ตระกูลเดียว ล่มสลายทั้งประเทศ: ถอดบทเรียน ‘ราชปักษา’ บริหารประเทศอย่างไร ให้ล้มเหลวได้ขนาดนี้

กลางดึกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา อดีตผู้นำที่เคยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและพัฒนามากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียใต้ “โกตาบายา ราชปักษา” (Gotabaya Rajapaksa) อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาได้พำนักที่ประเทศไทยแล้วเรียบร้อย ส่วนเรื่องพักที่ไหน พักอย่างไร พักกับใคร เรื่องนี้ยังคงปิดเงียบ เรามาถอดบทเรียนกันดีกว่าว่า ทำไม? ตระกูลเดียวถึงสามารถทำให้ประเทศชาติล่มสลายได้ขนาดนี้

Rajapaksa

ความขัดแย้งที่แบ่งประเทศออกเป็น 2 ขั้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาความแตกแยกแบ่งขั้วนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โดย 2 ขั้วใหญ่นี้แบ่งเป็นชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธที่มีอยู่ราว 74.9% และชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดูราว 11.2%

นับตั้งแต่เป็นประเทศอาณานิคมของชาติจักรวรรดิอังกฤษ ชาวทมิฬก็จะได้รับความนิยมจากผู้ปกครองมากกว่า ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษมากกว่า เชื่อกันว่าชาวสิงหลคือชนชาติที่มีอยู่เดิมและมีประวัติรกรากที่คลุมเครือ ขณะที่ชาวทมิฬนั้นถูกมองว่าเป็นชนชาติที่เข้ามาอยู่ในศรีลังกาหลังชาวทมิฬและเป็นพ่อค้าที่มาจากอินเดีย

ความเป็นอยู่ของชาวทมิฬจะมีลักษณะที่มั่งคั่งรุ่งเรืองกว่าชาวสิงหล บ่อยครั้งที่อังกฤษจะให้ใช้ภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่ชาวทมิฬอาศัยอยู่ ชาวสิงหลอาศัยอยู่ในบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคกลางของประเทศ ขณะที่ชาวทมิฬมักอาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของศรีลังกา

หลังจากที่ศรีลังกากลายเป็นประเทศเอกราชจากอังกฤษ เหตุการณ์สมัยเมื่ออังกฤษปกครองก็เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ชาวสิงหลพยายามทำงานโดยการเข้าไปสู่ระบบการเมืองระดับบนมากขึ้น จนในที่สุดก็ทำให้ชาวสิงหลค่อยๆ มีอำนาจเหนือกว่าชาวทมิฬโดยปริยาย สิ่งที่เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดการพยายามออกกฎหมาย Sinhala Only Act ในปี 1956 ทำให้ภาษาสิงหลกลายเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติของศรีลังกา

ไม่เพียงแค่นั้น ชาวทมิฬยังประสบปัญหาสำหรับการจ้างงานในภาครัฐ การเข้าถึงบริการของรัฐมากขึ้น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาชาวสิงหลก็ได้รับโอกาสมากกว่า มีมาตรการที่เลือกปฏิบัติต่อชาวทมิฬมากกว่า ความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ข้อมูลจากหลายแหล่งจึงถูกมองว่าไม่ได้เกิดจากปมขัดแย้งด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่เป็นปัญหาที่มาจากอำนาจและศักดิ์ศรีระหว่างสองชนชาติ

สงครามกลางเมืองนี้กินเวลายาวนานราว 26 ปีนับตั้งแต่ปี 1983 ถึงปี 2009 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ราว 1 แสนคน (สงครามกลางเมืองยุติยุคประธานาธิบดีมหินทาสมัยแรก ปี 2009) ชาวทมิฬหลายคนต้องลี้ภัย ถูกทรมานและบังคับสูญหาย รัฐบาลศรีลังกายังพยายามสอดแนมกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) มีการวางกำลังทหารในพื้นที่ของชาวทมิฬและจัดให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงสูง

รัฐบาลศรีลังกายังพยายามใช้กระบวนการ Sinhalization ด้วย เช่น พยายามแทรกซึมทางวัฒนธรรมชาวสิงหลในหมู่ประชากรชาวทมิฬ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ถนน อนุสาวรีย์ ตรอกซอกซอยให้กลายเป็นชื่อของชาวสิงหล ค่อยๆ ทำให้ผู้คนลืมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวทมิฬ (ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงชาวอุยกุร์ที่ถูกจีนจับตัวมาปรับทัศนคติหรือพาเข้าค่ายให้เรียนรู้เกี่ยวกับจีนใหม่)

บริหารประเทศผ่านระบบตระกูลใหญ่ ทำให้การเมืองกลายเป็นธุรกิจครอบครัว

ศรีลังกาหรือชื่อเดิมคือ “ซีลอน” ถูกปกครองโดยอังกฤษยาวนานราว 133 ปี (ปี 1815-1948) และได้รับเอกราชในปี 1948 ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติหลังจากนั้นราว 7 ปี มีประชากรราว 22 ล้านคน มีชนชาติหลากหลาย โดยมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือสิงหล ทมิฬ และมุสลิม

ยุคแรก เริ่มต้นที่พี่ชายก่อนเลย Mahinda Rajapaksa (มหินทา ราชปักษา)

มหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) มีพี่น้องรวม 9 คน (พ่อก็เป็นนักการเมืองมาก่อน เป็น ส.ส. เป็นรองโฆษกรัฐสภาและเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและที่ดิน) เข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้พรรค SLFP (Sri Lanka Freedom Party) และได้รับเลือกเป็น ส.ส. ช่วงปี 1970 กลายเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัย 24 ปี จากนั้นจึงได้เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านช่วงปี 2002-2004, ปี 2018-2019

เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ช่วงปี 2004-2005, เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในปี 2018 และเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังช่วงปี 2019-2022 (ครั้งที่ 3 นี้คือช่วงเดียวกับที่น้องชาย โกตาบายา ราชปักษาเป็นประธานาธิบดี)

มหินทาเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย ช่วงปี 2005-2015 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีคลังทั้ง 2 วาระ

บริหารบ้านเมืองให้กลายเป็นธุรกิจครอบครัวอย่างไร?

เมื่อมหินทาเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของศรีลังกา เขาส่งญาติพี่น้องเข้าไปแทรกซึมอยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น แต่งตั้งน้องชาย Gotabaya อดีตทหารเก่าไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม (ประธานาธิบดีคนล่าสุด) และแต่งตั้งน้องชายอีกคน Basil ขึ้นเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่งตั้งลูกชายคนโต Chamal เป็นโฆษกรัฐสภาปี 2010-2015 แต่งตั้งหลาน Shashindra เป็น Chief Minister of Uva ปี 2009-2015 (ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาผู้ว่าการจังหวัด Uva ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของศรีลังกา)

แต่งตั้งหลานอีกคน Jaliya Wickramasuriya เป็นเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และแต่งตั้งหลานอีกคน Udayanga Weeratunga เป็นเอกอัครราชทูตประจำรัสเซีย และยังมีหลาน เครือญาติอีกหลายคนที่ถูกแต่งตั้งให้ไปนั่งเป็นบอร์ดทั้งในนบริษัท ธนาคาร และอื่นๆ

จบยุคมหินทา ต่อด้วยยุคของไมตรีปาละ สิริเสนา (Maitripala Sirisena) ที่มีพรรคฝ่ายค้านร่วมกันผลักดันให้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาทำสำเร็จและปกครองประเทศช่วงปี 2015-2019 (ระหว่างนี้มีมหินทา ราชปักษาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีราว 2 เดือนแต่ถูกประชาชนประท้วงต่อต้านจึงลาออกจากตำแหน่ง)

ไม่ใช่แค่ตระกูลราชปักษาที่เอาครอบครัวเข้ามาช่วยงาน ไมตรีปาละก็ทำเช่นเดียวกัน เช่น ให้พี่ชายเป็นประธานรัฐวิสาหกิจ Sri Lanka Telecom ให้ลูกเขยไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

Gotabaya Rajapaksa
Sri Lanka President Gotabaya Rajapaksa (Photo by Andy Buchanan – Pool/Getty Images)

ยุคปัจจุบัน โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa)

โกตาบายาจบการศึกษาด้านทหารและรับราชการทหารยาวนานราว 20 ปี ช่วงที่พี่ชายหรือมหินทาเป็นประธานาธิบดีควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและกลาโหม เขาก็ได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมยาวนานนับตั้งแต่ปี 2005-2015

เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีปี 2019-2022 เขาก็ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีด้านเทคโนโลยี ระหว่างนี้ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือพี่ชายเขาเอง มหินทา ราชปักษา (สลับและโยกตำแหน่งกันไปมา)

ด้วยการบริหารบ้านเมืองด้วยระบบเครือญาติเช่นนี้เองทำให้ชาวศรีลังกาหันไปทางไหน ก็เห็นแต่คนของตระกูลราชปักษายึดเก้าอี้สำคัญในรัฐบาลหลายตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้ ตระกูลราชปักษาจึงถูกโจมตีว่าบริหารบ้านเมืองเหมือนทำธุรกิจครอบครัว ขณะเดียวกันทั้งมหินทาและโกตาบายาก็มักจะควบตำแหน่งสำคัญไว้กับตัวเองลำพัง ทำให้ยากแก่การตรวจสอบแต่ง่ายต่อการควบคุมประเทศ

เศรษฐกิจย่ำแย่ เน้นใช้งบประมาณ จ่าย จ่าย จ่าย สร้างหนี้ มากกว่าหารายได้ ผลก็คือหนี้ท่วม

ศรีลังกาภายใต้การนำของมหินทาและโกตาบายา ราชปักษา เน้นใช้จ่าย เน้นกู้ยืม มากกว่าหารายได้ เน้นนำเข้ามากกว่าส่งอออก บางอย่างที่พึ่งตัวเองได้ก็ดำเนินนโยบายผิดพลาดจนกลายเป็นต้องพึ่งคนอื่น เช่น การนำเข้าข้าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่อยเหรอลงอย่างมาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างหนัก เทียบจาก 10 กว่าปีก่อนหน้า ปี 2010 GDP เติบโตอยู่ที่ 8.01% หดตัวเหลือ -3.56% ในปี 2020

การบริหารประเทศภายใต้การนำของโกตาบายา (ปี 2019-2022) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เขาก็ดันไปให้คำสัญญากับประชาชนว่า ถ้าได้เป็นผู้นำประเทศจะลดภาษีให้ นโยบายนี้ส่งผลให้รายได้ของศรีลังกาลดลงอย่างมหาศาลราว 25%

หลังจากรัฐบาลศรีลังกาดำเนินนโยบายลดภาษีผิดพลาด นี่จะเป็นสาเหตุให้สุดท้ายเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2022 ต้องประกาศเพิ่ม VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก 8% เป็น 12% มีผลทันทีการเพิ่มอัตรา VAT นี้คาดว่าจะเพิ่มรายได้ราว 180 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.38 พันล้านบาท เพิ่มภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 24% เป็น 30% ในเดือนตุลาคม ปี 2022 คาดว่าจะเพิ่มรายได้ราว 145 เหรียญสหรัฐหรือ 5.1 พันล้านบาท

การจัดทำงบประมาณขาดดุลของศรีลังกานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 9.6% ของ GDP ในปี 2019 เป็น 11.1% ปี 2020 และ 12.2% ปี 2021 หนี้ของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 86.9% ต่อจีดีพีในปี 2019 กลายเป็น 106% ในปี 2020 และเพิ่มอีกเป็น 105.6% ในปี 2021 การดำเนินนโยบายแบบ twin deficits  (การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลัง) ส่งผลให้ศรีลังกาอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกได้ง่าย  ศรีลังกาพึ่งพาหนี้ต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดที่ต้องใช้จ่ายมหาศาลเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาด ศรีลังกาทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างดีมาก จากปี 2016 มีรายได้อยู่ที่ 4.59 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.62 แสนล้านบาท ปี 2017 ทำรายได้ 5.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2018 รายได้ 5.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2019 รายได้ 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2020 ที่มีโควิดเริ่มระบาด รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.08 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.82 หมื่นล้านบาท

ดำเนินนโยบายผิดพลาด เคยพึ่งตัวเองได้ ต้องหันหน้าพึ่งคนอื่นจนกลับมาพึ่งตัวเองไม่ได้

โกตาบายาบังคับให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์หรือ Organic Farming เปลี่ยนประเทศชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแบบฉับพลัน ไม่ใช้วิธีค่อยๆ เปลี่ยน ออกคำสั่งให้แบนการใช้ปุ๋ยเคมีและห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมี ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์นโยบายดังกล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100% อย่างดีที่สุดก็มีประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี ที่ทำออร์แกนิกส์ฟาร์มราว 10-15% เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ หายนะจึงเกิดแก่เกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง จนในที่สุดต้องนำเข้าข้าวในเดือนมิถุนายน ปี 2021 รัฐบาลเริ่มบังคับให้นำเข้าข้าว นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำเกษตรอินทรีย์หรือ Organic Farming ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว 20% และยังมีที่ดินเพื่อการเกษตรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ราว 33% และทำให้ข้าวราคาแพงขึ้น 50% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและทำให้ศรีลังกาต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ อาทิ เมียนมา จีน จนนำไปสู่วิกฤตในการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นอีก

ศรีลังกานำเข้าทั้งข้าว น้ำตาล และสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศอีกหลายประเภท เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินศรีลังกาที่ลดลง 7.3% ในปี 2021 ทำให้ต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อก็สูงขึ้นมาก

ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนพลังงาน ไม่มีก๊าซหุงต้มสำหรับทำอาหาร ไม่มีเงินซื้ออาหาร หลายคนได้ทานอาหารมื้อเดียวในหนึ่งวัน ประชาชนต้องประสบกับภาวะอดอยากหิวโหย เด็กนักเรียนไม่ได้เรียน เพราะขาดแคลนกระดาษ ประชาชนออกมาเรียกร้อง ประท้วงให้ลงจากตำแหน่ง ก็ถูกกดปราบ ทุบตี มีทั้งคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการควบคุมฝูงชนของฝั่งรัฐบาล

แน่นอนว่า ที่สุดแล้ว ประชาชนก็ทนไม่ไหวจนลุกฮือขึ้นประท้วงทั้งประเทศตามที่ปรากฏตามข่าวให้เราได้เห็นกัน และท้ายที่สุดอดีตผู้นำประเทศ อดีตทหารอาชีพ ก็หนีการขับไล่ของประชาชนจากศรีลังกาไปมัลดีฟส์ จากมัลดีฟส์ไปสิงคโปร์และท้ายที่สุดก็พำนักอยู่ในไทยแล้วเรียบร้อย

ที่มา – Harvard International Review, Al Jazeera, Wire, Economic Times, Britainica, Parliament of Sri Lanka, Wikipedia (Mahinda Rajapaksa), (Maithripala Sirisena), (Gotabaya Rajapaksa), ABC News, ORF, World Bank

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา