขคร่าวๆ แบบหยาบๆ ในแง่ทิศทางไม่ค่อยต่างจากที่เราทำโมเดลในการทำให้มันละเอียดมากกว่านี้
เศรษฐกิจประเทศไทยนั้น GDP มันสามารถไปเท่าไรได้?
GDP ผลผลิตมวลรวมประเทศมันมาจากแรงงาน และแรงงานแต่ละคนสามารถผลิตได้เท่าไร ซึ่งคิดง่ายๆ GDP และแรงงานที่เรามี คูณด้วยแรงงานผลิตได้เท่าไร แปลงตรงนั้นเป็นอัตราเติบโต แรงงานเราจะโตเท่าไร เพิ่มเท่าไร บวกกับอัตราการเติบโตของประสิทธิภาพแรงงานนั้น
ถ้าแรงงานมี Productivity สูง ก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้
ถ้าดูประเทศไทย อัตราการขยายตัวของแรงงานไทยถอยกลับไปปี 2547-2556 อัตราการเติบโตที่ 2.6% คิดแบบหยาบๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.8% ถ้าคิดออกมา GDP อยู่ที่ 4%
ถ้าอยากให้ GDP เติบโตอย่างยั่งยืนทำได้ 2 อย่าง คือแรงงานมากขึ้น ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้น
ถ้าดูจากปี 2557-2566 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเราทราบกันดีว่าประชากรสังคมเราสูงวัยขึ้นมาก อัตราการขยายตัวของกำลังแรงงานลดลงจาก 1.2% จนแทบจะเป็น 0 (0.004%)
คิดง่ายๆ GDP หายไปแล้วกว่า 1% จากการที่แรงงานหดตัวลง อัตราการเติบโตของผลผลิตใกล้เคียงเดิมที่ 2.6% ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.7% เลข GDP ที่แท้จริงอยู่ที่ 2.8%
ผมถึงบอกว่า เหตุผลที่ GDP ลดลงจาก 4.0% เป็น 2.8% ก็มาจากปัจจัยพวกนี้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจก็ประมาณนี้อยู่ที่ 2% กว่าๆ แต่ถ้าคิดแบบวิธีคาดการณ์อย่างละเอียดสารพัดวิธี ตัวเลขจะออกมา บวกลบประมาณ 3%
ที่ย้ำตรงนี้ก็คือว่า การคาดการณ์ของเรา การฟื้นจะฟื้นกลับมาที่เท่าไร มันคงไม่ใช่กลับไปที่ 4% หรือ 5% แต่ฟื้นกลับไปประมาณ 3%+-
อันนี้ไม่ใช่เรื่องตายตัวที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้นะ ถ้าเราอยากให้โตมากกว่านี้ ต้องทำเชิงโครงสร้าง ต้องมีการลงทุน มีเทคโนโลยีใหม่ มีอะไรใหม่ๆ ไม่ได้มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าคุณผลิตได้เท่านั้น กระตุ้นให้ตายก็จะกลับมาเท่าเดิม
จะบอกว่า ถ้าเราอยู่อย่างที่เป็นอยู่ ศักยภาพเราทุกวันนี้อยู่ที่ 3% การฟื้นตัวก็ 3% ถ้าถามว่าพอไหม ถ้าเทียบกับรายได้ที่เป็นอยู่ นึกถึงความยากจนที่มีอยู่ ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่พอ เหมือนเกาหลีใต้ แต่เขารวยกว่าเราเยอะ การฟื้นตัวต่างๆ กลับสู่ศักยภาพที่ไม่ได้สูง
เงินเฟ้อตอนนี้อยู่ต่ำกว่ากรอบ แบงก์ชาติทำไมไม่ลดดอกเบี้ย?
สิ่งแรกเลย กรอบเงินเฟ้อของเราเป็นแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation) ความหมายก็คือ ตอนที่เราจะดูว่าดอกเบี้ยต้องเป็นเท่าไร เราไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้ออย่างเดียว ดูควบคู่ไปกับอย่างอื่นด้วย เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน ดูหลายมิติควบคู่ด้วย
มันไม่ได้มีสูตรตายตัวที่ว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบต้องลดดอกเบี้ย มันไม่ได้เป็นสูตรตายตัวอย่างนั้น ประเทศที่อื่นที่ใช้กรอบเช่นนี้ก็ไม่ได้ใช้สูตรตายตัวเช่นเดียวกัน
ต้องดูหลายอย่างด้วยกัน ต้องเข้าใจข้อจำกัดของดอกเบี้ย ดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือแบบหยาบที่กระทบสารพัดอย่าง เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ต้องตอบโจทย์หลายโจทย์ ทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เรื่องต่างประเทศ ดอกเบี้ยต้องตอบหลายโจทย์พร้อมกัน ต้องมองในแง่ภาพรวม
พูดให้เห็นภาพ ถ้าสมมติห้องนี้คือประเทศไทย บางท่านเป็นลูกหนี้ บางท่านเป็นผู้ฝากเงินมีเงินออมเยอะ ท่านเป็นลูกหนี้มองว่าดอกเบี้ยที่เหมาะสมเป็นยังไง คนที่เป็นผู้ฝากก็มองว่าดอกเบี้ยมันต่ำมาก ก็ต้องหาจุดที่สมดุล
บางท่านเป็นผู้ส่งออก บางท่านเป็นผู้นำเข้า ถ้าส่งออกก็อยากเห็นเงินบาทอ่อนๆ อยากเห็นดอกเบี้ยต่ำๆ ผู้นำเข้าก็ไม่อยากเห็นเงินบาทอ่อนไป ส่งผลผลกระทบทุกคน
ในฐานะผู้บริโภคเราก็ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อสูงเกินไป ราคาของขึ้นไม่ยอมลง พอเงินเฟ้อสูงกระทบทุกคน กระทบผู้ผลิต กระทบผู้บริโภค ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศก็ดรอปลง
ดอกเบี้ย พยายามจะบาลานซ์หลายอย่างด้วยกัน จะต้องชั่งออกมาต้องดูหลายด้านให้มันสมดุลกัน
ถ้ายังจำได้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เงินเฟ้อสูงมากวิ่งไปถึง 8% ช่วงนั้นแบงก์ชาติก็ถูกต่อว่าทำไมไม่ขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นช้ากว่าชาวบ้าน ขึ้นทีละ 0.25 ไม่ได้ขึ้นทีละ 0.50 เหมือนชาวบ้าน มันมาจากภาคเศรษฐกิจตอนนั้น
ช่วงนั้นเราโดนโควิดหนักกว่าชาวบ้าน ฟื้นตัวก็ช้ากว่าชาวบ้าน จะให้ขึ้นดอกเบี้ยเหมือนชาวบ้านก็ไม่เหมาะสม เราก็ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป พยายามบาลานซ์หลายอย่าง เงินเฟ้อสามารถกลับมาอยู่ในกรอบได้ภายใน 7 เดือนก็ถือว่าเร็ว
ตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน คนมักดูตัวเลขปัจจุบัน เราต้องดูว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร ทุกอย่างต้องมองไปข้างหน้า
ถ้าเราดูเศรษฐกิจไตรมาสแรก 1.5% เงินเฟ้อติดลบ หนี้ครัวเรือนระดับสูง สาเหตุที่ไม่ลดดอกเบี้ย ก็เพราะเราประมาณการแค่วันนี้เท่านั้นไม่ได้ ต้องมองไปข้างหน้า โดยการตัดสินใจจากการดูแนวโน้ม
ถ้าดูแนวโน้มของเศรษฐกิจก็น่าจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ศักยภาพของเราที่อยู่ที่ 3%
ไตรมาส 1 อยู่ที่ 1.5% ไตรมาส 2 น่าจะเกิน 2% ไตรมาส 3 น่าจะใกล้ 3% และไตรมาส 4 น่าจะใกล้ 4%
การฟื้นตัวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็เช่นเดียวกัน ที่ติดลบก็มาจากฝั่งอุปทานบ้าง การอุดหนุนต่างๆ บ้าง ไตรมาสแรก เงินเฟ้อ -0.8% ล่าสุดที่เห็นคือ 1.5% และที่คาดการณ์ไว้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1%+-
ถ้าดูแล้วครึ่งแรกของปีนี้ เงินเฟ้อแทบจะศูนย์ ถ้าครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ 1.1% ก็เข้าขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อ
หนี้ครัวเรือน เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงมากและพูดเรื่องนี้มานานแล้ว
ถ้าเราดู มันต้องชั่งสองอย่าง ทั้งเรื่องดอกเบี้ยที่เหมาะสม ถ้าดอกเบี้ยสูง คนเป็นภาระหนี้เยอะ ในทางกลับกัน ถ้าดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้ยืมจะโตไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้เสถียรภาพการเงินเสื่อม
หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91% ของ GDP ถ้าในอดีตอยู่ที่ 60-70% ส่วนหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนไต่ขึ้นมาถึง 85% ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราลดดอกเบี้ย ไม่มากก็น้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางการเงินก็เสื่อมลง เราก็ทำให้ดอกเบี้ยต่ำค่อนข้างนาน จากนั้นก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยสักพักโควิดมา ก็เริ่มลดดอกเบี้ยอีก
เรามองว่าดอกเบี้ยที่ กนง. เซ็ตไว้ เหมาะสมกับภาพที่เราเห็น แต่ถ้าภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัย เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัย ทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ก็พร้อมจะเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงในโลกมีมหาศาล
เราไม่ได้ยึดติดอะไร แต่ในภาพรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ก็เหมาะกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน
ขอย้ำว่า ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวที่ต้องตอบโจทย์หลายโจทย์ ทั้งเงินเฟ้อ ทั้ง GDP ทั้งเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพต่างประเทศด้วย
วิธีที่เราพยายามไม่ให้ดอกเบี้ยต้องออกแรงลำพัง ก็ต้องหาเครื่องมืออื่นประกอบที่จะช่วยตอบโจทย์พวกนี้และลดผลข้างเคียง มาตรการอื่นๆ ที่เราใช้ คือ Integrated Policy Framework (IPF)
ใช้ IPF ในการดำเนินนโยบาย โดยใช้ดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพต่างๆ และเสริมด้วยเครื่องมืออื่น เช่น นโยบาย Macro-prudential (MaPP) ดูแลเสถียรภาพทางการเงินเพื่อดูแลพวก LTV (การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย), DSR (อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้) ต่างๆ
รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน และที่สำคัญมาตรการทางการเงินมาเสริมเพราะใช้อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู โครงการค้ำประกันสินเชื่อ คลินิกแก้หนี้ ฯลฯ
ระยะถัดจากนี้คือการนำมาตรการ Responsible Lending มาใช้ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน นี่เป็นชื่อที่ต่างประเทศใช้กัน แต่ไม่ได้สื่อความหมายเท่าที่ควร หัวใจของมันคือการดูแลการโฆษณาไม่ให้ชักชวนเกินไป เน้นปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเร่งรัด สง. ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้เขาทำ Self Questionnaire โดยมีคำถามแต่ละเรื่องว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ตอนนี้คืออะไร?
เราส่งนโยบายตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นช่วงกุมภาพันธ์-เมษายนที่ผ่านมาเราจัดทีมตรวจสอบออกไปตรวจสอบสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และ non-bank ที่เป็น บ.ลูก และ non-bank ที่ไม่ใช่ บ.ลูก เจ้าใหญ่ๆ
เราเลือกเจ้าใหญ่ที่กินส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80-90% มาตรวจก่อน รวมทั้งหมด 35 แห่ง หลักๆ ที่เราตรวจ เราเน้นเรื่องแก้หนี้ ก่อนจะเป็นหนี้เสียที่เรียกว่า DR และแก้หนี้หลังเป็นหนี้เสียแล้วก็ต้องแก้ อีกส่วนหนึ่งที่ตรวจคือตัว PD (หนี้เรื้อรัง) ผลตรวจสอบเพิ่งเสนอให้ผู้ว่าการฯ ไป 2 สัปดาห์ที่แล้ว
สิ่งที่เราต้องการคือ
เขาต้องเสนอความช่วยเหลือให้ครบถ้วน เราต้องไปดูตั้งแต่การติดต่อ ถ้าดูก้อนหนี้ฝั่ง Secured คือลูกหนี้ประเภท “บ้าน รถ” ด้านขวาที่เป็น Unsecured คือ ”พวกบัตรเครดิต” จำนวน 45% กับ 16% คือสัดส่วนการได้รับความช่วยเหลือ
นอกจากนั้นก็คืออยู่ระหว่างขั้นตอนการทำ DR/TDR และอยู่ระหว่างการตัดสินใจ และมีลูกหนี้ที่ปฏิเสธความช่วยเหลือ
มีกลุ่มลูกหนี้ที่ติดต่อไม่ได้ แบงก์ส่งข้อความทั้ง Mobile App, โทรศัพท์, จดหมาย พบว่าติดต่อไม่ได้จริงๆ ถ้ามีแบงก์ติดต่อมา จะมีการติดตามตามหลักการทวงถามหนี้ ถ้าลูกหนี้เริ่มค้างไม่เกิน 5 วัน ส่งข้อความ เกิน 30 วัน จะเริ่มโทรศัพท์แล้ว
เขามีการถามฝั่งลูกหนี้ ลูกค้ากลัวว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเห็นเป็นเบอร์แปลก หลายท่านก็อยากรับการติดต่อจากแบงก์ เช่น ปล่อยไปเลย 6 เดือน จริงๆ แล้วการหายไปจะทำให้ประวัติการชำระหนี้เสีย
มีสถานะอื่นๆ เช่น เจ้าหนี้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้จริงๆ มีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวม 8.2 แสนบัญชี หรือ 2.3 แสนบัญชี (จากกราฟ ช่วงเดือนเมษายน 2567 ตัวเลขยังเข้ามาไม่หมด)
มีเรื่องการโฆษณาด้วย รอบแรกเราใช้ Social Listening ของแต่ละราย เรามาดู 3 หลักใหญ่ๆ
หนึ่ง มีข้อความที่ไม่ควรมีอยู่ในโฆษณาหรือเปล่า เช่น ข้อความที่กระตุ้นให้คนรู้สึกอยากเป็นหนี้เยอะๆ เช่น อยากไปต่างประเทศต้องมากู้เลย โดยไม่มีข้อความเตือนภัย
สอง ข้อความที่ต้องมี มีหรือเปล่า เช่น การเป็นหนี้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น จ่ายไหวหรือเปล่า
สาม ข้อความที่ไม่ชัดเจน หลายที่ยังมีเลย กู้หนึ่งหมื่น จ่ายเพียงวันละ 10 บาท ดูน้อย แต่จริงๆ แล้วเท่ากับ 25% ต่อปี ต้องชัดเจนให้รู้ว่าเจ้าไหนถูก เจ้าไหนแพง
สำหรับคนที่ทำไม่ถูก จะทำอะไร? เราจะให้เขาแจ้งให้ถูกต้องภายใน 30 วัน
กรอบเงินเฟ้อต้องปรับใหม่ไหม?
กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมปรับกรอบเงินเฟ้อใหม่ โดยเสนอ 2 ทางเลือก คือคงกรอบตามเดิมที่ 1-3% หรือใช้ค่ากลางที่ 2%+-0.5
ดร. เศรษฐพุฒิ ให้ความเห็นว่า กรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องตกลงร่วมกัน ตอนนี้อยู่ในช่วงที่หารือและตกลงร่วมกัน เห็นจากที่ทางทางคลังออกมาพูดในสื่อต่างๆ ในเวทีต่างๆ ว่าข้อเสนอเขามีอะไร ก็ต้องดูและพิจารณา
ก็ต้องถอยกลับไปถามว่า เหตุผลที่มีกรอบเงินเฟ้อมีไว้เพื่ออะไร?
กรอบเงินเฟ้อมีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต การปรับกรอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง ตัวอย่างต่างประเทศหลายประเทศไม่ได้อยู่ในกรอบ ถามว่ามีใครเข้าไปขยับกรอบหรือไม่ แทบจะไม่มีเลย
ถ้ามีการปรับกรอบ ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเปลี่ยนไป ผลมันเป็นยังไง ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นอาจจะสูงเพราะมีการขยับกรอบ หรือสูงขึ้นเพราะกรอบที่เคยมีไม่มีแล้ว ถ้าคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นจริงก็เป็นไปได้แล้ว ตลาดก็จะ React ทันที ต้นทุนกู้ยืมต่างๆ จะเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
กรณีที่มีคำถามว่าเงินเฟ้อเปอร์เซ็นต์ต่ำเกินไป ทำให้ไม่จูงใจการผลิต ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวไปด้วย?
ก็ต้องถามว่าเงินเฟ้อต่ำ 1% มาจากอะไร มาจากกรอบเงินเฟ้อไปบังคับขนาดนั้นหรือเปล่า คำตอบก็คงไม่ใช่ ราคาเงินเฟ้อที่มันต่ำมันมาจากปัจจัยอุปทาน การหนุนพลังงาน การแข่งขัน ธุรกิจอาจไม่สามารถขึ้นราคาเพราะเจอแรงกดดันเรื่องการแข่งขัน ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เราเคยทำผลสำรวจ
ความสามารถในการปรับราคาขึ้นลำบาก มาจากอะไร? มาจากกรอบเงินเฟ้อหรือ? เราไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ที่จะกำหนดให้คุณห้ามขึ้นราคา ไม่ใช่ มันอาจจะไม่ใช่เหตุที่นำไปสู่การปรับกรอบ
เงินเฟ้อสูง ถ้าเป็นผู้บริโภคก็ไม่อยากเห็น ผู้ประกอบการต้นทุนเพิ่มก็ไม่อยากได้ แต่สิ่งที่อยากเห็นคือสามารถขึ้นราคาขายของได้ เงินเฟ้อเราก็ต่ำกว่ากรอบอยู่แล้ว
ดอกเบี้ยสูงเกินไปไหม เศรษฐกิจจะโตไป 3% ได้อย่างไร?
การกระตุ้นเศรษฐกิจมันจะโต โตระยะสั้นๆ แต่จะกลับมาแบบเดิม มันไม่ยั่งยืน ไม่ยกศักยภาพประเทศขึ้น สิ่งที่จะยกศักยภาพขึ้นคือสองอย่าง อย่างแรกแรงงานและอย่างที่สองคือประสิทธิภาพแรงงาน
ต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน หนีไม่พ้นเรื่องการลงทุนทั้งฝั่งภาครัฐ จากโครงสร้างพื้นฐาน หรือภาคเอกชนในด้านเทคโนโลยี ถึงจะยก 3% ให้ขึ้นได้ ถ้าเทียบกับเกาหลีใต้ก็เหมือนกัน เพียงแต่เขารวยกว่าเราเยอะ
นอกจากนี้ ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านนานไปหรือเปล่า ก็ต้องเรียนว่าใช่ เพราะเราฟื้นตัวช้ากว่าคาด ถ้าเราไปดูไส้ใน ไปดูไตรมาส 4 ที่มันอ่อนลงเพราะงบประมาณหายไป
ถ้าเราปล่อยให้การกู้เพื่อบริโภคเยอะ ก็ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือน ตัวช่วยที่นอกเหนือจากพวกนี้ก็คือการส่งออกถ้าดีดตัวขึ้นมาจะช่วยได้เยอะ อีกทั้งการแข่งขันที่หนักหน่วงมากขึ้นก็ทำให้เป็นไปได้ยาก
สินเชื่อชะลอลง SMEs น่าเป็นห่วง
สินเชื่อชะลอลง เป็นบวกอยู่หลายหมวด แต่ติดลบในส่วนที่น่าเป็นห่วงมากคือ SMEs
ส่วนเรื่องการชะลอตัวของสินเชื่อ เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ตามวัฏจักร เป็นเพราะตอนนี้เราอยู่ในช่วงขาลงของวัฏจักรสินเชื่อ การที่สินเชื่ออยู่ในช่วงชะลอลงไม่ได้มาจากเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ออกมาเข้มข้นจนแบงก์ไม่ยอมปล่อย (สินเชื่อไม่โต เพราะเกณฑ์ของแบงก์ชาติ = ไม่จริง)
วัฏจักรสินเชื่อ ช่วงต้มยำกุ้งจะเห็นว่ามันดรอปมาก มันขึ้นมาเร็วก็ลงเร็ว จากนั้นก็ค่อยๆ ฟื้น ช่วงที่พุ่งขึ้นก็มาจากมาตรการต่างๆ เช่น บ้านหลังแรก รถคันแรก (ตามกราฟวัฏจักรสินเชื่อฯ ด้านบน)
สินเชื่อชะลอลงเป็นเรื่องปกติ การชะลอตัวลงมันไม่ได้มาจากเกณฑ์ของแบงก์ชาติ การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อเป็นเรื่องของธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องที่แบงก์ชาติกำหนด
ปัญหาความเข้าใจผิดในตลาด เวลาแบงก์ตอนคุยกับลูกหนี้ก็ไม่อยากเป็นตัวร้าย ด้วยการอ้างว่าเป็นเพราะเกณฑ์แบงก์ชาติ เราต้องมารับเรื่องนี้ตลอด นี่เป็นเรื่องการตัดสินใจของแบงก์พาณิชย์
อีกอันที่เป็นเรื่องนามธรรม ไกลตัว แต่สำคัญมาก มันคือความเข้าใจผิด
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาพคล่อง?
มีความเข้าใจผิด นักวิเคราะห์เองยังเขียนผิดเลยเรื่องเกี่ยวกับสภาพคล่อง ผมเข้าใจที่มาของมัน ตอนที่เราชอบพูดคำว่าสภาพคล่อง เราคิดว่ามันเป็นเหมือนน้ำ พอเราไปเทียบเคียงสภาพคล่องหรือสินเชื่อเหมือนน้ำ จะทำให้เข้าใจผิดหลายมุม
เช่น ปริมาณน้ำคือสภาพคล่องในระบบมีจำกัด ถ้าน้ำหายไปจากตรงนี้ก็เพราะมันหายไปอีกที่หนึ่ง
หรือแบงก์ชาติดูดสภาพคล่องจากระบบ เลยทำให้สภาพคล่องหายจากระบบ แบงก์จึงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะว่าสภาพคล่องหาย มันมาจากไอเดียว่าสภาพคล่องคือน้ำ น้ำมีจำกัด น้ำอยู่ที่หนึ่งแล้วหายไป ก็เพราะน้ำไปอยู่อีกที่หนึ่ง มันคือความเข้าใจผิด
ยกตัวอย่าง (กราฟการปล่อยสินเชื่อของ ธพ. ด้านบน) เส้นสีส้มคือสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ เส้นสีน้ำเงินคือยอดคงค้างของ Bilateral Repo ของ ธปท. ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลอัตราดอกเบี้ย
สมมติ เงินไหลเข้าประเทศ ถ้าไหลเร็ว เงินบาทจะแข็งเร็ว ถ้าไหลเข้าเร็วเกินไป แบงก์ชาติก็จะไปซื้อดอลลาร์ปล่อยบาทออกมาในระบบ
ถ้าเราปล่อยบาทออกมาในระบบไม่ทำอะไร ดอกเบี้ยก็จะปรับ แต่เรามีเป้าดอกเบี้ยนโยบายเราก็จะทำตามนั้น บาทที่ปล่อยไปก็ต้องดูดกลับมา
จะเห็นว่าเส้นสีส้มที่เป็นสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เชื่อมโยงกับแบงก์ชาติที่เป็น Bliateral Repo สะท้อนให้เห็นว่าภาพที่แบงก์ชาติดูดสภาพคล่องทำให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องจริง
สรุป
เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าเพราะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักที่เราพึ่งพาอย่างมากมาตลอดคือการท่องเที่ยวและภาคบริการ เมื่อตัวขับเคลื่อนหลักฟื้นช้า เศรษฐกิจไทยจึงฟื้นช้าตาม
การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต้องต้องมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เรื่องนี้เป็นไปได้ยากแม้จะมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามา
บวกกับประสิทธิภาพแรงงานต้องเพิ่มขึ้น ต้องมีการลงทุนใหม่ๆ หรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่บอกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ศักยภาพ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 3% ซึ่งก็เป็นอัตราที่ไม่สูง
อัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่ราคาสินค้าและค่าครองชีพมีแต่แพงขึ้น ราคาสินค้าขึ้นแล้วขึ้นเลยไม่เคยลดลง คนรู้สึกเหมือนมีรายได้เพิ่มแต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นตาม ผู้คนยังใช้ชีวิตลำบาก ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่สินค้าจะแพงขึ้นตามไปอีก
อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบแต่แบงก์ชาติไม่ได้ลดดอกเบี้ย เพราะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ดูแค่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน มีทั้งปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน เรื่องต่างประเทศ
ดอกเบี้ยคือเครื่องมือทางการเงินที่ต้องตอบหลายโจทย์พร้อมกัน ยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่นำมาช่วยเสริมได้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าเหมาะสมกับการเติบโตของศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ SMEs ยังน่าห่วง ทั้งเรื่องความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและการชำระหนี้ แบงก์ชาติพยายามตรวจสอบเพื่อเร่งแก้ปัญหาการโฆษณาสนับสนุนให้คนเป็นหนี้เกินความจำเป็น และระยะถัดไปคืการดูแลเรื่องการชำระหนี้ การปลดหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้
- แบงก์ชาติคาด เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ฟื้นตัวไม่เท่ากัน: นักท่องเที่ยวจีนหายยาวๆ ราว 2 ปี
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา