เดอะมอลล์ มองค้าปลีกปี 2025 ยังยาก หวังยอดขายสาขาเดิมโต 5-10% รอ แบงค็อก มอลล์ เปิดสิ้นปี 2027

ค้าปลีกในไทยปี 2025 ยังลำบาก กลุ่มเดอะมอลล์ ชี้ปัจจัยลบเรื่องเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน โลกแบ่งเป็นสองขั้ว ลุ้นนักท่องเที่ยวกลับมาจับจ่ายมากขึ้น หวังยอดขายจากสาขาเดิม (Same Store Growth) เติบโตราว 5-10% เร่งสร้าง แบงค็อก มอลล์ ให้เปิดได้ในช่วงสิ้นปี 2027

เดอะมอลล์

ค้าปลีกเหนื่อย นักท่องเที่ยวจับจ่ายไม่เท่าเดิม

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เล่าให้ฟังว่า หลังจากปี 2024 อุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย และความไม่แน่นอน แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่พวกเขาไม่ได้จับจ่ายในอัตราเดียวกันกับในอดีต

“คนจีนก็ยังเยอะอยู่ แต่การใช้จ่ายต่อคนมันลดลงราว 10% อาจเพราะรัฐบาลเขาโปรโมตเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศ และอาจจะอยากเก็บเงินไว้ก่อนเพราะช่วงนี้เศรษฐกิจที่นั่นก็ไม่ค่อยดี ส่วนชาติอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย, อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ก็ยังเข้ามาจับจ่ายกันอยู่ เพราะค่าเงินบาทค่อนข้างอ่อน”

ทั้งนี้กลุ่มเดอะมอลล์ยังมีลูกค้านักท่องเที่ยวชาวเอเชียเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะจีน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม, กัมพูชา และลาว แต่ตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งกระแสดังกล่าวยังจะเกิดขึ้นในปี 2025 รวมถึงเรื่องการต้องอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น เพราะยังมีโอกาสที่พวกเขาจะจับจ่ายต่อคนน้อยลง

“นิยามปี 2024 คือ สู้ ขยัน อดทน เหนื่อย แต่ก็ยังพอไหว และเหนื่อยพอ ๆ กับปีที่แล้ว ที่เหนื่อยคือเราต้องทำเยอะขึ้นเพื่อได้ผลลัพธ์เท่าเดิม เพราะกำลังซื้อทั่วโลกไม่ค่อยดีนัก ประเทศไทยเราอิงกับนักท่องเที่ยวด้วย ถ้าทั่วโลกไม่ดี ไทยก็เหนื่อย”

โชคดีที่ทุกแบรนด์อยากมาเจาะตลาดไทย

อย่างไรก็ตามถึงนักท่องเที่ยวจะกลับมาแต่มีการจับจ่ายต่อคนน้อยลง ฝั่งแบรนด์สินค้าต่าง ๆ มีความสนใจที่จะมาบุกตลาดไทยมากขึ้น อาจเพราะข้อจำกัดในตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หรือสหรัฐอเมริกาที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สังเกตจากแบรนด์หรูต่าง ๆ มีการทำตลาดในไทยมากกว่าเดิม

แต่หากมองทั้งปี 2025 ความชัดเจนเรื่องตลาดค้าปลีกในไทยอาจต้องรอช่วงไตรมาส 2 เพราะเวลานั้นจะมีความชัดเจนในแง่นโยบายต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ รวมถึงอาจจะมีการแบ่งโลกเป็นสองขั้วอย่างเข้มข้นกว่าเดิมด้วย

“เราคงบาลานซ์เพื่อให้อยู่ทั้งสองขั้วให้ได้เพื่อความอยู่รอด” วรลักษณ์ กล่าว พร้อมให้มุมมองค้าปลีกในไทยว่า ปี 2025 จะยังอึมครึม ผ่านความไม่ชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ทำให้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ราว 5-10% โดยอัตราการเติบโตดังกล่าวคือตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นของสาขาเดิม หรือ Same Store Growth เพราะไม่มีการเปิดสาขาใหม่

ส่วนปี 2024 การเกิดการจับจ่ายในช่วงปลายปี 2024 โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 1-20 ธ.ค. เพื่อซื้อของกลับไปฝากที่บ้านในต่างจังหวัด และการซื้อของเตรียมไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นส่วนที่ทำให้ปี 2024 ทางกลุ่มเดอะมอลล์มียอดขายเติบโตมากกว่า 10%

โตได้เพราะคุมค่าใช้จ่าย และไปเน้น แบงค็อก มอลล์

ในทางกลับกัน การเติบโตของกลุ่มเดอะมอลล์ไม่ได้มาจากยอดขายเท่านั้น แต่มาจากการบริหารค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากขึ้น โดย วรลักษณ์ ให้เหตุผลว่า เมื่อเติบโตใน Top Line (รายได้) ได้ลำบาก การไปจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าก็ช่วยได้มาก

“ค่าใช้จ่ายตัวนี้จริง ๆ เราก็คุมเองได้ แต่มันก็มีบางส่วนที่ขึ้นอยู่กับคู่แข่งเหมือนกัน เพราะถ้าเขามีการลงทุนเรื่องการตลาดเยอะ เราก็คงต้องใช้มากขึ้น แต่เป็นการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” วรลักษณ์ กล่าว โดยในปี 2024 กลุ่มเดอะมอลล์มีการจัดงานอีเวนต์ตามสาขาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

Brand Inside พบว่า ช่วงสิ้นปีมีการจัดงาน Pre Countdown ในสาขาพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมามีการจัดงานนับถอยหลังเพิ่มเติม อาจจะต่างกับค้าปลีกรายอื่นที่แข่งขันกันชิงพื้นที่เคานต์ดาวน์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละแห่งมีการลงทุนค่อนข้างสูง

สุดท้ายนี้ วรลักษณ์ แจ้งว่า ในปี 2025 บริษัทจะให้ความสำคัญกับ แบงค็อก มอลล์ โครงการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ย่านบางนา รวมพื้นที่กว่า 8 แสน ตร.ม. เพื่อให้เปิดให้บริการได้ทันภายในสิ้นปี 2027 ซึ่งเวลานี้คู่ค้าค่อนข้างให้ผลตอบรับที่ดี และถึงย่านนั้นจะมีคู่แข่งเยอะ แต่ด้วยที่ตั้งที่อยู่บริเวณแยกบางนา จึงเป็นค้าปลีกที่ถึงก่อนในพื้นที่ดังกล่าว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา