ธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างเป็นที่พูดถึงในตอนนี้ หลังการค้าบนโลกออนไลน์เข้ามาแย่งกำลังซื้อไปมาก ทำให้เกิดการตื่นตัวของค้าปลีกดั้งเดิมหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ The Mall ที่เริ่มปรับตัว แม้จะตามเพื่อนร่วมธุรกิจรายอื่นไปบ้าง
ยอมรับว่ากลัว แต่คือความท้าทายใหม่
ด้วยข่าวทั่วโลกที่นำเสนอฝั่ง Ecommerce นั้นเติบโตเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็น Alibaba ที่ขยายอาณาจักรไปทั่วโลก หรือ Amazon เองก็เพิ่งซื้อกิจการ Whole Foods Market เพื่อรุกตลาดออฟไลน์ ส่วนฝั่งค้าปลีกดั้งเดิมกลับมีแต่เรื่อง Retail Apocalypse ทั้งยอดขายที่ตกลง รวมถึงการทยอยปิดสาขา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
และเรื่องดังกล่าวก็ส่งสัญญาณมาถึงกลุ่ม The Mall โดย ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็ยอมรับตรงๆ ว่า เมื่อได้ยินข่าวเรื่องนี้ก็ค่อนข้างกังวล และกลัวมาก เพราะมันคือเรื่องที่ค้าปลีกดั้งเดิมต้องผ่านไปให้ได้ แต่อีกแง่หนึ่งก็คือความท้าทายใหม่ของธุรกิจ
“ส่วนตัวเชื่อว่า Brick and Mortar ไม่ได้หายไปไหน รวมถึงพนักงานที่เป็นก็ยังทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้าได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนหากกลุ่ม The Mall อยากก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้ก็คือ การใส่ Innovation ใหม่ๆ เข้ามา รวมถึงต้องพยายามเป็นศูนย์รวมประสบการณ์ และความรื่นรมณ์ ที่ทำผ่านมนุษย์ด้วยกัน เพราะคนสำคัญที่สุด”
The Future of Retail คือแผนที่ต้องไป
สำหรับกลุ่ม The Mall มีแผนที่จะก้าวข้าม Retail Apocalypse ด้วยแนวคิด The Future of Retail ซึ่งทำมาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการติดตั้งเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Cashless Society เช่น Samsung Pay, Alipay และ WechatPay ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อรับชำระด้วย QR Code ของ Promt Pay ได้
โดยการชำระ QR Code จะทำในตัว Gourmet Market และ Food Hall รวมถึงร้านขายที่ขายอาหารแบบ Take Home ได้ทุกสาขา โดยเฉพาะตัว Gourmet Market จะมีช่องรับชำระเงินอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอชำระเงิน นอกจากนี้ยังลงทุนติดตั้งตู้ทำเรื่องคืนภาษีให้กับชาวต่างชาติ และลูกค้าคนไทยที่ต้องใช้ในช่วงปลายปีด้วย
อย่างไรก็ตาม “คน” คือเรื่องที่กลุ่ม The Mall จะเก็บไว้ ไม่ได้นำหุ่นยนต์มาทดแทนทั้งหมดเพื่อก้าวไปตามแผน The Future of Retail เพราะเชื่อว่าคนยังต้องการคุยกับคนอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมในประเทศไทยก็ยังชื่นชอบความเป็นสังคม ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเหมือนบางประเทศ ถ้าเป็นเป็นแบบนั้นคงสมเหตุผลที่หุ่นยนต์จะบูม และ Ecommerce โต
ปีหน้าคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“คนไทยชอบอยู่เป็นสังคม ไม่เหมือนชาวสแกนดิเนเวียนที่ใข้ชีวิตโดดเดี่ยว และชินไปกับมัน ดังนั้นนั้นหุ่นยนต์คงตอบโจทย์ แต่ที่ไทยมันไม่ใช่ และตอนนี้บางประเทศ Ecommerce ก็ยังไม่บูม เช่นญี่ปุ่น กับสเปน และยิ่งเราแข่งราคาบนโลกออนไลน์เท่าไร ก็เหมือนยก Hypermarket ขึ้นไปไว้บนนั้น และไม่ให้ประสบการณ์ใหม่ ซึ่งมันคงไม่ใช่”
ทั้งนี้ปี 2561 คือปีที่สำคัญของกลุ่ม The Mall เพราะนอกจากปีนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ชัดขึ้น ทางกลุ่ม The Mall ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการปรับปรุงสาขาเดิมๆ และปั้นให้สาขาในต่างจังหวัดมีนวัตกรรมมากขึ้น
ส่วนปลายปีนี้ยักษ์ค้าปลีกของประเทศไทยรายนี้มองว่าน่าจะดีขึ้น เพราะมีโครงการช้อปช่วยชาติเข้ามากระตุ้นยอดขาย หลังจาก 10 เดือนที่ผ่านมาการใช้จ่ายของประชากรในประเทศค่อนข้างซบเซา แต่ได้ยอดซื้อจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาช่วย ทำให้โดยรวมยังดูคึกคัก
สรุป
ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่ม The Mall ก็ว่าได้ หลังจากปล่อยให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมก้าวล้ำในเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ไปเยอะ โดยเฉพาะในมุม Omni Channel ซึ่งทางกลุ่ม The Mall ยังขาดอยู่ และแม้จะบอกว่าอยากให้วัฒนธรรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานพร้อมก่อน แต่นั่นคงเป็นเรื่องที่กลุ่ม The Mall ต้องลงทุนเองแล้ว มิฉะนั้นก็คงตกขบวนอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนเรื่องการเข้าระดมทุนนั้น ศุภลักษณ์ เสริมว่า “การเข้าตลาดไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราอยากจะเติบโตอย่างยั่งยืน และ New Exprerience คือตัวแปรของเรื่องนี้ ที่สำคัญเรามีเงินเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เราต้องเข้า แต่การปรับโครงสร้างนั้นเราแค่เตรียมการเฉยๆ เพราะเมื่อก่อนคิดไม่ออกก็ไปเข้าตลาด ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายของเราเลย”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา