อย่าคิดว่ารัฐบาลจีนจะจบง่ายๆ กับแจ๊ค หม่า
แม้ว่ารัฐบาลจีนจะจัดการเรื่องการผูกขาดธุรกิจของ Alibaba ด้วยการปรับเงินไปกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท นับเป็นค่าปรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทจีน
แต่ทว่า Alibaba ไม่ได้มีแค่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจการเงิน
อาณาจักรแจ๊ค หม่า ยิ่งใหญ่กว่าที่เรารู้
Alibaba มีธุรกิจทั้งหมด 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
- ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ: นอกจาก Lazada ที่คุ้นเคยกันดีในบ้านเรา อีคอมเมิร์ซในจีนมี Taobao และ Tmall รวมถึง AliExpress อีคอมเมิร์ซที่เชื่อมต่อกับหลายประเทศทั่วโลก
- ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง: Alibaba Cloud ที่ในปัจจุบันเริ่มเข้ามาแย่งตลาดคลาวด์กับยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ครองตลาดมานานอย่าง AWS (Amazon), Azure (Microsoft) และ Google Cloud
- ธุรกิจสื่อและความบันเทิง: สำนักข่าว South China Morning Post, แพลตฟอร์มวิดีโอ YouKu (YouTube เมืองจีน) ฯลฯ
- ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม: Ant Group (ที่โดนเบรก IPO), แอพแชท DingTalk ฯลฯ
อ่านบทความขนาดยาวเพื่อทำความเข้าใจอาณาจักรของ Alibaba
ถัดจากการเงิน-อีคอมเมิร์ซ รัฐบาลจีนเตรียมเล่นงานธุรกิจสื่อของ Alibaba
ช่วงกลางเดือนมีนาคม รายงานของ The Wall Street Journal อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดแต่ไม่ระบุตัวตน เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนขอให้ Alibaba ขายหุ้นในธุรกิจสื่อบางส่วนออกไป โดยไม่ได้ระบุว่าคือธุรกิจสื่ออะไร ประเภทใดกันแน่
คำถามคือ ธุรกิจสื่อที่ Alibaba เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นอยู่ มีอะไรบ้าง
- หนังสือพิมพ์ South China Morning Post: Alibaba ถือหุ้น 100%
- แพลตฟอร์มวิดีโอ YouKu (YouTube เมืองจีน): Alibaba ถือหุ้น 100%
- ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ Alibaba Pictures: Alibaba ถือหุ้น 100%
- แพลตฟอร์ม Social Media ชื่อดัง Weibo: Alibaba ถือหุ้น 30%
- บริษัทข่าวการเงิน Yicai Media Group: Alibaba ถือหุ้น 30%
- บริษัทข่าวไอทีออนไลน์ 36Kr: Ant Group ถือหุ้น 16.2%
- บริษัทข่าวธุรกิจออนไลน์ Huxiu.com: Ant Group ถือหุ้น 14.9%
- แพลตฟอร์มวิดีโอ Bilibili: Alibaba ถือหุ้น 6.7%
- บริษัทโฆษณา Focus Media: Alibaba ถือหุ้น 5.28%
- บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ Mango Excellent Media: Alibaba ถือหุ้น 5.26%
Alibaba เป็นเจ้าของและถือหุ้นสื่อหลากหลายประเภท แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า “สื่อ” ที่รัฐบาลจีนหมายถึงคือ “South China Morning Post”
South China Morning Post คือหนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นในฮ่องกงมาตั้งแต่ค.ศ. 1903 สมัยฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ อายุกิจการยาวนานกว่า 118 ปี
ต่อมาในปี 2015 แจ๊ค หม่าเข้าซื้อกิจการของ South China Morning Post ด้วยมูลค่ากว่า 8,200 ล้านบาท และสัญญากับกองบรรณาธิการว่า จะให้เสรีภาพในการทำสื่ออย่างเต็มที่ ไม่มีอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่มาครอบงำ แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่เกิดการเข้าซื้อกิจการ มีการตั้งคำถามว่า ถึงที่สุดแล้ว South China Morning Post ก็จะมีหน้าที่ในการนำเสนอ Soft Power และปรับโฉมหน้าของจีนให้ดูดีขึ้นในสายตาชาวโลก
แต่จนถึงวันนี้ทั้ง Alibaba และสื่อในมืออย่าง South China Morning Post แม้จะโดนแรงบีบคั้นจากรัฐบาลจีน แต่ก็ยังคงปกติดี ประเด็นการกดดันให้ขายหุ้นยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ
ด้วยอาจจะเป็นเพราะว่า South China Morning Post อยู่ในสายตาของชาวโลก ก็เป็นได้
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูปลายปี 2020 เหตุการณ์เกิดในจีน โดย Huxiu บริษัทข่าวธุรกิจออนไลน์ที่ Ant Group มีหุ้นอยู่ในนั้นได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนถึงการที่หุ้น IPO ของ Ant Group ถูกสั่งเบรกว่า “การกระทำนี้เป็นการหยุดยั้งไม่ให้บริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนเติบโต และเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจจีน”
ไม่นานหลังจากนั้น บทความชิ้นดังกล่าวของ Huxiu ก็ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ ที่หนักกว่านั้นคือเว็บไซต์ของ Huxiu ไม่มีคอนเทนต์ใหม่ตีพิมพ์และเผยแพร่ร่วมเดือน มีประกาศแจ้งผู้อ่านเพียงว่า “enter maintenance mode” หรือหยุดพักชั่วคราวเพื่อเข้าโหมดซ่อมบำรุง
หรืออีกหนึ่งกรณี ช่วงปลายปี 2020 ในโซเชียลมีเดียจีน Weibo ที่ Alibaba ถือหุ้นอยู่ ถูกสั่งลบโพสต์และการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์ม เนื่องจากมีเนื้อหาที่ซุบซิบถึงผู้บริหารระดับสูงของ Alibaba
ทั้งกรณี Huxiu และ Weibo ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นคนสั่งให้เซ็นเซอร์เนื้อหาข้อมูล แค่คาดว่าน่าจะเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองของ Alibaba เนื่องจากมีหุ้นอยู่ในทั้ง 2 บริษัท
ไม่มีใครใหญ่กว่ารัฐบาลจีน
ประเด็นเรื่องอิทธิพลทางความคิดสำคัญมากในจีน
ในแต่ละปี รัฐบาลจีนทุ่มเงินหลายพันล้านเพื่อควบคุมความเห็นสาธารณะ (public opinion) โดยทำโครงการสอดส่องประชาชน ผ่านระบบความปลอดภัย เครื่องมือเซ็นเซอร์ และตำรวจไซเบอร์
ในปี 2018 มูลนิธิ Jamestown สถาบันวิจัยของสหรัฐอเมริกาประเมินว่า รัฐบาลจีนใช้เงินประมาณ 1.24 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยเกือบ 6 ล้านล้านบาท (เทียบได้กับงบประมาณแผ่นดินไทย 2 ปีรวมกัน) เพื่อทำโปรแกรมสอดส่องประชาชน (surveillance) อย่างเป็นระบบ
หรือแม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ข่าวการหายตัวไปจากหน้าสื่อและพื้นที่สาธารณะของแจ๊ค หม่า ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในการรายงานข่าวสารในจีน ทางการจีนบอกว่า หากสื่อมวลชนรายใดในประเทศจะรายงานประเด็นข่าวเรื่องการสืบสวนสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีจีนในการผูกขาดตลาด และรวมไปถึงเรื่องของแจ๊ค หม่า จะต้องทำการขออนุญาตจากทางรัฐบาลจีนเสียก่อน
Brand Inside TALK เคยวิเคราะห์ถึงประเด็นการหายตัวไปของแจ๊ค หม่า โดยชี้ว่า “เป็นประเด็นทางการเมือง”
ไม่นานมานี้ ต้นปี 2021 โรงเรียนสอนธุรกิจ Jack Ma Academy ถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามรับนักเรียนใหม่ ซึ่งแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าเป็นเพราะรัฐบาลจีนมองว่า มหาวิทยาลัยของแจ๊ค หม่าอาจไม่ได้สอนสิ่งที่เป็นไปตามแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน “ซึ่งนั่นถือเป็นข้อต้องห้าม”
สรุป
จากข่าวแจ๊ค หม่าหายตัว การสั่งเบรกธุรกิจการเงินของ Ant Group การกำกับและสั่งปรับ Alibaba ในข้อหาผูกขาดตลาด มาจนถึงประเด็นเรื่องธุรกิจสื่อ ทั้งหมดนี้คือสัญญาณจากรัฐบาลจีนที่ชัดเจนว่า
ในผืนแผ่นดินจีน ใครมีสิทธิในการพูด ใครมีสิทธิในการควบคุมความคิดสาธารณะ
สิทธินั้นเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่เพียงผู้เดียว
อ้างอิง – WSJ, Bloomberg, Nikkei Asia, NYT, Techcrunch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา