เศรษฐีโลกเริ่มเปลี่ยน เศรษฐีไทยยังต้องการให้ลูกหลานสืบทอด แต่รอดถึงรุ่น 4 แค่ 3%

‘ความมั่งคั่ง’ คือ มรดกล้ำค่าที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ในอีก 6 ปีข้างหน้าโลกจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘The Great Wealth Transfer’ หรือการส่งต่อความมั่งคั่งหรือการส่งต่อมรดกครั้งยิ่งใหญ่ของโลก

  • ในปี 2573 โลกจะมีการส่งต่อมรดกกว่า 662 ล้านล้านบาทไทย
  • ในปี 2573 เอเชียจะมีการส่งต่อมรดกกว่า 90 ล้านล้านบาทไทย

สืบทอดธุรกิจครอบครัวไม่ง่าย รอดถึงรุ่น 4 แค่ 3%

แต่จริงๆ แล้วการส่งต่อมรดกที่หมายรวมถึงแหล่งสร้างความมั่งคั่งอย่าง ‘ธุรกิจครอบครัว’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลการศึกษาบอกว่า ‘ธุรกิจครอบครัว’ มักจะอยู่รอดถึงรุ่น 2 แค่ 30% อยู่รอดถึงรุ่น 3 แค่ 12% และรอดถึงรุ่น 4 แค่ 3% เท่านั้น

เพราะเดี๋ยวนี้มีทายาทจำนวนมากที่ไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ต้องการอิสระในชีวิต อยากทำอาชีพที่ชอบ หรือไปทำธุรกิจที่สนใจ หลายๆ ครอบครัวเลยต้องหาทางออกอื่นๆ

อย่างเช่นจ้าง ผู้บริหารมืออาชีพ มาช่วยแทนการใช้สมาชิกครอบครัวบริหารธุรกิจ ส่วนครอบครัวที่ทายาทต้องการสืบทอดธุรกิจเองก็จะมีความอ่อนไหวในกระบวนการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอยู่ดี โดยเฉพาะหลังจากรุ่น 2 เป็นต้นไป

นอกจากการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ปัจจัยจากตัวธุรกิจ เองก็มีผลทำให้ธุรกิจครอบครัวล่มสลายลงได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดการที่ไม่เป็นระบบ ปัญหาความโปร่งใส ระบบการตรวจสอบหละหลวม จนเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อโกง ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ขาดบุคลากรที่มีความสามารถ ขาดการวางแผนสืบทอดธุรกิจ และกระบวนการคัดเลือกผู้บริหาร ฯลฯ

เศรษฐีเอเชียเริ่มเปลี่ยนแล้ว เศรษฐีไทยยังอยากให้ลูกหลานสืบทอดอยู่

‘พีระพัฒน์ เหรียญประยูร’ Managing Director – Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า ตอนนี้ เศรษฐีเอเชีย อย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนความคิดในการส่งต่อธุรกิจให้ลูกหลาน เพราะอยากให้ลูกหลานมีอิสระในการเลือกอาชีพที่สนใจ และจริงๆ แล้วลูกหลานอาจจะไม่ได้บริหารงานได้ดีเท่ามืออาชีพ

‘พีระพัฒน์ เหรียญประยูร’ Managing Director – Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงที่ผ่านมาหลายๆ ครอบครัวจึงเริ่มมีแนวคิดแบบเดียวกับครอบครัวสินทรัพย์สูงในยุโรปที่อยากให้ลูกหลานเป็นแค่ ‘ผู้ถือหุ้นที่ดี’ ของบริษัท คือ สามารถอ่านงบได้ เข้าใจระบบบัญชี ทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นที่ดี แล้วอยากไปทำอาชีพอะไรก็ทำ คือมีชีวิตแบบ worry free และมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ทำให้หลายๆ บ้านที่มีธุรกิจครอบครัวเลยเริ่มหันไปใช้ บริการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวและกงสี มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวเป็นระบบและดึงมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการแทน จน จำนวนบริษัทบริการสินทรัพย์ของครอบครัวและกงสีในเอเชียจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยกลายเป็นหลักพันแห่ง

แต่ในทางตรงกันข้าม เศรษฐีไทย ยังอยากให้ลูกหลานรับช่วงต่อธุรกิจอยู่ โดยหลายๆ บ้านยังอยากให้ลูกหลานทำหน้าที่ CEO เพื่อบริหารจัดการกุมบังเหียนธุรกิจเอง

กว่าครึ่งอยากจะเข้า ‘ตลาดหุ้น’ เพราะต้องการจบปัญหาในบ้าน

โดยพบว่า กว่าครึ่งของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในไทยนั้นอยากจะเข้า ‘ตลาดหุ้น’ เพราะต้องการให้กระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยจบปัญหาในบ้าน แก้ความไม่เป็นระบบในครอบครัว เพราะได้ทำกติกาครอบครัวและออกแบบระบบบริษัทใหม่

ปัญหาส่วนใหญ่ของธุรกิจครอบครัวที่ยังอยู่นอกตลาด คือ ธุรกิจไม่เป็นระบบ ไม่มีแผนสืบทอดธุรกิจ และไม่มีแนวทางสำหรับอนาคต ทำให้ธุรกิจอ่อนแอและตายไประหว่างการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“หลายบ้านไม่ได้สื่อสารเลยว่าจะเอายังไงต่อกับธุรกิจของครอบครัว ลูกหลานคนไหนจะมีอำนาจยังไง ดูแลตรงไหน ต่อให้พ่ออยู่ถึงอายุ 90 ปีก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหนต่อ” โดย ‘พีระพัฒน์’ อธิบายว่า ธุรกิจครอบครัวมักเน้นขยายธุรกิจหรือทำธุรกิจให้รอด มากกว่าระบบหลังบ้าน

KBank เสนอบริการใหม่ ช่วยให้สืบทอดธุรกิจครอบครัวง่ายขึ้น

KBank Private Banking มองว่า ธุรกิจครอบครัว มีความจำเป็นในการวางแผนและจัดโครงสร้างปรับธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบจึงมีความสำคัญ เพื่อรักษาธุรกิจครอบครัวให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และส่งต่อธุรกิจได้อย่างราบรื่น จึงมีบริการใหม่อย่าง บริการ Family Business Transformation

เป็นบริการใหม่ภายใต้บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Services) โดย KBank Private Banking เน้นให้คำปรึกษาเพื่อการวางแผนธุรกิจครอบครัวที่ดีควบคู่ไปกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัวด้วย ครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่

  1. ช่วยครอบครัวในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน วางนโยบายและกติกาภายในครอบครัว
  2. ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัว และให้ข้อเสนอแนะในการจัดธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบในด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้าง ระบบบัญชี ระบบการตรวจสอบภายใน การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
  3. วางแผนการเตรียมพร้อมทายาท แผนการสืบทอดธุรกิจ

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา