The Lost Decade
คำเรียกที่คุ้นเคยและมืดมนที่สุดสำหรับคำนิยามทางเศรษฐกิจจากประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้มันกำลังคืบคลานมายังประเทศไทยแล้ว..
อย่างที่เราอาจจะคุ้นหู คุ้นตามาบ้าง เมื่อพูดถึงคำว่า The Lost Decade ที่อธิบายการหายไป สาบสูญไปของญี่ปุ่นในช่วงหนึ่งซึ่งก็คือช่วงทศวรรษ 1990 นั่นเอง รายงานจาก SCB EIC ได้อธิบายถึงลักษณะสำคัญของเรื่องนี้ไว้ 2 ข้อ
เรื่องแรก: เศรษฐกิจโตต่ำติดต่อกันระยะเวลานาน
เรื่องที่สอง: คนญี่ปุ่นเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิม
คนญี่ปุ่นจึงเก็บออมและใช้จ่ายน้อยลง ทำให้เข้าสู่ทศวรรษที่สูญหายหลังเกิดวิกฤตฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ ส่งผลต่องบดุลครัวเรือน ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่สูญหายยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่มีวิกฤตโควิด-19 กับช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภาวะฟองสบู่เริ่มแตก พบว่า มูลค่าของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีลักษณะเดียวกัน และต่างก็ไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปยังแนวโน้มก่อนวิกฤตได้เลย
ทศวรรษที่รุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ทศวรรษที่รุ่งเรืองของญี่ปุ่นคือช่วงปี 1961-1970 เศรษฐกิจขยายตัวแบบก้าวกระโดด เติบโตตามผลิตภาพ เป็นผลมาจากรัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก
- มีทั้งการนำเข้าและปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ
- มีทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและควบคุมการผลิต
- ช่วงเวลานี้มีการลงทุนเติบโตถึง 15.1% โดยเฉลี่ยต่อปี
- ผลิตภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตถึง 3.8% ต่อปี
- เศรษฐกิจโตเร็ว
- เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากจากการทำความตกลง Plaza Accord ช่วงปี 1985
- ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้น จูงใจให้เอกชนมาก่อหนี้ลงทุนในอสังหาฯ ญี่ปุ่น
- ตัวเลขสินเชื่อขยายตัว 11.7% ต่อปี
ทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น
ผลสืบเนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นกังวลฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.5% ใน Q1 ปี 1989 อยู่ที่ 9.0% ใน Q3 ปี 1990 แม้เจตนาดี แต่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วเกินไปทำให้..ฟองสบู่สินทรัพย์แตก
- เมื่อราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างรุนแรง
- สถานะทางการเงินของภาคเอกชนญี่ปุ่นก็ทรุดตามไปด้วย
- กระทบความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศ ยอดขาย และค่าแรง
- อัตราการเติบโตของค่าจ้างชะลอลง
- อัตราเงินเฟ้อชะลอลง
- เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฝืดเคือง
- ส่งผลให้สภาพการเงินของญี่ปุ่นทรุดโทรม กลายเป็นหนี้เสีย
- สถาบันไม่สามารถให้สินเชื่อใหม่ได้
- เมื่อปฏิเสธการให้สินเชื่อ ภาคเอกชนก็เข้าไม่ถึงสภาพคล่อง
- ไม่มีเงินลงทุนเพิ่มผลิตภาพ การลงทุนจึงซบเซา
- ผลิตภาพลดลง ยิ่งการเงินทรุดโทรม คนก็ยิ่งเก็บออม
- ยิ่งกระทบความต้องการซื้อภายในประเทศ
- ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ ทศวรรษที่สูญหาย
ทศวรรษที่สูญหายของไทย
เศรษฐกิจไทยโตช้าตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 สิ้นปี 2023 ฟื้นตัวเป็นอันดับที่ 162 จาก 189 ประเทศที่สำรวจ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.5% – 3.0% ในปี 2024 (จากที่เคยเติบโต 5.4% ในช่วงปี 2002-2006 และโต 3.1% ช่วงปี 2012-2018)
เมื่อทาบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษที่สูญหายกับเศรษฐกิจไทยช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด พบว่า เศรษฐกิจไทยแสดงอาการคล้ายเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากจนน่าวิตก
ผลิตภาพแรงงานของไทยหยุดเติบโต จากที่โตช้าอยู่แล้ว
สถาบันการเงินไทยเผชิญต้นทุนเครดิตที่สูงขึ้น นับตั้งแต่ที่ภาครัฐลดความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ทำให้สถาบันการเงินไทยไม่สามารถให้สินเชื่อใหม่ได้
ครัวเรือนไทยเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายกว่า 41% ของครัวเรือนไทยทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่เคยอยู่ที่ 32% และพบว่าครัวเรือนรายได้ปานกลางเริ่มเจอปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากขึ้น จากเดิมก็เป็นครัวเรือนรายได้น้อย
ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นราว 5% ระหว่างปี 2021-2023
EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหายแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นบอกให้รู้ว่า เราอาจต้องตกอยู่ในทศวรรษที่สูญหายยาวนานกว่า 30 ปีหรือจนกว่าจะถึงปี 2050
ไทยกำลังตามรอยญี่ปุ่นในการตกอยู่ในห้วงทศวรรษที่สูญหาย แต่ญี่ปุ่นกำลังหลุดพ้นจากห้วงนี้
ญี่ปุ่นจะหลุดพ้นได้อย่างไร?
พื้นฐานที่ดี ข้อที่ 1
ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมีกลยุทธ์ เดือนพฤษภาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประกาศใช้ The Economic Security Promotion Act ที่ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก ดังนี้
- เสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตสำหรับสินค้าและวัตถุดิบสำคัญ
- พัฒนาบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- เร่งกระบวนการพัฒนาและนำเทคโนโลยีการผลิตมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านความร่วมมือรัฐและเอกชน
- ส่งเสริมสิทธิบัตรที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ที่เป็นความลับทางการค้า
พื้นฐานที่ดี ข้อที่ 2
ญี่ปุ่นสร้างโอกาสฟื้นตัวจากทศวรรษที่สูญหาย สอดประสานนโยบายการเงินการคลัง พยายามรักษาสมดุลระหว่างการใช้เงินงบประมาณเพื่อประตุ้นเศรษฐกิจ บริหารหนี้สาธารณะ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อเนื่อง ยาวนาน ช่วยดูแลสถานะการเงินของประชาชนในยามที่เศรษฐกิจเผชิญปัจจัยลบและความไม่แน่นอน ผ่อนปรนให้ธุรกิจเข้าถึงทุน ที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นในการลงทุนเพื่อคว้าโอกาสตามที่กล่าวมา
หากเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหายจริง ผู้ดำเนินนโยบายต้องเร่งร่วมมือกัน เพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจให้ไม่ต้องติดหล่มอยู่กับทศวรรษที่สูญหายถึง 3 ทศวรรษ
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา