หลังจากที่ Grab เข้าซื้อกิจการของ Uber ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Grab ประเทศไทยได้ออกมาแถลงถึงวิสัยทัศน์และอนาคตของธุรกิจ
ก่อนอื่น สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรกคือ ปัจจุบัน Grab มีธุรกิจหลักทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- Grab บริการเรียกรถสำหรับเดินทางที่คุ้นเคยกันดี
- Grab Delivery บริการรับส่งของและอาหาร (GrabFood เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันนี้ 5 พฤษภาคม 2018)
- GrabPay บริการทางการเงิน
Grab: ภาพรวมธุรกิจหลังเข้าซื้อ Uber เป็นไปด้วยดี
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่คนใหม่ของ Grab ประเทศไทยที่มานั่งเก้าอี้นี้ได้ประมาณ 4-5 เดือน ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และความร่วมมือกับภาครัฐของ Lazada ในเครือ Alibaba
ธรินทร์ เล่าให้ฟังหลังจากที่ Grab เข้าซื้อ Uber ว่า “ภาพรวมหลังการเข้าซื้อกิจการเป็นไปด้วยดี ในด้านคนขับทำงานง่ายขึ้น ส่วนในบอร์ดของผู้บริหารก็ปกติดี”
- ส่วนความกังวลหลังการเข้าซื้อกิจการ คำถามใหญ่คือ Grab จะผูกขาดตลาดเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นหรือไม่นั้น
หัวเรือใหญ่ของ Grab ประเทศไทย มองว่า “การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ใช่การผูกขาดตลาด เพราะผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการเดินทางอื่นๆ อยู่อีกมาก”
ธรินทร์ บอกว่า Grab เริ่มต้นธุรกิจจากธุรกิจเดินทางที่เชื่อมต่อคนจากจุดหนึ่งไปยังจุดนึ่ง แต่หลังจากนี้ต่อไป Grab จะเป็นแอพพลิเคชั่นในอนาคตสำหรับทุกวันของผู้บริโภค โดยจะเชื่อมต่อผู้คนด้วยธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจเดินทาง นั่นคือธุรกิจรับส่งของ-อาหาร และธุรกิจบริการทางการเงิน
Grab Delivery: บุกธุรกิจส่งอาหาร GrabFood อย่างเป็นทางการ
อันที่จริงแล้ว GrabFood ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2017
ธรินทร์ ย้ำว่า บริการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเติบโตสูงถึง 440% ส่วนร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Grab ปัจจุบันมี 4,000 แห่ง แบ่งได้ดังนี้
- ในส่วนของ Grab มีพาร์ทเนอร์ร้านค้าอยู่ 3,000 แห่ง
- หลังจากเข้าซื้อ Uber ทำให้ Uber Eats ที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ประมาณ 1,000 แห่ง รวมเข้ากับ Grab
- ปัจจุบันจึงทำให้ Grab มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารใน GrabFood ถึง 4,000 ราย
สำหรับการแข่งขันในตลาดส่งอาหารเดลิเวอรี่ Grab ประเทศไทยบอกเลยว่า “เรามีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก เพราะตั้งแต่เปิดให้บริการ soft launch มา 4-5 เดือน เราไม่คิดค่าบริการในการส่งใดๆ เลย อย่างที่เห็นเรายังอยู่ได้ ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดได้หายไปแล้ว แต่ทีนี้ข้อจำกัดของเราในตอนนี้ คือลูกค้าสั่งอาหารได้ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราจะขยายบริการเพิ่มไปอีกอย่างแน่นอนหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้”
GrabPay: “ถ้ากู้เงินธนาคารไม่ได้ ให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา”
ธุรกิจในส่วนบริการทางการเงิน Grab ได้พยายามเข้ามาเล่นอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ข้อกำหนด-กฎหมาย
ปัจจุบัน GrabPay ยังทำได้เพียงแค่เป็นบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตเท่านั้น โดยในประเทศไทยได้จับมือกับพันธมิตรการเงินทั้งหมด 9 ราย
แต่จุดประสงค์ของ Grab คือความต้องการก้าวไปสู่บริการทางการเงินแบบ e-wallet (ปัจจุบันใช้ได้เพียงในสิงคโปร์เท่านั้น) และจะได้ต่อยอดไปสู่ ธุรกิจปล่อยเงินกู้ กับพาร์ทเนอร์ของตัวเองในที่สุด
ธรินทร์ ระบุว่า ตอนนี้ Grab กำลังทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ GrabPay สามารถใช้งานเป็น e-wallet ได้ เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตของบริษัท
- หนึ่งในคำพูดของหัวเรือใหญ่ Grab คือการบอกว่า “ต่อไปถ้าคุณกู้เงินธนาคารไม่ได้ ขอให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา”
มองไปในอนาคต หาก GrabPay สามารถใช้เป็น e-wallet ได้ จะทำให้ Grab สามารถติดตามยอดรายรับ-รายจ่ายของพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะคนขับรถทั้งหมดของ Grab ได้ว่ามีสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร จุดนี้ทำให้ Grab จะสามารถปล่อยเงินกู้กับพาร์ทเนอร์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับพาร์ทเนอร์ของ Grab ยังคงติดปัญหาด้านข้อกำหนด-กฎหมายอยู่ในหลายประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีบริการนี้ในประเทศใดเลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการอยู่
สรุป
โดยสรุปแล้วก็คือ ภาพรวมธุรกิจหลักของ Grab ยังคงเป็นเรื่องธุรกิจการเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ในปีนี้สำหรับ Grab ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ 2 เรื่องคือ การขยายธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่ตลาดมีการแข่งขันสูงมาก และอีกอย่างคือการทำธุรกิจให้บริการทางการเงินซึ่งยังคงติดในข้อกำหนด-กฎหมายอยู่หลายส่วน แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ที่ อนาคตที่ Grab กำลังเดินไปคือการตอบโจทย์ใหญ่ของ Grab นั่นคือการเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับอนาคตในทุกๆ วันของผู้บริโภค
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา